15 ม.ค. 2021 เวลา 06:01 • การศึกษา
อุบัติเหตุทางการบิน เกิดจากอะไร ทำไมตอบทันทีไม่ได้
ทุกครั้งที่มีข่าวเครื่องบินตก มักจะเกิดกระแสความเศร้าเคล้าความหวาดกลัวปะปนกัน
นอกจากคนที่หลั่งไหลเข้ามาแสดงความอาลัยให้กับผู้เสียชีวิตอย่างมากมาย อีกสิ่งที่หลีกเลื่ยงไม่ได้เลย ก็คือความสงสัยที่เกิดขึ้นในใจทุกคน
ว่ามันเกิดอะไรขึ้น สาเหตุคืออะไร
แล้วเรายังมีความปลอดภัยในการบินอยู่ไหม
ในฐานะนักบิน ก็มักจะมีสมมติฐานเรื่องสาเหตุอยู่ในใจเหมือนกันและก็มีคนชอบมาถามความเห็นบ่อยซะด้วย
แต่สิ่งที่ตอบได้อย่างเดียวก็คือ
ต้องรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการก่อน
เพราะอะไร อย่างไร และจะใช้เวลาสอบสวนนานเท่าไหร่
มาสิ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าข่าวอุบัติเหตุการบินเนี่ย เป็นอะไรที่ขายได้
มันดูน่าตกใจ ยิ่งใหญ่และน่ากลัว อาจเพราะมันเกิดไม่ค่อยบ่อยเหมือนอุบัติเหตุรถยนต์
ยิ่งถ้าสายการบินที่เกิดเหตุ ชื่อคุ้นหูเหมือนจะอยู่ใกล้ตัวเรา เช่นกรณี อินโดนีเซียแอร์เอเชีย QZ8501 เมื่อปี 2014 และ ไลอ้อนแอร์ JT610 เมื่อปี 2018 กระแสยิ่งโหมหนัก
(ทั้งที่ความจริง แค่ใช้ชื่อและแนวทางทำธุรกิจร่วมกัน แต่เหมือนเป็นแฟรนไชส์คนละสาขากัน อย่างของบ้านเรา ชื่อเต็มจริงๆ จะเรียกว่า ไทยแอร์เอเชีย และไทยไลอ้อนแอร์)
1
บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นการพาดหัวข่าวที่เรียกกระแสสร้างความตื่นตระหนก เช่น ระทึก! ช๊อค! ด่วน! สลด! ดิ่ง! (ทั้งที่บางข่าวคือไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำ)
ตามมาด้วยรายละเอียดที่บีบหัวใจ เช่น เผยวินาทีสุดท้ายโดยผู้เห็นเหตุการณ์ (ที่เป็นใครก็ไม่รู้) เกิดไฟลุก! เครื่องตกกระแทกพื้น! ระเบิดกลางอากาศ! เห็นเหมือนถูกยิงตก!
และตบท้ายด้วยการเล่นกับความรู้สึกเศร้า โดยการเผยรายละเอียดผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายสภาพศพ รายงานจำนวนเด็กบนเครื่อง การลงรูปผู้เสียชีวิตภาพสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่อง พร้อมบรรยายเรื่องราวชีวิตส่วนตัวสุดสะเทือนใจ
ลักษณะการพาดหัวข่าวที่พบได้บ่อยในสื่อไทย
และที่เลี่ยงไม่ได้เลย ก็คือ การเขียนข่าวชี้นำถึงสาเหตุของอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
- การขุดข้อมูลส่วนตัวของนักบินมาตีแผ่ ประวัติการบิน สุขภาพกาย สุขภาพใจ
- การบรรยายถึงสภาพอากาศ ณ ตอนเกิดเหตุ
- การชี้ข้อสังเกตุที่น่าแปลกต่างๆ พร้อมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
ทุกอย่างเกิดขึ้นภายใน 4-5 วันแรกของการเกิดเหตุ
และเมื่อผู้คนเสพข่าวจนหนำใจและคลายความสนใจลงไป
ก็จะได้ภาพจำคร่าวๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุนี้ไป
โดยไม่รู้ว่ามีความจริงอยู่กี่ %
2
ในขณะที่การสืบสวนที่แท้จริงนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเอง
1
ในการสืบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุนั้น มีขั้นตอนมากมาย
ถึงขั้นเขียนไว้เป็นหนังสืออ้างอิง ความยาวหลายร้อยหน้า
