14 ม.ค. 2021 เวลา 14:22 • ครอบครัว & เด็ก
แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องรู้ เมื่อผู้ชายไม่รับเด็กเป็นลูก
สำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เผชิญกับปัญหาฝ่ายชายซึ่งเป็นพ่อของเด็กปฏิเสธไม่รับเด็กเป็นลูก ในฐานะแม่คุณจะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกของคุณมีสิทธิ์ตามกฎหมายในฐานะลูกของฝ่ายชาย
เป็นแม่ก็ยากอยู่แล้ว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวยิ่งยากกว่า
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อนั้นมีสิทธิ์อะไรบ้าง
บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา มีสิทธิที่จะได้รับมรดกรวมถึงมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากหน่วยงานอื่น ๆ ในฐานะทายาทอีกด้วย ดังนั้น สถานะการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาจึงมีความสำคัญกับตัวเด็ก แต่ทีนี้เมื่อพ่อและแม่ของเด็กไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดมาจึงเป็นที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าพ่อและแม่ของเด็กจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่หากพ่อของเด็กยินยอมรับว่าเด็กนั้นเป็นลูก เช่น ไปจดทะเบียนรับรองบุตร เด็กนั้นก็จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายมีสิทธิอย่างเต็มที่ตามกฎหมายไม่ต่างจากบุตรที่เกิดจากพ่อและแม่ที่จดทะเบียนสมรสกัน
แต่ถ้าหากฝ่ายชายที่เป็นพ่อของเด็กไม่ยอมรับเด็กว่าเป็นลูก ฝ่ายคุณแม่จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ลูกของตนมีสิทธิในฐานะบุตรของฝ่ายชาย
การใช้สิทธิทางศาลคือหนทางที่ดีที่สุดในการคุ้มครองสิทธิของลูก โดยการที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ฝ่ายชายรับเด็กเป็นลูก โดยคดีลักษณะนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ในการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรนั้นสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไปพร้อมกันได้เลย
1
กรณีที่ฝ่ายชายปฏิเสธว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์กับแม่ของเด็ก หรือเด็กนั้นไม่ใช่ลูกก็อาจจะต้องมีการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูกกัน เมื่อผลออกมาแล้วว่าเป็นลูกของฝ่ายจริง ฝ่ายชายจะมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ลูกหรือไม่เคยมีความสัมพันธ์กับแม่ของเด็กก็คงไม่ได้
ในกรณีการกำหนดค่าเลี้ยงดูที่ฝ่ายชายหรือพ่อของเด็กจะต้องช่วยส่งเสียเลี้ยงดูนั้นควรเป็นเท่าไร ซึ่งประเด็นนี้ศาลก็จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้านอาชีพรายได้ของฝ่ายชายและฝ่ายคุณแม่ด้วย รวมถึงค่าใช้จ่ายของเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วยว่ามีอะไรบ้าง (ไม่ใช่ว่าจะเรียกเท่าไรก็ได้นะคะ)
ประเด็นหนึ่งที่มีความกังวลกันมากว่าเมื่อฟ้องไปแล้ว ศาลพิพากษาให้ฝ่ายชายจ่ายค่าเลี้ยงดูแต่ฝ่ายชายไม่ปฏิบัติตามจะทำอย่างไร
เนื่องจากคดีครอบครัวเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลย (พ่อของเด็ก) จ่ายค่าอุปการะ ศาลก็อาจจะสั่งให้ลูกหนี้นำเงินมาวางศาลหรือหากลูกหนี้นั้นมีงานประจำศาลก็อาจให้มีการอายัดเงินเดือนตามจำนวนที่ต้องจ่ายตามคำพิพากษามาวางไว้ที่ศาล หรือศาลอาจออกหมายเรียกตัวลูกหนี้มาสอบถามสาเหตุ รวมถึงกักขังลูกหนี้ได้กรณีที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล
ดังนั้นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแม้จะมั่นใจว่าตนเองสามารถดูแลเลี้ยงดูให้ลูกน้อยเติบโตได้เพียงลำพัง แต่ก็อย่าลืมว่าบุตรนั้นย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย หลายกรณีที่ผู้ปกครองของบุตรละเลยไม่ทำให้ถูกต้องจนเวลาผ่านไปบุตรนั้นบรรลุนิติภาวะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บุตรจะต้องใช้สิทธิของตนตามกฎหมายต่อบิดากลับไม่สามารถทำได้ทำให้เสียเวลาและเสียสิทธิไปอย่างน่าเสียดาย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้รอบคอบนะคะ
#ปรึกษาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุตรนอกสมรส
#ทนายดิษญา
Tel/Line : 0899885186
โฆษณา