Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หยิบโมมาเล่า
•
ติดตาม
14 ม.ค. 2021 เวลา 12:58 • ประวัติศาสตร์
Ep4 : 33 ปี F-16 ในกองทัพไทย
สวัสดีมิตรรักแฟนโมทุกท่าน หลังปีใหม่มานี้ว่างงาน มีเวลานำโมเดลหลายตัวที่ผลัดวันประกันพรุ่งมานานถึงนานมาก หยิบมาประกอบและเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ 33 ปีของการประจำการของ F-16 ในกองทัพอากาศไทย ด้วยผลงานล่าสุดคือ F-16 A MLU ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดพอฟัดพอเหวี่ยงกับยาส 39 กริพเพ่น ที่เตรียมจะครบรอบ 10 ปีเข้าประจำการในไทยในปีนี้
เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ผู้เขียนได้ยินชื่อของ F-16 มาตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่มัธยมปลายจวบจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังได้ยิน F-16 ยังคงยืนหยัดประจำการในกองทัพอากาศไทย เครื่องบินรุ่นนี้ ไม่มีใครที่เล่นโมเดลเครื่องบินไม่รู้จัก เปรียบเหมือนวิชาบังคับของการผ่านหลักสูตรเล่นโมเดล หลายคนเริ่มต่อโมเดล รู้จักโมเดลก็เพราะ F-16 และยิ่งชอบสะสมโมเดลเครื่องบินของไทย จะต้องมี F-16 ไว้ในครอบครองอย่างน้อย 1 ลำ
โมเดล F-16 จากฝูงบิน 403 ตาคลี นครสวรรค์ ทำลวดลายพิเศษฉลองครบรอบ 30 ปีเข้าประจำการในไทยซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2561
มาพูดถึงตัวโมเดลก่อนแล้วกัน F-16 A ที่เลือกมาทำนี้เป็นรุ่น A ซึ่งเป็นรุ่นที่นั่งเดี่ยว ขนาดสเกล 1/48 ยี่ห้อ Kinetic Model Kits โมราคาไม่แรงจากฮ่องกงซึ่งมีชิ้นส่วนที่อัดมาแน่นเต็มกล่อง ชนิดที่ถ้าผู้ผลิตใจป้ำให้ชิ้นส่วนลำตัวมาอีกแผง สามารถทำโม 2 ตัวได้สบายๆ
แต่ช้าก่อน อย่าพึ่งรีบถอยออกมาเพียงเพราะราคาไม่แพง นั่นคือจุดเด่นของโมเดลยี่ห้อนี้ที่พยายามวางจุดขายเรื่องความคุ้มค่า แต่จุดด้อยมีอีกเพียบ พลาสติกค่อนข้างเปราะบาง การประกอบไม่ค่อยจะลงตัว ต้องเหลาต้องเกลากันพอดู ที่เห็นชัดๆก็คือ เก้าอี้นักบินเมื่อประกอบแล้วใหญ่เกินไปยัดไม่ลงค็อคพิท (ห้องนักบิน) ต้องมาแก้ใหม่ด้วยการเจียส่วนที่เป็นเบาะนั่งข้างซ้ายหรือขวาออกบ้างจึงจะใส่ลงไปได้ ส่วนที่บริเวณซุ้มล้อหลักทั้งสองข้าง แม้มีชิ้นส่วนหลายชิ้นทำให้ดูละเอียด แต่ก็ประกอบไม่ลงตัวเอาเสียเลย คู่มือประกอบก็อธิบายไม่ชัดเจนต้องเดากันไปตามเรื่องโดยอาศัยคู่มือประกอบของโมเดล F-16 ยอดนิยมในอดีต ยี่ห้อ Hasegawa มาช่วยบ้างจึงพอจะผ่านไปได้
กว่าจะเป็นตัวเป็นตนแบบนี้ขึ้นมาได้ ไม่ได้หมูๆเลยสำหรับโมเดลยี่ห้อ Kinetic
