17 ม.ค. 2021 เวลา 14:25 • ดนตรี เพลง
“พระคุณที่สาม งดงามแจ่มใส” มาเรามา anylyze เนื้อเพลงครูกัน
เมื่อวานเป็นวันครูสินะ ซึ่งเราควรจะเขียนบทความนี้เมื่อวาน แต่ น่ะ ขี้เกียจ เขียนวันนี้ก็ได้
ผมไม่รู้ว่าประเทศอื่นในแถบ South-East Asia นั้นเป็นแบบไทยมากแค่ไหน (นึกเอาเองว่าเป็นนั่นแหละ แต่ไม่รู้ดีเทล) แต่คำว่าครูน่ะมันไม่ได้หมายถึงคนที่ประกอบอาชีพครูอย่างเดียว สมุดหนังสือนี่ห้ามเดินข้ามนะ เป็นครู เครื่องดนตรีต้องไหว้ก่อนเล่น บรรพบุรุษที่ตายไปแล้วเราก็ต้องไหว้ครู ไหว้ครูดนตรีทีไรต้องเรียกครูดนตรีสมัยต้นรัตรโกสินทร์ขึ้นมาไหว้ ทำพิธีครอบครูให้เทวดามาคุ้มหัว สรุปเทพเจ้าก็เป็นครูเหมือนกัน ขนาดหนังผู้ใหญ่ที่เราแอบดูกันครั้งแรกยังมีคนยกนักแสดงให้เป็นครูเลย แหม มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
สรุปแล้วครูนั้นเป็นมากกว่าคน ครูมีสถานะสูงกว่านั้น ครูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะมาลบหลู่ไม่ได้
เมื่อเราลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือครูจึงทำอะไรก็ได้ (นึกถึงเทพอินเดียหรือเทพกรีก ไม่ว่าเทพตนนั้นจะบรรลัยแค่ไหน แต่เทพก็คือเทพ) จริง ๆ อยากจะใช้คำว่านี่คือคอนเซ็ปต์ของการเป็นครูในโลกตะวันออก แต่ไม่อยากไปถึงขนาดนั้นเพราะไม่ได้ลงลึกเรื่องสถานะการเป็นครูขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อครูมีสถานะเป็นเช่นนั้น ครูจึงเป็นแม่แบบให้นักเรียน หมายความว่าครูนั้นเป็นต้นแบบให้แก่ผู้เรียน ครูทำยังไงนักเรียนทำยังงั้น ครูผสมยาแบบนี้นักเรียนก็ต้องทำแบบนี้ ครูตีระนาดแบบนี้นักเรียนก็ตีแบบนี้ และยังรวมไปถึงพฤติกรรมของครูด้วย นักเรียนจะมีพฤติกรรมที่ครูมองว่าไม่ดีไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ผู้เรียนไม่อยู่ในสถานะที่จะเถียงอะไรได้ด้วย เพราะครูเป็นอีกสถานะหนึ่ง
ซึ่งอันที่จริงแล้วก็น่าแปลกใจมาก ๆ ที่เนื้อเพลง “พระคุณที่สาม” มีคำร้องแบบนั้น เพราะเพลงนี้เมื่อพิจารณาดี ๆ แล้วเป็นการเล่าถึงพระคุณของครูในแบบที่ครูเป็นคน เป็นสามัญชนเหมือนนักเรียน
1
ลองมาพิจารณาเนื้อเพลงกัน “ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น” ซึ่ง เราจะอุทิศส่วนกุศลให้ในสองกรณีนะครับ หนึ่งคือคนที่ตายไปแล้ว เช่นเพื่อนผมตายผมก็ไปทำบุญอุทิศให้เพื่อนผม สองคืออวยพรให้คนด้วยกัน เช่นเพื่อนผมอีกคนหนึ่งออกทะเลไปตามหาวันพีช ผมเลยอวยพรให้มันรอดตายจากเจ็ดเทพโจรสลัด เป็นต้น เราไม่ทำบุญให้อะไรที่สูงกว่านะครับ เรามีแต่ขอให้คนบนนั้นอุทิศอะไรลงมา คุณไม่ทำบุญให้พระพิฆเณศ แต่คุณสวดขอให้พระพิฆเณศทำบุญให้คุณ เป็นต้น
ท่อนต่อมา “ครูมีบุญคุณจะต้องเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า” อ้าว นี่ไง เค้าก็บอกว่าครูอยู่สูงกว่านักเรียน ไม่ใช่ครับ ต่างกัน เทพไม่จำเป็นต้องไปยกเขา ต่อให้คุณด่าพระนารายน์แค่ไหน พระนารายน์ก็อยู่สูงกว่าคุณอยู่ดี กลับกัน ถ้าคุณศรัทธาหรือเคารพใคร คุณก็จะยกเขาเอาไว้เหนือเกล้าเช่นกัน คุณไม่ทำหรอ ถ้าผมช่วยคุณไม่ให้รถชนตายคุณก็ยกผมเอาไว้เหนือเกล้าเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้สูงเป็นเทวดา
