18 ม.ค. 2021 เวลา 04:04 • ประวัติศาสตร์
ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี เป็นเรื่องราวของสตรีชาวจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ซึ่งเดินทางติดตามพี่ชายจากเมืองจีนมาที่ปัตตานี ประมาณสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครองกรุงศรีอยุธยา หรือรายอฮีเยาครองปัตตานี ด้วยความเป็นสตรีกล้าหาญ ใจเด็ด วาจาสิทธิ์ และยอมพลีชีพตามคำมั่นสัญญาเมื่อทำหน้าที่ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ชาวไทย ชาวจีน และชาวมุสลิมเชื้อสายจีนพากันยกย่อง ศรัทธา นับถือเป็นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ศักดิ์สิทธิ์
ลิ้มกอเหนี่ยว หรือกอเหนี่ยวแซ่ลิ้ม เดินทางจากเมืองจีน โดยคุมเรือสำเภามา ๙ ลำ เพื่อติดตามพี่ชายชื่อลิ้มเตาเคียน (หรือลิ้มโต๊ะเคี่ยม) ซึ่งเดินทางมาค้าขายที่ปัตตานี และหายไปจากบ้านมานานหลายปี บิดามารดาและญาติพี่น้องพากันเป็นห่วง น้องสาวจึงอาสาติดตามพี่ชาย และตั้งสัจจะวาจาไว้ว่าหากทำการไม่สำเร็จ นางจะขอยอมตาย ในที่สุดลิ้มกอเหนี่ยวเดินทางถึงปัตตานี และพบพี่ชาย ขณะนั้นเป็นนายช่างกำลังสร้างมัสยิดที่บริเวณบ้านกรือเซะ และกำลังหล่อปืนใหญ่เพื่อถวายรายอฮีเยา สตรีเจ้าเมืองปัตตานี ลิ้มกอเหนี่ยวพยายามอ้อนวอนพี่ชายกลับสู่เมืองจีน แต่ลิ้มเตาเคียนปฏิเสธบอกว่าตนเป็นมุสลิมและมีครอบครัวแล้ว น้องสาวจึงผิดหวังและเสียใจอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้มัสยิดนั่นเอง
เล่ากันว่าลิ้มเตาเคียนสร้างมัสยิดไม่สำเร็จ คือก่อหลังคาครั้งใดก็ถูกฟ้าผ่าครั้งนั้น จนถึงสามครั้งสามครา มัสยิดที่กรือเซะจึงสร้างค้างคามาจนทุกวันนี้ ผู้คนพากันเชื่อว่าเพราะคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวนั่นเอง นอกจากนี้ยังเล่าถึงลิ้มเตาเคียนจบชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากการทดลองยิงปืนใหญ่ และปืนใหญ่กระบอกนั้นชื่อนางพญาตานี เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ชนะศึกปัตตานี จึงนำปืนนางพญาตานีไปไว้ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
ส่วนต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นนั้น มีผู้นำมาแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นอกจากนี้ตำนานยังเล่าถึงสำเภา ๙ ลำที่นำลิ้มกอเหนี่ยว และบริวารมาสู่ปัตตานี ปรากฏว่าต่อมาสำเภา ๙ ลำ กลายเป็นสน ๙ ต้น เรียกตามภาษามลายูว่า “รูสะมิแล” (รู = ต้นสน, สะมิแล = ๙) ด้วยความเป็นผู้มีใจเด็ด กล้าหาญ มีวาจาสัตย์ และวาจาสิทธิ์ ทำให้ชาวปัตตานี และชาวจังหวัดใกล้ไกล ทั้งไทย-จีน และมุสลิมเชื้อสายจีนพากันยกย่องและศรัทธาลิ้มกอเหนี่ยวเป็นเจ้าแม่ศักดิ์สิทธิ์มาจนทุกวันนี้ วิถีชีวิตชาวไทยจีน และมุสลิมเชื้อสายจีน รวมทั้งชาวจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์ ยังนับถือและศรัทธาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ศาลเจ้าแม่ในตลาดปัตตานี ทุกวันนี้จึงมีผู้คนทั้งใกล้ไกลไปนมัสการ และบนบานขอความช่วยเหลือ เช่นขอให้หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือขอให้ของหายได้กลับคืน
ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นเรื่องเล่าประเภทมุขปาฐะ ต่อมามีผู้นำมาเขียนและตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเผยแพร่ทั้งภาษาไทย และภาษาจีน มีภาพประกอบสวยงาม นอกจากนี้มีการศึกษาเปรียบเทียบตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กับประวัติศาสตร์ปัตตานี รวมทั้งการค้นคว้าทางศิลปะและโบราณคดียุคชาวจีนรุ่นแรกๆ ที่เดินทางมาถึงปัตตานี ปัจจุบันชาวปัตตานีจัดงานสมโภชทุกปีในวันเพ็ญเดือนสาม เพื่อระลึกถึงความดีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ขาดเสียมิได้คือขบวนแห่รูปสลักเจ้าแม่ ตามด้วยขบวนต่างๆ เช่นขบวนแห่ธง แห่ป้าย แห่กระเช้าดอกไม้ และเชิดสิงโต ประโคมด้วยกลองและม้าล่อ กลางคืนมีมหรสพต่างๆ เช่นงิ้วและโนรา ชาวบ้านบอกว่าเจ้าแม่โปรดการแสดงทั้งสองนี้
โฆษณา