ทั้งหมดคือ สิ่งที่ผู้เขียนไม่อยากแนะนำโมเดลเลอร์หน้าใหม่ที่อยากได้ F-16 ซักลำมาประกอบไว้ดูเล่น เพราะเกรงว่าจะเบื่อกับการต่อโมเดลเสียก่อน แทนที่จะรู้สึกรักหรือสนุกไปกับมัน แต่ถ้าจะให้สรุปภาพรวมของ F-16 ยี่ห้อนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีทรวดทรงองเอวดีกว่าโมรุ่นพี่ที่ครองตลาดมานานอย่าง Hasegawa ซื้อมากล่องเดียวสามารถเลือกทำ F-16 ได้หลายรุ่น ทั้งรุ่นที่ประจำการใหม่ๆ รุ่นที่ผ่านการปรับปรุงก้าวหน้าพัฒนาขึ้นมาหน่อย และรุ่นที่ทันสมัยสุด ส่วนใครที่ชอบเห็นเครื่องบินมีอาวุธใต้ปีกเยอะๆ ก็มีชุดอาวุธแถมมาในกล่องอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นระเบิดทั้งแบบธรรมดาหรือนำวิถี จรวดอากาศสู่พื้น อากาศสู่อากาศพิสัยใกล้หรือไกล กระเปาะอิเลคทรอนิคส์ ก็เลือกติดตามสะดวก
ชุดอาวุธที่แถมมาให้ในกล่องมีอย่างเหลือเฟือ ติดกันไม่หวาดไม่ไหว แต่เลือกติดเฉพาะไอริสที (ใกล้) แอมแรม (ไกล) ซึ่งเป็นจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้และไกลที่ทันสมัยที่สุดของไทยในเวลานี้
การประกอบแห้งใช้เวลาประมาณ 3 วัน เพราะนั่งทำไปเรื่อยๆ เบื่อก็พัก การอุดขัดพอมีให้ทำเป็นอุปสรรคบ้างเล็กๆน้อยๆ ส่วนการลงสีก็เป็นครั้งแรกที่ทดลองใช้สียี่ห้อ Pro เพราะเห็นหลายท่านในห้องนี้แนะนำว่าถ้าเป็นเครื่องบินไทยให้ลองใช้ดู จะใกล้เคียงกับตัวจริงมากกว่าของ Mr. Hobby และที่สำคัญราคาย่อมเยากว่าเยอะเมื่อเทียบกันด้วยราคาและปริมาตร
ผู้เขียนลองผสมสี Pro กับทินเนอร์ของ Mr.Hobby ก็ดูเข้ากันดี พ่นกับแอร์บรัชได้ไหลลื่นสีออกสม่ำเสมอ แต่เนื้อสีดูด้านๆ ต้องผสมด้วยเคลียร์มันจึงดีขึ้นมาอีกนิด ความใกล้เคียงของสีกับของจริงเห็นชัดๆ คือ สีเทาเข้มกลางลำตัวของ F-16 ซึ่งในคู่มือแนะนำให้ใช้เบอร์ 305 ของ Mr Hobby แต่เมื่อลองใช้ของ Pro เบอร์ 17 เห็นได้ชัดว่าอ่อนละมุนใกล้เคียงของจริงมากกว่าเบอร์ 305 ซึ่งดูเข้มเกินไป
ชุดสีหลักที่ใช้กับ F-16 ตัวนี้ เริ่มจากซ้ายไปขวา หาซื้อได้ตามร้านขายโมเดล ทั้งหมดเป็ํนสูตรสีอคิริค
การพ่นสีใช้เวลาไม่นาน แทบไม่ต้องบังพ่น ส่วนการติด Decals ก็อาศัยชุดพิเศษครบรอบ 30 ปีโครงการนเรศวรสันติ ราคา Decals แอบแรงไปนิดตามความคิดของผู้เขียน และไม่มีคู่มือการติด Decals ให้มาเลย แต่ก็หยวนๆ เพราะมีคู่มือ Decal ยี่ห้อ Siam Scale พอเป็นเข็มทิศนำทาง คงไม่ต่างกันมาก
Decals ชุดพิเศษนี้ทำออกมา 3 ลาย 3 ฝูงบิน คือ หางสีเขียวมีรูปช้างศึกยุทธหัตถีและงูจงอางซึ่งเป็นของฝูงบิน 403 ตาคลี นครสวรรค์ / หางแดงช้างศึกยุทธหัตถีมีสายฟ้าฟาดของฝูงบิน 103 โคราช / หางน้ำเงินช้างศึกยุทธหัตถีมีดาววิ่งของฝูงบิน 102 โคราช ทั้งหมดนี้นำมาอวดโฉมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ในโอกาส 30 ปีที่ไทยมี F-16 ประจำการ
