17 ม.ค. 2021 เวลา 09:08 • การศึกษา
📿 นิกายพุทธที่พระสังฆราชจำเป็นต้องมีครอบครัว
ชาวพุทธหลายคนคงเคยได้ยินว่าพระญี่ปุ่นสามารถแต่งงานได้ ใช้ชีวิตไม่ต่างจากฆราวาสทั่วไป แต่รู้กันไหมครับว่าในทิเบตซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเคร่งและอินกับศาสนาพุทธมากที่สุดประเทศหนึ่งก็มีนิกายเก่าแก่นิกายหนึ่งที่ "พระสังฆราชจำเป็นต้องแต่งงานเพื่อมีบุตรสืบทอดตำแหน่ง" วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังครับ
นิกายที่พูดถึงนี้ชื่อว่า "นิกายสาเกียปะ" หรือนิกายศากยปะ (Sakyapa) เป็น 1 ใน 5 นิกายของทิเบตที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ นิกายนี้เกิดในศตวรรษที่ 11 (ค.ศ. 1073) โดยพระ KhönKönchok Gyalpo ผู้เป็นเชื้อสายของศิษย์คนสำคัญของพระปัทมสมภพ หรือที่ชาวพุทธวัชรยานทั่วโลกเรียกว่า "คุรุรินโปเช" (Guru Rinpoche) ท่านเป็นพระภิกษุท่านแรกที่นำศาสนาพุทธไปเผยแผ่ที่ทิเบตได้สำเร็จ แถมชาวทิเบตยังเชื่อกันว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งอีกด้วย
1
ดินแดนทิเบตนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานนะครับ มีนิกายย่อยหลายนิกาย ทุกนิกายต่างมีพระสังฆราชเป็นของตัวเอง และมีวิธีการสืบทอดที่เหมือนกันเลยคือ "การกลับชาติมาเกิดใหม่" เพื่อมาสั่งสอนธรรมะให้กับมนุษย์ไปเรื่อย ๆ โดยหลังจากพระสังฆราชละสังขาร บรรดาพระผู้เป็นศิษย์จะออกตามหาเด็กที่เกิดในวันเดียวกันนั้น และคุณสมบัติต้องตรงตามเงื่อนไข คือพระลูกศิษย์ต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าเด็กคนนั้น ๆ เป็นอาจารย์ของตัวเองกลับชาติมาเกิดจริง ๆ แล้วให้เข้ามาบวชตั้งแต่เด็กและถวายความรู้ให้ เดี๋ยวโอกาสหน้าผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องนี้ให้อ่านครับ
มีเพียงนิกายเดียวในทิเบตที่จะสืบทอดพระสังฆราชกันทางสายเลือดซึ่งก็คือ "นิกายสาเกียปะ" และนอกจากนิกายนี้จะสืบทอดตำแหน่งพระสังฆราชทางสายเลือดแล้วยังสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสทางสายเลือดเหมือนกัน ฉะนั้นเจ้าอาวาสก็จำเป็นต้องแต่งงานเพื่อสืบมีลูกชายสืบทอดตำแหน่งเหมือนกัน เรียกได้ว่าถ้าใครอยากบวชเพื่อไต่เต้าเป็นสมภารก็อย่ามาบวชที่ทิเบตเชียว ไม่มีหวังหรอกครับ
พระสังฆราชศากยตรีซิน งาวัง กุงกา (พระสังฆราชลำดับที่ 41) และองค์ดาไลลามะที่ 14
