17 ม.ค. 2021 เวลา 11:29 • การศึกษา
วันครู 16 01 2564
น้อมรำลึกถึงบุญคุณครูทุกท่านครับ...ตอนจบ ป.7 กะว่าน่าจะได้บวชเณร บวชเรียน ด้วยไม่อยากไปเข้าเรียนในถึงเมืองเชียงใหม่ มันไกล ค่าใช้จ่ายสูง พ่อแม่ก็มีลูกหลายคน ครูสุพัตรา เดชวงศ์ญากับครูพินิจ ศิริปัญญา และครูดวงคำ (3ท่านที่เห็นในรูป ซึ่งครูสุพัตราให้ไว้เป็นที่ระลึก มีใบเดียวนี้)บอกว่าให้ไปเข้าโรงเรียนที่ตัวอำเภอ เขาจะเปิดโรงเรียนมัธยมใหม่ เราแล่นไปสอบ ได้หมายเลข ดว.002 ส่วนคนที่1 ชื่อ วันเพ็ญ(เพื่อนเรียก แดงฝรั่ง ตัวขาวสูง ส่วนเราตัวดำเตี้ยอยู่หางแถว) คนที่3 ชัย(เป็ด)
เขา ม.ศ.1โรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม แต่อาศัยเรียนที่อาคารหลังเตี้ยของโรงเรียนบ้านเชิงดอย เราพบแต่ครูหนุ่มครูสาวใจดีมีเมตตา ครสมบูรณ์ ไชยแก้ว สอนพละ ทุกคนชอบเรียนกับครผูมาก เมือนน้องเรียนกับพี่ชายประมาณนั้น มันมีบรรยากาศเป็นกันเอง สนุกสนาน เฮฮาสนิทสนม เชื่อฟัง เข้าค่าย ฝึกซ้อมจริงจัง พวกเรายกให้ท่านเป็น โค้ชชีวิต ทีเดียว
ครูอรพิน เพียรจริง สอนภาษาไทย (คนที่ท่านแนะว่า ถ้าเธอยู้ตัวหนังสือที่เอียงเหมือนรั้วสะลาบนั้นตั้งขึ้น ลายมือเธอจะสวยมาก เราพยายามตึ้งตัวหนังสืออยู่ปีกว่าแน่ะ) ลายมือเราเข้าประกวดได้ เขียนเรียงความได้รางวัล จนมาถึงเขียนเรื่องสั้นติดรางวัลระดับกระทรวง เชียวนะ เพราะครูแท้ๆ
ครูรัตนาภรณ์ คงมั่น หรือครูติ๋ว(เสียชีวิตแล้ว) สอนเรขาเข้าใจง่ายมากๆ เราชอบเรขา เราชอบเขียนแบบ( เราเขียนแบบบ้านของตนเอง และอีกหลายหลัง)สอนเลข แถมวิชาร้องเพลง นี่แหละที่เรากลัวจนสั่นเป็นวอกตกน้ำ ครูว่า "ชนใดไม่มีดนตรีการในสันดานเป็นคนชอบกลนัก ครูว่าเธอทำได้ ครูเอาใจช่วย" คำนี้ ทำให้มันฮึกเหิมนัก จริงๆเราร้องเพลงได้นะ เราร้องเพลงก้านแก้วตามพ่อ และร้อวเพลงสุนทราภรณ์ตามพี่ ซึ่งเล่นดนตรี เขียนบทกวีเก่งมาก(ส่งศิลป์ รักกวี ไง เขาดังตามสถานีวิทยุแถวภาคเหนือ) สำคัญคือเราไม่กล้าพูด ไม่กล้าไปยืนบนเก้าอี้หน้าชั้น ไม่กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะๆไม่กล้าสบตาใครๆ โหใช้เวลาเกือบ2ปี กว่าจะกล้าขึ้นไปประกวดร้องเพลงที่สถานีวิทยุ วปถ.2 ค่ายกาวิละ แล้วส่งผลให้ไปเป็นกองเชียร์รำวง ในกาลต่อมา
พอ ม.ศ.2 ย้ายไปเรียนที่สนามชนวัว เลยตัวอำเภอไปทางสันกำแพง แยกไปบ้านกิ่วแล บ้านบอน เป็นอาคารชั่วคราวกุ้มเจ้น มุงหญ้าคา พื้นดินอัดขี้ฝุ่นเชียว ตอนนี้มี