ท่อนฮุคนี่ชัดที่สุด “แต่ว่าใครหนอใคร เปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง” คำว่าเรือจ้างคือเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เปรียบเปรยว่าส่งคนถึงฝั่ง รับเงิน แล้วจบกัน แล้วก่อนหน้านั้นครูไ่ม่ใช่เรือจ้างรึไง? ก็ไม่แน่ ครูในอดีตกาลอาจจะไม่ใช่อาชีพ ซึ่งก็อาจจะจริง คิดดูว่าสำนักดาบสำนักดนตรีอะไรพวกนี้นักเรียนคงไม่มีปัญญาจ่ายเงินให้ครูแล้วเข้ามาอยู่ในสำนัก เด็กวัดเองก็ไม่ได้ใส่บาตรพระอาจารย์ที่ให้ความรู้และข้าวก้นบาตร ครูโดยอดีตนั้นไม่ได้รับเงินจากการสอน แต่อยู่ได้จากทางอื่น เช่นรับเงินจากการเป็นข้าราชการ หรือเป็นพระ อะไรทำนองนั้น
การเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้างจึงไม่ใช่แค่เพราะว่าครูน้อยใจ แต่เพราะว่าสถานะของครูมันเปลี่ยนไปแล้วต่างหาก
อาชีพครูเกิดขึ้นในไทยอย่างน้อย ๆ ก็ปี พ.ศ. 2435 นะครับ เมื่อสมัยรัชการที่ห้าได้มีการจัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) วันครูมีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งระยะเวลา 75 ปีอาจดูนานมากก็จริง แต่เกือบร้อยปีที่แล้วโลกคงไม่ได้หมุนเร็วเหมือนขนาดนี้ แถมวันครูเองก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อยกย่องครูโดยเฉพาะ ที่แน่ ๆ คือครูมีสถานะเป็นอาชีพแบบจริงจังขึ้นมา ผ่านระบบการศึกษาแบบสากล และสังคมไทยตระหนักถึงมันเป็นอย่างดี
ระบบการศึกษาที่ไม่ได้ออกแบบให้ครูเป็นเทพเจ้า สร้างความยุ่งยากอย่างมากให้การศึกษาไทยที่ยกครูไว้สูงเยี่ยงเทพ เพราะในขณะที่พัฒนาการด้านการศึกษาทั่วโลกสนับสนุนให้ครูเป็นผู้จุดประกายให้นักเรียนพัฒนาตนเองในรูปแบบที่ต่างกันออกไป แต่ครูในประเทศไทยยังมีสถานะเป็นแม่พิมพ์อยู่ และการนำครูให้กลายมาเป็นอาชีพลดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปอีก ครูไม่ได้เป็นผู้ให้อย่างเดียว แต่เป็นผู้รับด้วยในรูปแบบของค่าจ้าง หรือเงินเดือน การมีวันครู หรือพิธีวันครู หรือเพลงเพื่อครูอะไรก็ตามแต่จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ย้ำเตือนอยู่ว่า ครูเนี่ยยังเป็นของสูงอยู่นะ ไม่ใช่เรือจ้างอย่างที่เขาว่ากัน
เอาล่ะ มาถึงขนาดนี้ในท่อนท้ายของเพลงคงไม่ต้องวิเคราะห์อะไรกันอีก เพราะพูดถึงครูในความเป็นมนุษย์สูงมาก จนต้องขอให้ครูไม่เจ็บไม่ป่วย ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเพลงพระคุณที่สามจริง ๆ แล้วเป็นเพลงที่แปลก เพราะเป็นเพลงที่สร้างมาเพื่อยกย่องครูในขนบโบราณ แต่กลับกล่าวอ้างถึงครูในขนบแบบสากล ซึ่งอาจจะมองได้หลายแบบ เพราะคงไปถามนักแต่งเพลงไม่ได้แล้ว และคงไม่ขอเดาอะไร
แน่นอนว่าทุกวันนี้ครูไม่ได้ใกล้เคียงกับสมมติเทพแล้ว และครูห่วยแตกก็มีอยู่เยอะแยะ จนทำให้เด็ก ๆ มันกระทำการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อวิจารณ์ครูในวันครู ก็อยากบอกคนที่ทำอาชีพครูว่าไม่ต้องท้อแท้ไป เพราะเด็กรุ่นนี้มันบียอนด์แล้ว มันเลือกเคารพคนที่มันรู้สึกว่าคู่ควร ไม่ใช่เพราะเราประกอบอาชีพครู ถ้ามั่นใจว่าเราทำเพื่อเด็ก ๆ ล่ะก็ เด็ก ๆ มันสัมผัสได้นะ อ้อ อย่าไปเหลิงกับวันไหว้ครูนักเลย ประเพณีอะไรกัน จัดโดยครู แล้วต้อนให้เด็กมาทำพิธีกราบครู ถ้าโรงเรียนไหนยกเลิกวันครูแต่เด็ก ๆ มันจัดกันเองสิ นั่นล่ะวันไหว้ครูของแท้ (แต่ถ้ามีใครเอาดอกไม้ไปไหว้ครูหลังไมค์นั่นอาจจะอีกเรื่องนึงนะ) อย่าลืมพัฒนาตัวเองด้วยเสมอ
ส่วนนักเรียน อย่างที่ได้อ่านไปครับว่า ระบบการศึกษาไทยมันไม่ได้มีปัญหาแค่ที่ตาเห็น มันหยั่งรากลึกตั้งแต่วัฒนธรรม ครูเวร ๆ มีจริงครับ เข้าใจ พวกเราอยู่ในยุคสมัยที่วุฒิภาวะเป็นเรื่องสำคัญ สู้กับครูและระบบด้วยวุฒิภาวะที่ดี
แต่ถ้าเจอครูที่น่าเคารพล่ะก็ คุยกับเค้าเยอะ ๆ ครับ เชื่อเสมอว่าครูที่ดีคือครูที่สร้างวิสัยทัศน์เป็นมากกว่าแค่ให้ความรู้
โฆษณา