วัชรยานทุกนิกายจะมีแนวทางการปฏิบัติที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง สำหรับของนิกายสาเกียปะมีแนวทางปฏิบัติสำคัญที่เรียกว่า "ลัมเดร (Lamdre)" ซึ่งมีทรรศนะว่าวัฏสงสารกับนิพพานไม่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ และธรรมชาติของพุทธะอยู่ในจิตของทุกคนอยู่แล้ว แต่ถูกกิเลสบดบังให้เราเข้าไม่ถึง ซึ่งลัมเดรคือวิธีปัดกวาดสิ่งสกปรกที่บดบังนั้นให้เกลี้ยงเพื่อบรรลุนิพพาน
รู้ไหมครับว่าการฝึกปฏิบัติธรรมแบบนิกายวัชรยานไม่เหมือนพุทธบ้านเราที่ใครอยากไปปฏิบัติก็แค่สวมชุดขาวไปวัด รับศีล 8 แล้วจะมีพระมาสอนหายใจเข้า-ออกง่าย ๆ แค่นั้น แต่ของเขาต้องมีขั้นตอน มีพิธีกรรมถวายตัวเป็นศิษย์ต่อคุรุ เรียกกันว่า "พิธีพุทธาภิเษก" ถ้าใครยังไม่ผ่านพิธีก็เรียนไม่ได้ แถมบางวิชาก็เป็นวิชาลับถึงขั้นลับสุดยอด เช่นการปฏิบัติลัมเดรของนิกายสาเกียปะนี้ คือไม่สอนแบบสาธารณะ ไม่จดบันทึกวิธีปฏิบัติ แต่จะถ่ายทอดกันด้วยปากเปล่าจากครูสู่ศิษย์เท่านั้น เพราะเขามองว่าเป็นการรักษาคำสอนไม่ให้คำสอนเสื่อม คือคนที่จะเรียนได้ต้องพร้อมและเหมาะสมจริง ๆ ครับ
และยิ่งพุทธสถานในโลกตะวันตกด้วยแล้วต้องเสียเงินเรียนเป็นคอร์ส ๆ นะครับ ซึ่งค่าคอร์สก็ไม่ใช่ว่าถูก ๆ เลย คนไทยอาจมองว่าเป็นพุทธพาณิชย์ ธุรกิจหากำไร ถูกครับ! แต่เรื่องนี้มีเหตุผลที่ฟังขึ้นอยู่นะ ต้องย้อนไปสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสม์จีนเข้ายึดครองทิเบต มีการทำลายวัด พระเถรเณรชีถูกจับสึก บ้างก็ถูกฆ่าตายไปไม่น้อย บรรดาพระทิเบตจึงลี้ภัยไปตะวันตกและไปเริ่มต้นใหม่ สร้างวัด สร้าง Buddhist Centre ที่นั่น ทุนทรัพย์ก็น้อยนิด จึงต้องมีวิธีหาปัจจัย และครูบาอาจารย์ที่สอนธรรมะไม่ว่าพระหรือฆราวาสต่างก็ต้องอยู่ด้วยปัจจัย 4 พูดภาษาชาวบ้านคือทุกคนต้องกินข้าว และประเพณีพุทธแบบทิเบตไม่มีการบิณฑบาตด้วยสิครับ ก็ต้องมีวิธีหาเงิน ไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการคัดกรองผู้ที่จะเรียนด้วยว่ามีความพร้อม มีความจริงจังกับการฝึกปฏิบัติจริง ๆ ไม่ได้มาเล่น ๆ หรือแค่มาลี้ลอง
Sakya Buddhist Center รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยธรรมะสั้น ๆ จากบรรพจารย์ในนิกายสาเกียปะนะครับ
"..หากท่านยึดติดกับชีวิตนี้ แสดงว่าท่านมิใช่นักปฏิบัติธรรม
หากท่านยึดติดกับการดำรงอยู่ แสดงว่าท่านไร้การเสียสละ
หากท่านยึดติดกับผลประโยชน์ส่วนตน แสดงว่าท่านไร้ความคิดที่จะตรัสรู้
หากท่านยึดติดกับตำแหน่ง แสดงว่าท่านไร้สัมมาทิฏฐิ.."
พระสังฆราชศากยตรีซิน รัตนา วัชระ (พระสังฆราชลำดับที่ 42) และครอบครัวของท่าน
โฆษณา