ครูอนันต์ เศรษฐกร(เสียชีวิตแล้ว) สอนภาษาอังกฤษ ท่านดุมากพูดฝรั่งปนไทยแต่ด่ากำเมืองแบบถองแกะถองแก๋น เวลาดุท่านจะกะพริบตาถี่ๆรัวๆ เราเรียว่า ต๋าหยาบ แต่นอกเวลาท่านใจดีมาก เราไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ มันยากสุดๆ ครั้งหนึ่งท่านให้ไปหาสลากยา ขนม อะไรก็ได้ แล้วคัดคำภาษาอังกฤษลงสมุดมา 50 คำนี่แหละ ดูว่าง่ายแต่สมัยนั้นมันหาของพวกนี้ยากมาก แต่เมื่อครบอาทิตย์เรามีงานส่ง ครูถามว่า ทั้งหมดนี้เธอรู้ความหมายกี่คำ มึนตึ๊บ น่าจะไม่ถึง 10 "นั่นล่ะที่เธอต้องเรียนให้มากขึ้น เธอทำได้"(อีกละ) เราตั้งใจขึ้นอีกนิดหนึ่ง ยังนึกเสียดายอยู่ที่เรียนได้ไม่เต็มที่ ถึงตอนนี้เราเป็นThai contributor จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษล้วนๆ เกือบทุกวัน ดีมีกูเกิล พอถูไถไปได้
ครูเกษม นนทรีย์ ท่านสอนเกษตรกรรม ทำจริง ขุดดินดายหญ้าผสมปุ๋ย จนตัวดำกล้าขึ้น เอาความรู้ไปใช้ในสวนที่บ้าน สวนผักบ้านปู่น้อยเลิศ แม่อุษามีชื่อเสียงมาก จนแม่ค้าในเวียงมารับถึงที่ ลูกแต่ละคนมีแปลงผักเป็นของตนเอง ดูแลเอง ตอนนี้เราก็ยังติดกับการปลูกผักไม้ไส้เครือไว้กิน
ครูชัยศักดิ์ โฆษะโยธิน ท่านมาดเซอๆ ผอมสูงไว้หนวด พวกเราเรียกท่าน ว่าครูหนวด ใส่เสื้อหนัง ขี่รถเครื่องแบบเท่ น่าจะเป็นรถMZ สีดำ ท่านสอน ศิลปะ เราชอบมากที่ได้ลงมือใส่ร้ายป้ายสีละเลงเ าตามใจชอบ "มันงามมันเด่นตรงไหนวะ " ท่านมักถามอย่างนี้ ถ้าเราบอกที่งามของภาพตนเองได้ คะแนนก็จะออกมาดี และเราก็ใช้วิชาศิลปะหากินมาได้จนเดี๋ยวนี้
พอขึ้น ม.ศ.3 ย้ายเข้าโรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม ของตนเอง ณ ป่าดงดิบบ้านแม่ดอกแดง (คือที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบันนี้) เป็นป่าไม้รัก ที่คนมักแพ้พิษรักนั่นแหละ หน้าแล้งแห้งไข่ราวเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์มันจะออกดอกสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพู แล้วก็แดงสดไปทั้งป่า โรงเรียนมีบริเวณกินเนื้อที่หลายไร่เป็นม่อนเนินดอย สนามกว้างสุดตา แต่มีอาคารเรียนแค่ครึ่งหลัง (งบประมาณคนละครึ่ง)มีอาคารเรียนชั่วคราว มุงคา ฝาลม อยู่ด้านล่าง เราโชคร้ายได้อยู่อาคารใหม่ด้านบน และงานหลักคือปรับพื้นที่ ขุดตอไม้ ขนดิน ขนหิน ฯลฯ