แต่เราขอยกมาให้เข้าใจไอเดียคร่าวๆ พอนะ จะเล่าว่า
ใครเป็นคนสืบสวน
สืบสวนอะไร
และสรุปผลเมื่อไหร่ อย่างไร
“ใครเป็นคนสืบสวน”
ทีมสืบสวนเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลหรือหน่วยงานจาก
1. ประเทศที่เกิดเหตุ
2. ประเทศที่ผลิตเครื่องบิน หรือชิ้นส่วนที่สำคัญ
3. ประเทศที่ลงทะเบียนเครื่องไว้
4. ประเทศสัญชาติของผู้โดยสารที่เสียชีวิต
2
นอกจากนี้ยังขอสามารถความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้อีกด้วย
ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ MH17 เมื่อปี 2014
ที่เป็นเครื่องบิน โบอิ้ง777 ของสายการบิน มาเลเซียแอร์ไลน์ บินจากอัมสเตอร์ดัมไปกัวลาลัมเปอร์ ที่มีผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวดัตช์ ถูกยิงตกกลางทางที่ประเทศยูเครน
ทีมสืบสวนหลัก ก็จะมาจาก
- เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และเบลเยี่ยม(ประเทศสัญชาติของผู้โดยสารที่เสียชีวิต)
- ยูเครน (ประเทศที่เกิดเหตุ)
- มาเลเซีย (ประเทศที่ลงทะเบียนเครื่อง)
พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา (ผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้ง)
จะเห็นได้ว่าเป็นทีมขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้ก็เพื่อความโปร่งใส่ในการตรวจสอบนั่นเอง
1
“สืบสวนอะไรบ้าง”
ขั้นตอนการสืบสวนมีมากมาย อาจจะเกิดขึ้นเป็นลำดับหรือเกิดไปพร้อมๆ กันก็ได้ วิธีการหลักๆ ก็คือ
สืบจากเครื่อง สืบจากคน
และสืบจากข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ
การสืบจากเครื่อง
จะเน้นการเก็บข้อมูลจากเครื่องที่เกิดเหตุโดยตรง เริ่มจาก
1. ค้นหาจุดเกิดเหตุ
ด้วยการตามสัญญาณฉุกเฉินที่ออกมาจากเครื่องที่ตก
การดูตำแหน่งสุดท้ายของเครื่องบนเรดาร์
หรือการรับแจ้งจากผู้เห็นเหตุการณ์
ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหาเครื่องไม่เจอ
การสืบสวนก็ไปต่อได้ยาก เหมือนเช่นเคส MH370
2. ถ่ายรูปจุดเกิดเหตุไว้ให้มากที่สุด
ภาพที่ได้จะช่วยบอกคร่าวๆ ได้ว่า เครื่องตกหรือชนอย่างไร
- เศษกระจุกใกล้ๆ กัน แปลว่าเครื่องอาจดิ่งตกกระทบพื้นโดยไร้การควบคุม ก่อนจะแตกออกจากกันด้วยแรงกระแทกกับพื้น
1
- เศษกระจายเป็นวงกว้าง แปลว่าเครื่องอาจแตกกระจายมาตั้งแต่บนฟ้าแล้ว เช่นกรณีเกิดการระเบิดกลางอากาศหรือถูกยิงตก
1
เศษกระจายหลายตำแหน่ง(MH17-Dutch Safety Board) vs เศษกระจุกที่จุดเดียว (JT610-Dailymail)
3. เก็บกู้ซากเครื่องนำมาประกอบในโกดัง
คือการรวบรวมทุกชิ้นส่วนแล้วเอามาเรียงต่อกันเหมือนต่อจิ๊กซอว์ วิธีนี้จะช่วยชี้ชิ้นส่วนที่อาจเป็นสาเหตุได้
เช่น พอต่อแล้ว ภาพมันฟ้องว่ามีจุดหนึ่งที่แตกเป็นเศษเล็กๆ และมีเขม่าควันเกาะ อาจจะสรุปได้ ว่าเกิดการระเบิดจากบริเวณนั้น ก็จะสามารถเจาะลงไปสืบสวนเฉพาะระบบตรงจุดนั้นแทน
การต่อชิ้นส่วนในโกดัง ภาพจาก REUTERS/Alamy
4. ค้นหากล่องดำ
กล่องดำที่จริงๆ สีส้มแป๊ดนั้น มีอยู่ 2 กล่อง
1
