17 ม.ค. 2021 เวลา 18:35 • ประวัติศาสตร์
ประวัติหลวงปู่ครูบาบุญมา ภสฺสวโร
(บุญมา นุเว)
อดีตเจ้าอาวาสวัดฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
อายุ 78 พรรษา 58
ชาติภูมิ
หลวงปู่บุญมา ฉายา ภสฺสวโร (บุญมา นุเว) ถือกำเนิดเมื่อพุธ ที่ 10 กันยายน 2473 แรม 3 ค่ำ เดือน 12 (เหนือ) ณ บ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย (ในสมัยนั้น) หลวงปู่ฯ เป็นบุตรลำดับที่ 4 ของพ่อแก้ว แม่บัว นุเว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 8 คน
ในวัยเด็กหลวงปู่ฯ เป็นคนที่พูดน้อย มีความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง ฐานะทางครอบครัวค่อนข้างยากจน ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูน้อง ๆ ตามวีถีคนสมัยก่อน (จากการสอบถามจากหลวงปู่ฯ เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ฯเล่าให้ฟังว่า บ้านฮวกสมัยก่อนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขามีต้นไม้ ไผ่รวก (ไม้ฮวก) ขึ้นเยอะแยะมากมาย ไม่ค่อยมีคนมาอยู่อาศัย อาชีพหลัก ๆ คือการหาของป่า สัตว์ป่า และยาสมุนไพรพื้นบ้าน ไปขายหรือไปแลกข้าวเปลือกข้าวสารในตัวเมืองเชียงคำ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านในการรักษา โดยยาสมุนไพรพื้นบ้านเป็นหลัก)
บรรพชา
หลวงปู่ฯ เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2488 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) ปีระกา ขณะอายุได้ 15 ปี ณ วัดฮวก ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย (ในสมัยนั้น)
อุปสมบท
หลวงปู่ฯ เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ตรงกับวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) ซึ่งเป็นวันเดียวกับงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พัทธสีมาวัดฮวก ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย
พระครูบาใจ เป็น พระอุปัชฌาย์
พระแก้ว เป็น พระอนุสาวนาจารย์
พระธรรมจักร เป็น พระกรรมวาจาจารย์
ได้รับฉายาว่า ภสฺสวโร แปลว่า พระผู้ประเสริฐด้วยรัศมี, พระผู้สว่างอันหาความมืดมนไม่ได้
หลวงปู่ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดฮวก ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย (ในสมัยนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2499 หลวงปู่ฯ ท่านเป็นพระนักพัฒนา มีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ มีเมตตาธรรมต่อพุทธศาสนิกชนที่เข้ามาสักการะกราบไหว้อยู่เป็นประจำ อบรมสั่งสอนให้คน ในชมรมรู้รักสามัคคี รู้อภัยและเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง
หลวงปู่ฯท่านมีความรู้ความชำนาญด้านอักษรภาษาล้านนา มีความรู้ด้านคาถาอาคมและยาสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อช่วยเหลือปัดเป่าภัยร้ายและรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับศิษย์ที่มาขอรับความเมตตาจากหลวงปู่ฯ ซึ่งท่านไม่เคยปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเลยสักครั้ง