ผู้เขียนเลือกทำตัวหางเขียวเพราะทันสมัยที่สุดและพึ่งจะเสร็จสิ้นการปรับปรุง MLU เต็มฝูง 18 ลำ โดยทะยอยปรับปรุง 3 เฟสๆละ 6 ลำมาตั้งแต่ปี 2554-2561 ประสิทธิภาพเทียบเท่า F-16 C/D บล็อค 50/52 เพราะปรับปรุงในหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นภายในห้องนักบินที่เป็นดิจิตอลน่าจอสัมผัส ระบบเรดาร์ที่พิสัยตรวจจับไกลขึ้น ระบบเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่าย ระบบอาวุธที่ทันสมัยซึ่งผู้เขียนก็เลือกให้ติดอาวุธนำวิถีระยะใกล้ คือ ไอริส-ทีที่ติดกับกริพเพ่นและแอมแรมซึ่งเป็นอาวุธนำวิถีระยะไกลเกินสายตาที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่ไทยมีประจำการ โดยติดไว้ข้างละ 2 นัด และถังน้ำมันสำรองอีกข้างละ 1 ถัง
ตัวหางเขียวสังกัดฝูงบิน 403 ตาคลี นครสวรรค์ สัญลักษณ์ช้างศึกยุทธหัตถีและงูจงอาง ซึ่งเป็นฝูงบิน F-16 ที่ผ่านการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน (MLU) เสร็จสิ้นทั้ง 18 เครื่องในปี 61 จากที่ทะยอยปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 54
เล่าประวัติ F-16 ที่ประจำการในกองทัพไทยให้ฟังกันนิดนะครับ ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ไทยมีแนวโน้มว่าจะถูกภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์รุกราน ทำให้กองทัพอากาศไทยจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินรบที่ทันสมัยสำหรับรับมือกับภัยอันตราย โดยในขณะนั้นเครื่องบินขับไล่ชั้นแนวหน้าของไทยมีเพียง F-5 ซึ่งทั้งปริมาณและคุณภาพดูจะด้อยกว่าเครื่องบินรบรุ่นใหม่ของเวียดนาม คือ มิก-23 ที่ได้รับจากโซเวียต
เครื่องบินมิก 23 ที่เวียดนามนำเข้าประจำการเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำให้ไทยต้องรีบซื้อ F-16
กองทัพอากาศไทยจึงเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ โดยมีตัวเลือกหลักๆ 2 แบบคือ F-20 Tiger shark ของบริษัท Northrop Grumman และ F-16 Fighting Falcon ของบริษัท Lockheed Martin
กองทัพอากาศไทย ได้เลือก F-16 เป็นเครื่องบินขับไล่ที่ตรงต่อความต้องการของกองทัพเพราะมีประจำการในสหรัฐฯและในมิตรประ ผลงานก็แสดงออกมาแล้วมากมาย แต่สหรัฐฯกลับต้องการขาย F-16/79 ซึ่งเป็น F-16 ที่ลดสมรรถนะลงมา เช่น แรงขับเครื่องยนต์ ความสามารถในการบรรทุกอาวุธ รัศมีปฏิบัติการ
F-20 รูปร่างเหมือน F-5 แต่จุดที่ต่างคือใช้เครื่องยนต์เดี่ยว ส่วน F-5 ใช้เครื่องยนต์คู่
F-16/79 คือ F-16 ที่ลดสเป็คมาจาก F-16 A
กองทัพอากาศไทย ยื่นคำขาดว่าต้องการ F-16 A/B เท่านั้น โดยอ้างเหตุผลคือ ต้องการกำลังรบที่ทันสมัยสำหรับการต่อกรกับการวางกำลังเป็นจำนวนมากของเครื่องบินรบโซเวียตแบบ MIG-23 ของเวียดนาม ด้วยการกดดันจากไทยและบริษัทผู้ผลิต ในที่สุด สหรัฐฯ จึงอนุมัติการขาย F-16A/B ตามที่เราต้องการเมื่อปี 2528