กล่องนึงบันทึกสารพัดเสียงจากห้องนักบิน เอามาฟังหลายๆ รอบว่านักบินพูดอะไรกัน ติดต่อวิทยุอะไรบ้าง มีเสียงแปลกๆ จากเครื่องหรือจากในห้องโดยสารไหม
ส่วนอีกกล่องบันทึกข้อมูลการบินของเครื่อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาได้ แทบจะเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์เลย
เพิ่งค้นพบกล่องดำบันทึกข้อมูลการบิน ของไฟลต์ศรีวิจายา แอร์ SJ182 ภาพจาก REUTERS
5. การวิเคราะห์เศษซากและการทดลอง
อาจใช้การดูมาตรวัด ณ ตอนเกิดเหตุว่าแสดงค่าผิดแปลกอย่างไร หรือลองเอาชิ้นส่วนปกติไปบิด ไปเผา ไปทดสอบในห้องทดลองให้ได้ผลลัพธ์เหมือนกับที่เกิดในอุบัติเหตุ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่คาดเดาไว้
การสืบจากคน
จะดำเนินการสืบจากทั้งนักบิน ลูกเรือ ผู้โดยสาร
และผู้เห็นเหตุการณ์อื่นๆ
นักบินและลูกเรือ
หากรอดชีวิต จะต้องผ่านกระบวนการสอบปากคำมากมาย มีการตรวจร่างกาย หาสารเสพติดหรือระดับแอลกอฮอล์ สอบถามสภาพความพร้อมในการทำงาน ทั้งเรื่องการนอน การพักผ่อน วิถีชีวิต และการเตรียมตัวก่อนทำการบิน
หากแต่ไม่รอดชีวิต ก็จะใช้การสอบถามจากคนใกล้ตัวหรือผู้ร่วมงานอื่นๆ แทน แล้วนำมาประกอบกับข้อมูลประวัติการบิน ไม่ว่าจะเป็นการฝึก การสอบ ชั่วโมงบิน ความรู้ต่างๆ และผลการตรวจร่างกายประจำปี ว่าเคยมีความด่างพร้อยใดๆ หรือไม่ เรียกได้ว่าโดนยิบๆ
ผู้โดยสาร
คำให้การจากผู้รอดชีวิต จะช่วยให้ปะติดปะต่อเรื่องที่เกิดขึ้นได้สมบูรณ์ขึ้น ส่วนสำหรับผู้เสียชีวิต ก็จะใช้การวิเคราะห์ตำแหน่งที่นั่งและลักษณะการเสียชีวิตของแต่ละคน
การสืบยังรวมถึงการมองหาการจองตั๋วที่ดูผิดปกติ ที่อาจบ่งบอกว่ามีการปล้นจี้เครื่องได้
1
นอกจากนั้นก็จะเป็นการค้นหาชิ้นส่วนและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เพื่อให้ญาติได้นำไปประกอบพิธีศพต่อไป
ผู้เห็นเหตุการณ์อื่นๆ
อาจจะเป็น พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ (ATC) ที่ทำงานอยู่ตอนเกิดเหตุ ว่าพูดคุยอะไรกับนักบินไปบ้าง สั่งเครื่องให้ทำอะไร มีคนช่วยงานเยอะไหม อุปกรณ์ที่ใช้ทำงานใช้การได้ดีหรือไม่ เรียกได้ว่าโดนยิบๆ รองจากนักบินและลูกเรือ
และยังมีผู้ที่เห็นเหตุการณ์ ชาวบ้านแถวๆ นั้น ที่ถ่ายวิดีโอไว้ได้ หรือให้ข้อมูลว่ามองเห็นเครื่องตอนกำลังตก ซึ่งการให้น้ำหนักกับข้อมูลที่ได้รับก็จะลดหลั่นกันลงมาตามความน่าเชื่อถือ
(แต่สื่อมวลชนจะชอบข้อมูลตรงนี้มากๆ เพราะว่าไวทันใจ และดูเหมือนจะเชื่อถือได้ ไม่ต้องรอการวิเคราะห์ใดๆ)
1
การสืบจากข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ
จะเป็นการหาข้อมูลอื่นๆ มาประกอบ เช่น
ข้อมูลสภาพอากาศ ณ เวลาเกิดเหตุ
อากาศเป็นอย่างไร มีพายุ มีฝน มีหมอกหรือหิมะ เวลากลางวันหรือกลางคืน นักบินมองเห็นได้ชัดไหม ทัศนวิสัยเป็นอย่างไร รันเวย์ลื่นหรือไม่
ข้อมูลการซ่อมบำรุงย้อนหลังของเครื่อง
เครื่องอายุเท่าไหร่ เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อนไหม ซ่อมชิ้นส่วนไหนไปเมื่อไหร่ มีการเข้าซ่อมบำรุงตามกำหนดการมาตรฐานหรือไม่ ขั้นตอนการซ่อมถูกต้องและทำโดยช่างที่มีใบรับรองหรือเปล่า
ประวัติการดำเนินธุรกิจของสายการบิน
เคยมีปัญหาในการทำตามมาตรฐานการบินหรือไม่ มีการฝึกอบรมที่ถูกต้องหรือเปล่า ประสบปัญหาทางการเงินที่อาจกระทบกับงบประมาณในการรักษาความปลอดภัยทางการบินหรือไม่ หรือเคยมีสถิติด้านอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเป็นเทรนด์ที่น่ากังวลหรือเปล่า
หากเหตุเกิดที่สนามบิน ก็จะสอบสวนต่อไปถึง การดูแลความปลอดภัยของสนามบินด้วย ไม่ว่าจะเป็น การดูแลสภาพของรันเวย์ สภาพของอุปกรณ์เครื่องช่วยเดินอากาศต่างๆ ความถูกต้องของการเข้าช่วยกู้ภัยหลังเกิดเหตุ
การสรุปผล
จะเป็นการนำข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด มาลิสต์เป็นสาเหตุที่เป็นไปได้เป็นข้อๆ ก่อนจะค่อยๆ เอาหลักฐานและการวิเคราะห์ มาตัดออกทีละข้อๆ จนได้เป็นผลสรุปสุดท้ายในที่สุด
โดยทั่วไป จะมีให้ข้อมูลแก่สาธารณะตามลำกับขั้นดังนี้
ผลสรุปเบื้องต้น (Preliminary report) จะออกมาในอีกประมาณ 1 เดือนหลังเกิดเหตุ เพื่อให้ข้อมูลว่า รวบรวมข้อเท็จจริงอะไรไว้ได้บ้าง แต่จะยังไม่สรุปผลฟันธง
ผลสรุปสุดท้าย (Final report) จะออกในอีกประมาณ 1 ปีให้หลัง โดยจะอธิบายรายละเอียดข้อมูลทุกอย่างพร้อมบทสรุปโดยละเอียด
1
ผลสรุปชั่วคราว (Interim report) กรณีที่การสืบสวนยาวนานมาก หรือไม่อาจหาข้อสรุปได้ จะออกมาเป็นการสรุปให้ทราบความคืบหน้าเป็นรายปี
รายงานการสืบสวนของไฟลท์ไลอ้อนแอร์ JT610
เรียกได้ว่า มหากาพย์มากๆ
กับการจะสอบสวนอุบัติเหตุครั้งนึง
นี่พิมพ์เองยังเหนื่อยเลย
แม้จะยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากมายด้วยซ้ำ
1
หวังว่าจะช่วยให้เห็นภาพว่า
ทำไมถึงด่วนสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุไม่ได้ในทันที
แม้ว่าดูจากหลายๆ อย่างแล้ว
น่าจะเป็นสาเหตุแบบนี้ๆๆ แน่ๆ เลย
เพราะความจริงแล้ว
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางการบินนั้น
ไม่เคยเกิดจากสาเหตุเดียว
ทุกๆ เหตุการณ์ มักประกอบด้วยความผิดพลาด
บวกความโชคร้าย และจังหวะต่างๆ ประกอบกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น การสืบสวนทุกอย่าง
ไม่ได้มุ่งหวังจะหาคนผิดหรือตัวการใดๆ เพื่อรีบลงโทษ
แต่ตั้งใจว่า เราต้องรู้สาเหตุที่แท้จริง
เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไข
ให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
จริงๆ การเรียนรู้ผ่านความสูญเสียในอดีตนี่ เป็นวิธีนึงที่ช่วยให้วงการการบินพัฒนาความปลอดภัยขึ้นมาแหละ
อาจดูน่าเศร้าแต่ว่าเป็นวิธีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด เมื่อเทียบกับการวางแผนป้องกันแบบอื่นๆ
ดังนั้น นอกจากจะแสดงความเสียใจให้กับผู้ที่สูญเสียแล้ว
เราคงต้องแสดงความขอบคุณเขาเหล่านั้นด้วย
ที่จะช่วยให้ชีวิตการเดินทางด้วยเครื่องบินของเรา
ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต
หวังว่าเมื่อทุกคนได้อ่านบทความนี้แล้ว
หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ได้พบพาดหัวข่าวที่สุดระทึกอีก
คงจะไม่ตื่นตระหนกตกใจกลัวกันจนเกินไปนะ
1
โฆษณา