ปลุกเสกเหรียญรุ่นแรก
ในช่วงราวกลางปี พ.ศ. 2546 หลวงปู่ฯได้ดำริกับลูกศิษย์ใกล้ชิดว่า หลวงปู่ฯอยากสร้างวิหารหลังใหม่ เนื่องจากวิหารหลังเดิมเป็นวิหารที่มิได้ยกพื้นสูงเวลาฝนตกน้ำฝนก็มักจะไหลเข้าไปในวิหารไม่สามารถทำสังฆกรรมหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปกติ หลวงปู่ฯและคณะศิษยานุศิษย์จึงประชุมหารือกันว่าจะดำเนินการจัดสร้างเหรียญหลวงปู่ฯ ขึ้นเพื่อหาทุนทรัพย์ในการสร้างวิหารวัดฮวกแทนหลังเดิม ที่ชำรุดทรุดโทรม
ในปี พ.ศ. 2547 หลวงปู่ครูบาบุญมา และคณะศรัทธาวัดฮวก คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ฯ ได้ประกอบพิธีปลุกเสกเหรียญหลวงปู่บุญมา ภสฺสวโร (รุ่นแรก) โดยหลวงปู่ฯท่านนั่งอธิษฐานจิตเหรียญรุ่นนี้ด้วยตัวท่านเอง นอกจากท่านแล้วยังมีพระมหาเถระที่ร่วมปลุกเสกเหรียญในครั้งนี้ ได้แก่
1. พระครูอมรธรรมาภิรัต เจ้าอาวาสวัดป่าแงะเมืองชุม อ.ป่าแดด จ.เชียงราย
2. พระครูพิพิธธรรมสาทร เจ้าคณะอำเภอป่าแดด วัดป่าแงะเมืองชุม อ.ป่าแดด จ.เชียงราย
3. พระครูโกศลอรัญวัตร เจ้าคณะตำบลภูซาง วัดป่าสัก อ.ภูซาง จ.พะเยา
4. พระครูประดิษฐ์ธรรมสุนทร เจ้าคณะตำบลป่าสัก วัดแก อ.ภูซาง จ.พะเยา
5. พระอาจารย์สมศักดิ์ สมถจิตฺโต วัดป่าสักธรรมพิทักษ์มงคล อ.ภูซาง จ.พะเยา
ความพิเศษของเหรียญรุ่นนี้คือ เป็นเหรียญที่มีความคมชัดและโดดเด่นมาก ยันต์ด้านหลังเหรียญชื่อว่า “ยันต์สิริแปดเหลี่ยม”
ในช่วงหลังปลุกเสกรุ่นแรกเสร็จสิ้น หลวงปู่ฯท่านนำมาแจกให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ไปหาท่านหรือบางโอกาสก็จะนำไปแจกในที่ประชุมคณะสงฆ์บ้าง จนมีคนแซวท่านว่า “เหรียญนี้รุ่นขายบ่ออกกะตุ๊ลุง เอามาแจกจะอี้นี้” หลวงปู่ฯท่านก็หัวเราะ และบอกกลับไปว่า “เก็บไว้เน้อ วันหน้าบ่มีแหมแล้ว” แล้วท่านก็หัวเราะ
ปลายปี 2547 เป็นปีแรกที่อำเภอภูซาง ได้จัดงานตักบาตรสองแผ่นดิน ซึ่งครั้งนั้นหลวงปู่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) มาพักที่ วัดฮวก เพื่อร่วมบิณฑบาตรในช่วงเช้า ณ บริเวณกิ่วหก ด่านชายแดนบ้านฮวก หลวงปู่ฯบุญมา ได้ถวายการต้อนรับหลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ด้วยความเรียบร้อย ช่วงหนึ่งมีการสนทนากันถึงวัดฮวก โดยหลวงปู่พระอุบาลีฯ ได้สอบถามหลวงปู่ฯบุญมาว่า “วิหารหลังนี้ ฝังสีมาเมื่อใด ไผเป็นประธานสงฆ์” หลวงปู่บุญมาท่านตอบว่า “ผมเป็กข์ได้ 3 พรรษาวัดฮวกฝังสีมา สมัยนั้นพระมหาอินสม (พระเมธังกรญาณมุนี) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย มาเป็นประธานสงฆ์ นั่งล้องัวมาได้ 2 วันกว่าจะมาถึงครับ”ทั้งหลวงปู่พระอุบาลีฯ และหลวงปู่บุญมา ต่างก็หัวเราะชอบใจ พูดเรื่องเก่า ๆ สู่กันฟัง
มรณกาล
ช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 หลวงปู่ฯได้สั่งการให้ลูกศิษย์ใกล้ชิด นำตำราคาถาอาคมของท่าน มาเผาทำลายเพราะเกรงว่าหากท่านมรณภาพไปแล้ว จะมีคนนำคาถาอาคมที่ท่านสืบทอดมาไปใช้ในทางที่ผิด ในการทำลายครั้งนั้นท่านได้กำกับดูแลด้วยตัวท่านเอง หลังจากนั้นไม่นานท่านเกิดอาพาธ ต้องเดินทางไปรักษา ณ โรงพยาบาลเชียงคำ อยู่หลายครั้ง และครั้งหลังสุดคณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าต้องทำการผ่าตัดที่ช่องท้องเพื่อทำการรักษา แต่ด้วยหลวงปู่ฯท่านเป็นพระเกจิ มีวิชาอาคมติดตัว ทำให้มีดหมอไม่สามารถผ่าช่องท้องของท่านได้ กลุ่มคณะศิษยานุศิษย์ได้ปรึกษาร่วมกันกับทีมคณะแพทย์ว่า ต้องขอขมาหลวงปู่ฯและขันครูบาอาจารย์ที่อยู่บนหัวนอนของหลวงปู่ฯเสียก่อน จึงจะสามารถทำการรักษาได้ตามปกติ แต่ด้วยสังขารของหลวงปู่ฯที่สุขภาพไม่แข็งแรง กอปรกับหลวงปู่มีอายุมาก การฟื้นฟูร่างกายจึงเป็นเรื่องยากพอสมควร
หลวงปู่ครูบาบุญมา ภสฺสวโร มรณภาพในวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 (เหนือ) สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58
ภายหลังจากหลวงปู่ฯครูบาบุญมามรณภาพ คณะศรัทธาวัดฮวก ได้ตั้งศพหลวงปู่ฯ เพื่อบำเพ็ญกุศล ณ วัดฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา และทำการเก็บศพหลวงปู่ฯครูบาบุญมาไว้เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ฯ ได้มากราบไหว้สรีระสังขารของท่านนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิริรวมเก็บสรีระสังขารของหลวงปู่ฯ ทั้งสิ้น 12 ปี (2551 – 2562)
เหรียญหลวงปู่ครูบาบุญมา ภสฺสวโร (รุ่นแรก) เริ่มได้รับความนิยมหลังจากที่หลวงปู่ฯมรณภาพได้ประมาณ 1 ปี สืบเนื่องจากมีนายทหารท่านหนึ่ง ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ ณ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนไปได้พกเหรียญหลวงปู่ครูบาบุญมาคล้องคอไปด้วยหนึ่งเหรียญ ในวันที่ปฏิบัติงานปรากฎว่ามีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ นายทหารคนดังกล่าวถูกสะเก็ดระเบิดทั่วร่าง เสื้อผ้ากระจัดกระจาย แต่สะเก็ดระเบิดไม่สามารถทะลุผิวหนังของนายทหารท่านนั้นแม้แต่น้อย ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากบารมีของหลวงปู่ครูบาบุญมาอย่างแน่นอน อีกเหตุการณ์หนึ่ง ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง นำเหรียญหลวงปู่ครูบาบุญมา แขวนไว้ในรถ ขณะขับรถ เกิดอุบัติเหตุแหกโค้ง สภาพรถพังยังเยิน แต่ด้วยบารมีหลวงปู่ครูบาบุญมา ทำให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุครั้งนั้นมาได้ ด้วยเหตุนี้เหรียญหลวงปู่ ครูบาบุญมา ภสฺสวโร จึงได้รับความนิยมจากเซียนพระในท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่อย่างมาก
ในนามศิษยานุศิษย์หลวงปู่ครูบาบุญมา ภสฺสวโร
รวมรวมและเรียบเรียง
สนับสนุนข้อมูลโดย : พระครูโกศลอรัญวัตร จต.ภูซาง / นายสมศักดิ์ ปัญจุรี
โฆษณา