ตอนนี้ีมี ครูศรศักดิ์ คำหอม เป็น ครูใหญ่ ครูสวัสดิ์ สุมามาลย์ สอนคณิต ครูอรรณพ สอนสังคม ประวัติศาสตร์ ครูสุชาติ สอนภาษาไทย(แล้วจะว่าต่อ มันจะยาว ใครมีข้อมูล หรือข้อมูลบางอย่างอาจคลาดเคลื่อน ด้วยหน่วยความจำของคนเลยวัยเกษียณ)
...เราแบกเป้ 1 ใบไปเป็นบรรจุเป็นครูในยุคที่มีคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่สีชมพู ชายแดนไทย-ลาว ไม่มีไฟฟ้า ประปา ถนนดินที่มีหญ้าออกตามสันกลาง ไม่มีตลาด มีแต่ป่าและลำห้วยให้หากิน เราไม่กลัวคอมมิวนิสต์ เราไม่กลัวแม้วแดง เราไม่กลัวผีในป่าลึกดงดำ แต่เรากลัวปลิงที่สุด เวลาท่องส่องปลาในน้ำในลำห้วย มันพลิ้วมาในน้ำเป็นขบวน
เราไม่กลัวข้าเศิกศัตถู เพราะเหนือหมู่บ้านขึ้นไปมีกองร้อย ชขส. คอยระวังป้องกันให่อุ่นใจอยู่ มันเป็นแดนกันดารอันตรายในสมัยนั้น แต่ท่านเชื่อไหม พ่อหลวงของเราได้เสด็จฯมาถึงก่อน.. และทรงปลูกต้นขนุนไว้ในค่าย เป็นขวัญกำลังใจในยามศึกสงคราม จนข้าศึกพ่ายไปในที่สุด
ยังมีครูแม่ที่คอยเคี่ยวเข็ญให้อ่านเขียนหนังสือ สอนงานบ้านการเรือน ทำอาหารกับข้าวสารพัด สอนให้ค้าขาย ต่อรอง แม่เป็นแม่ค้าที่ชอบอ่านหนังสือมาก ครูพ่อที่สอนวิชาช่าง วิชาการทำมาหากิน เล่านิทาน อ่านค่าวจ๊อยกั๋นโลง ขับลำนำเพลงซอให้ฟัง บางคราวเป่าขลุ่ย บางคืนก็ดีดซึง
ส่งศิลป์ รักกวี พี่ชายเรา ครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขียนกลอน ครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ ท่านกรุณาแนะนำการเขียนเรื่องสั้นเป็นการส่วนตัวทางไปรษณียบัตร และนักเขียนทุกท่าน
ทุกคนมีครู
“ ครู”
ครูคือคน คนเป็นครู ใช่อยู่ที่
ปริญญา มากมี หลายสาขา
ใช่อยู่ที่ เครื่องแบบ ติดเสมา
ใช่เรียกคำ นำหน้า ว่าอาจารย์
ใช่รออยู่ กับเด็ก จนเกษียณ
ใช่มุ่งส่ง นักเรียน พอพ้นผ่าน
ใช่เพียงแค่ จับชอล์ก เขี่ยกระดาน
ใช่มุ่งสร้าง ผลงาน เพื่อขั้นซี
ครูนั้นคือ ผู้แนะแนว ทางชีวิต
สอนให้คิด สรรค์สร้าง ทางสุขศรี
สอนให้รู้ ถูกผิด คิดสิ่งดี
สอนให้มี คุณธรรม ประจำใจ
ครูสร้างคน ให้เป็นคน ประเสริฐสุด
สร้างวิญญาณ มนุษย์ ผุดผ่องใส
สร้างสังคม เก่งกล้า ประชาธิปไตย
สร้างเด็กไทย ต่อสู้ รู้พากเพียร
ครูคือผู้ แก่กล้า เก่งดุจปราชญ์
ครูคือผู้ เฉลียวฉลาด รักอ่านเขียน
ครูคือผู้ รอบรู้ คงแก่เรียน
ครูคือผู้ ปรับเปลี่ยน สังคมคน
ครูจึงเป็น ผู้สร้าง ที่ยิ่งใหญ่
ครูสร้างให้ คิดเป็น ทำเป็นผล
ครูสร้างด้วย อุตสาหะ มานะทน
ครูทำเพื่อ ปวงชน ใช่ตนเอง
"ศรีอุษา"
นักกลอนไร้สำนัก
โฆษณา