ไทยจัดหา F-16 เข้าประจำการ 4 โครงการ เรียกชื่อโครงการว่า นเรศวรสันติ 1-4 จำนวนก็ 12+6+18+16 รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ (ตลอดเวลา 14 ปีตั้งแต่ปี 2528-2542) แต่ในปี 2547 ไทยก็ได้ F-16 มาเพิ่มอีก 7 ลำจากกองทัพอากาศสิงคโปร์เป็นข้อแลกเปลี่ยนให้กับกองทัพอากาศไทยให้พื้นที่แก่กองทัพอากาศสิงคโปร์เข้ามาทำการฝึกในประเทศไทย
กองทัพอากาศไทยแบ่ง F-16 เข้าประจำการใน 3 ฝูงบินที่นครราชสีมา 2 ฝูงบินและนครสวรรค์ 1 ฝูงบิน เราจะรู้ว่า F-16 ลำนี้สังกัดฝูงบินใดสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่แพนหางดิ่ง ฝูงบิน 103 Lightning กองบิน 1 โคราช สัญลักษณ์ติดแพนหางดิ่งรูปสายฟ้า / ฝูงบิน 403 Cobra กองบิน 4 ตาคลี สัญลักษณ์ติดแพนหางดิ่งรูปงูจงอาง / ฝูงบิน 102 Star กองบิน 1 โคราช สัญลักษณ์ติดแพนหางดิ่งรูปดาววิ่ง
ตลอด 30 ปีมานี้เทคโนโลยีทางการทหารยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และ F-16 เอง ก็จำเป็นต้องทำการอัพเกรดปรับปรุงด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทันสมัยต่อกรกับเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ๆของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น Su-30 ของมาเลเซียและเวียดนาม หรือ F-15SG ของสิงคโปร์ กองทัพอากาศจึงเริ่มทำโครงการ MLU (Mid Life Upgrade) เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้กับ F-16 แห่งกองทัพไทย อันเป็นที่มาของ F-16 ที่ผมทำตัวนี้ เรียกว่า F-16 MLU มีความสามารถทัดเทียม F-16C/D Block 52 ซึ่งยังมีประจำการในกองทัพสหรัฐฯและอีกหลายประเทศพันธมิตร
F-16 C ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบล็อค 52 ทันสมัยกว่า F-16 A รุ่นเก่าก่อนการปรับปรุง MLU
Jas 39 ก้าวหน้าทันสมัยที่สุดของไทย แต่ ปริมาณยังน้อยไปนิด
F-16 กับ F-5 ยังเป็นกระดูกสันหลังหลักให้กับกองทัพไทยในเชิงปริมาณ
F-16 ยังดูน่าเกรงขามแม้อายุมากแต่ก็ปรับปรุงอยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้ก็คือประวัติย่อของ F-16 ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทย และนี่คือ F-16 ตัวแรกในรอบ 10 ปีของผู้เขียน ซึ่งถ้าไม่ได้ Decals ชุดพิเศษ F-16 ของ Kinetic ตัวนี้ก็ยังนอนเป็นชิ้นส่วนอยู่ในกล่องร่วมกับเพื่อนอยู่ในตู้เก็บโม ไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างนี้แน่นอน วันนี้ดึกแล้วขอพอแค่นี้ก่อน โชคดีมีความสุขทุกท่าน ขอบคุณที่ติดตาม สวัสดีครับ
1 บันทึก
9
1
2
1
9
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย