Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
19 ม.ค. 2021 เวลา 00:48 • ปรัชญา
รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว
...นี้เป็นโอกาสดีที่เราอยากปฏิบัติธรรม ไม่ต้องบวชก็ปฏิบัติได้
ธรรมไม่ได้อยู่ที่ผ้าเหลือง ผ้าเป็นสิ่งสมมติขึ้นมา ต่อให้บวชเป็นร้อยปี ถ้าไม่ปฏิบัติจริงๆ อาจจะไม่รู้ ถ้าลงมือจริงๆ ตามพระพุทธเจ้าสอน อาจจะรู้ความจริงอย่างแจ่มแจ้งก็เป็นได้ ถ้าพระสงฆ์ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบและรู้ธรรมด้วย ก็นับว่าประเสริฐยิ่ง
แต่จริงๆ ทุกคนสามารถปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องไปอยู่ป่าอยู่ถ้ำ เพราะทั้งหมดอยู่ที่สติและจิตใจ ธรรมปรากฎที่จิตใจ ไม่ได้ปรากฎอยู่ในถ้ำหรือในป่า เราไปที่วัดก็พบนักบวช เพื่อน ลูกหลานที่บวช หรือน้องพี่เท่านั้นเอง แต่จะพบธรรมนั้นไม่มีทาง ในวัดก็ไม่พบ ในตำราต่างๆ ก็ไม่พบ ถ้าพบ พบที่ใจตัวเอง เมื่อใจเราดี เราพบธรรมแล้ว
ตั้งแต่อดีตมาแล้ว ธรรมได้ปรากฎขึ้นในจิตใจของผู้ที่เดินถูกทาง ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดว่าเป็นนักบวชหรือชาวบ้าน ตำรับตำรานั้นเอง บอกเราว่าเด็กอายุสิบสองปีเข้าถึงธรรมสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งน่าประหลาดเพราะมันเป็นเรื่องตัวชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เรื่องสมองที่ต้องคิดให้เก่ง
ในทุกๆ ขณะ เมื่อเราจะทำการงานอื่นใด ไม่ว่าถูพื้น ซักผ้า หรือว่าเดินเล่น เราก็ทำด้วยความรู้สึกตัว แม้ว่าในช่วงต้นอาจจะดูหนักหนา ทนทุกข์ แต่ต่อมาความรู้สึกตัวนั้นก็จะแปรไปสู่ความเบาโปร่ง และในที่สุดก็กลับกลายเป็นความรักชนิดหนึ่ง ซึ่งยากที่จะบอกให้คนอื่นรู้ด้วยได้ ด้วยเหตุเป็นเรื่องเกิดเฉพาะตัวเท่านั้น
ที่ว่าเป็นความรักชนิดหนึ่งนั้น เป็นความรักอันแปลกประหลาด ไม่ใช่ความรักที่ยึดติดในบุคคลหรือสิ่งของ ไม่เหมือนที่เรารักคู่รัก รักสามี รักภรรยา หรือรักบ้าน หากคล้ายๆ เป็นความรักต่อชีวิต เป็นความดีชนิดหนึ่ง และเป็นความเบาบาง จึงกลายเป็นความรักที่ใกล้ตัว แต่ห่างไกลจากความเห็นแก่ตัว
บางครั้งเรารู้สึกหนักใจกับงาน รู้สึกงานหนักมาก แต่ในความจริงนั้นมันหนักใจมากกว่าหนักงาน หนักใจแบกภาระจนไปไม่รอด แม้งานเบาๆ ยังหนัก
เพื่อความกระจ่าง ผมจะแบ่งปัญหาในชีวิตเราออกเป็นสองอย่าง โดยใช้ภาษาอังกฤษกำกับ ผมจะเรียกปัญหาประเภทแรกอันเป็นปัญหาภายนอก ที่เรียงตัวอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราต้องเผชิญแน่ ว่าปัญหา (problem) มนุษย์เราเผชิญกับปัญหามาเรื่อย ปัญหานั่นเองทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น เมื่อสะพานหัก สร้างกันใหม่ ค้นพบสะพานรูปทรงใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ส่วนปัญหาประเภทหลังเป็นปัญหาด้านใน ผมจะเรียกว่า ความขัดแย้ง (conflict) ถ้าเกิดขัดแย้งเสียดทานกับใคร ความสามารถในการแก้ปัญหาจะน้อยมาก แต่ถ้าไม่มีความขัดแย้งในใจ การแก้ปัญหาจะเป็นบทเรียนที่ดี
ในชีวิตมนุษย์เรา มักจะมีปัญหาให้มนุษย์เข้าแก้ไขตลอดเวลา เพราะมนุษย์ไม่ใช่สภาพสมบูรณ์ ไม่เหมือนประติมากรรมซึ่งเขาหล่อทองแดงทีเดียวจบ ผิดจากภาวะของมนุษย์ ข้างในมีความเคลื่อนไหว มีอารมณ์ มีการสร้างสรรค์และทำลายตลอด
ดังนั้นถ้ามีปัญหาให้เขาแก้ คนคนนั้นจะฉลาด แต่ถ้ามีความขัดแย้งในจิตใจแม้หน่อยหนึ่ง มันบั่นทอนแรงใจ
ที่พูดเรื่องกำลังใจ ขอบอกว่ามนุษย์เราเพียงขาดกำลังใจที่จะอยู่ก็ไปไม่รอด แม้แต่จะเดินก็เดินไม่ค่อยจะไหว มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เวลาเที่ยงวันกลับมืดมิด เดินไปไม่รู้เหนือรู้ใต้ เพราะมีปัญหาด้านใน
1
การแก้ปัญหาใดๆ ไม่ยากเท่าแก้นิสัย ถึงเวลามันไปอีกแล้ว เหตุผลนี้เอาไม่อยู่เลย อย่างสูบบุหรี่ ต่อให้เป็นหมอ รู้ดีว่าเสียสุขภาพ แต่พอถึงเวลา เอาอีกแล้ว
โดยเฉพาะการติดคิด มันกลับมาทำร้ายตัวเอง เมื่อไม่รู้ตัว ความคิดก็ลากจิตใจให้ฟุ้ง ปรุงแต่งนานาประการ คิดวิจารณ์ขึ้นเอง และไม่รู้เลยว่านี้คือความหมายที่แท้ของการเวียนว่ายตายเกิด ถ้ารู้สึกตัวดีๆ ณ ที่ตรงนี้ การเวียนว่ายตายเกิดก็อาจสิ้นสุดลง และก่อเกิดความรักแท้ มิตรภาพที่ยั่งยืน
ภาษิตจีนเขาพูดว่า "มิตรที่แท้หายากยิ่งกว่าทองคำ" ชีวิตหนึ่งได้มิตรดีแม้คนเดียว คุ้มค่านะ แต่ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยได้ ยิ่งในสังคมเสรีด้วยแล้วยิ่งยาก
คำว่าเสรีอาจเป็นอาการคลั่งชนิดหนึ่ง คลั่งเสรี จริงๆ เสรีภาพไม่ได้หมายถึงการคลั่งไคล้ เพราะคลั่งไคล้เดี๋ยวก็จบ เหมือนคนเมาเหล้า เดี๋ยวก็นอนพับไปตรงนั้น ที่จริงเสรีภาพเป็นผลพลอยได้ของการรู้สึกตัวและค้นพบอิสรภาพภายในของตัวเอง รู้ว่าจะใช้มันในทางสร้างสรรค์อย่างไร แต่ถ้าอิสรภาพภายในไม่มี ตะโกนเสรีภาพคล้ายๆ นักโทษที่มีโซ่ล่ามมือและเท้าและเต้นรำไปด้วย ดูแล้วชวนสลดสังเวช คล้ายๆ เสรีก็จริง แต่ยังเป็นนักโทษอยู่
ผู้ฟัง : อาจารย์ได้รวบรวมคำบรรยายตามที่ต่างๆ ไว้บ้างหรือเปล่า
ท่านเขมานันทะ : หนังสือก็เป็นเพียงคู่มือ เป็นเครื่องชี้เท่านั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวเรา
ผู้ฟัง : ถ้าไม่มีคนชี้ เราไม่รู้จะทำอย่างไร
ท่านเขมานันทะ : นั้นก็คงจริงเหมือนกัน เหมือนเราใช้กระจกส่องหน้าเพื่อโกนหนวด กระจกมีความหมายเปรียบคำแนะนำของท่านที่ปฏิบัติมาจริงดังคำของผู้รู้ คำของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อปฏิบัติเราต้องโกนที่หน้า โกนที่ภายในกระจกไม่ได้ เสร็จแล้วต้องกลับมาที่ตัวเราแน่ ไม่ว่าเราจะเรียนกับครูคนไหน ในที่สุดเราก็ต้องมาเริ่มต้นที่ตัวเอง แต่ถ้าเราไม่มีกระจกก็โกนได้ลำบาก บาดเนื้อบ้าง เราใช้ธรรมของพระพุทธเจ้าช่วยสอนตัวเอง
พระพุทธเจ้าเรียกธรรมของท่านว่า ธรรมาทาส แปลว่า กระจกธรรม แว่นส่อง คือว่าไม่มีกระจกธรรมเราอยู่ลำบาก เราเกิดมาเราไม่รู้ทาง มันไม่ใช่ทางที่ตาเห็น ด้วยเป็นทางทางใจ เราไม่เห็นเลยไม่รู้จะไปทางไหน มันไม่มีทิศ ไม่มีทาง ไม่มีเครื่องหมายบอก พอได้ฟังเทศนาของพระพุทธเจ้าหรือผู้รู้ เราก็เริ่มไต่ไปตามทางนั้นเพราะได้ยินได้ฟัง แต่ความเพียรเป็นเรื่องต้องทำเอง
คำยืนยันหรือคำอธิบายสัจจะไม่ใช่ตัวสัจจะ ผมชอบใจที่พระพุทธศาสนานิกายเซนมองว่าเหมือนรายการอาหารกับการกินอาหาร หรือข้ออธิบายสัจจะที่เปรียบด้วยนิ้วที่ชี้พระจันทร์ ใครมองนิ้วว่าเป็นตัวสัจจะ เขาย่อมผิดพลาดไปตลอดชีวิต ไปยึดนิ้วว่าเป็นตัวสัจจะ
อันที่จริงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่สัจจะ แต่เป็นคำอธิบายสัจจะที่ดีที่สุด เป็นการให้อรรถาธิบายต่อตัวสัจจะที่ซื่อและตรงที่สุด เพราะไม่ได้อ้างเทพเจ้าหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ แต่ข้อยืนยันอันนี้ไม่ได้ลบล้างพระวจนะของศาสดาพระองค์อื่นโดยประการใด
จริงๆ จิตไม่มีรูปร่าง เป็นอะไรก็ไม่มีใครพูดถูก แล้วก็ไม่ได้ชื่อว่าจิตด้วย ชื่อนี้ถูกเรียกขึ้นทีหลัง แต่เราจะบอกว่าจิตไม่มีไม่ได้ ทีนี้มีอารมณ์ อารมณ์นี้เข้ามา พอเข้ามา จิตที่ยังมียางเหนียวๆอยู่ ยังมีความอยาก มีอวิชชาอยู่ เข้ามาจับ เดี๋ยวก็คลาย โดยกฎอนิจจัง เดี๋ยวอารมณ์ใหม่เข้ามาจับ ทีนี้เราก็มาเร้าความรู้สึกด้านนี้ให้ตื่นตัว มีธรรมชาติอันหนึ่งในมนุษย์เรา คือธรรมชาติที่รู้ตัวได้ ตัวนี้มีอุปการคุณสูงที่สุด เราปลุกตัวนี้ ผมใช้คำว่าปลุก ไม่ใช่กล่อมให้หลับ กล่อมกับปลุกนั้นเป็นไปคนละทิศคนละทาง
ฉะนั้นปลุกตัวนี้ให้ตื่น ให้รู้ตัว ให้ตื่นตัว ให้กายตื่นอยู่เสมอ ให้จิตตื่นอยู่เสมอ อารมณ์เข้ามาก็รู้ทัน วางภาระของมันเอง นานๆ เข้าเมื่อทางนี้คล้ายๆ ลืมจำอารมณ์ข้างนอก ตัว มันก็จำตัวมันได้เอง น่าจะเชื่อได้ว่านี่คือสิ่งที่พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธศาสนานิกายเซนเรียกว่า จิตเดิมแท้ มันมีอยู่แล้ว มันซ่อนอยู่แล้ว เหตุเพราะเราจำอารมณ์นั้นๆ แล้วเอามาคิด ยิ่งคิดยิ่งหลงลืมจากตัวนี้ พอเร้าตัวนี้ขึ้นมาก็จะเริ่มจำตัวเองได้ นับแต่กายที่เคลื่อนไหวจนความรู้สึกคือเริ่มรู้แจ้ง เริ่มรู้สึกตัวอีกหนหนึ่ง ตอนเด็กๆ แม่คลอดเราก็คลอดอันนี้ แต่เราจำไม่ได้ เรามัวลืมตัวในทุกขณะที่กระทบอารมณ์
โชคดีที่เรามีกิเลสมากๆ มันบ่งบอกว่าเรารู้ธรรมได้ ปราศจากกิเลสเราไม่อาจเข้าใจธรรมได้ เหมือนท่อนไม้ ที่ไม่มีกิเลส ปัญญาก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เหมือนนักกระโดดรั้ว ต้องมีรั้วให้กระโดด กิเลสเกิดขึ้นเพื่อให้เรารู้จักใบหน้าที่แท้จริงของเรา ให้เราเรียนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราสอนธรรมแก่คนที่รู้สึกได้ คือรู้สึกสุขได้ ทุกข์ได้ รู้สึกถึงความอยาก ปรารถนา นี่เรียกว่ารู้สึกได้ รู้สึกไม่ได้ก็สอนไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเราพัฒนาสติให้สูงขึ้น เข้มข้น ในที่สุดอำนาจของสติ ความรู้ตัว รู้แจ้ง มันเข้าไปปรับเปลี่ยนกิเลสให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
สติช่วยได้มากทีเดียว พอจิตตื่นแล้วเครื่องมือนั้นทิ้งก็ได้ เหมือนเราจะจับปลาด้วยแห พอได้ปลาแล้วเราคงไม่แกงแห เราก็แกงปลา อุบายนี้เป็นเพียงอุบายที่จะปลุกให้ตื่น ให้รู้ตัวขณะเคลื่อนไหว เมื่อทำนาน บ่อยเข้า จะจับความเคลื่อนไหวละเอียดได้ชั่วพริบตา หายใจเข้า หายใจออก จิตคิดนึก เราเห็นถึงไหน มันก็เป็นอันเดียวอันนั้น ในที่สุดเราก็กลับมารู้ตัวอย่างแนบแน่นกับตัว เห็นตัวเองทะลุปรุโปร่ง เป็นอันเดียวกับตัวเอง ตัวธรรมชาติของตัวเอง
คำว่าเห็นธรรม คือเห็นตัวเอง เห็นตัวเองคือเห็นธรรม โดยธรรมชาติทุกข์ขึ้นมามันไม่เอาเอง เหมือนกับใช้หลังมือเข้าไปจับสิ่งของก็จับไม่ติด ในที่สุดเราจะพบว่าการมีชีวิตง่ายขึ้น นอกจากโกรธแล้ว ติดโกรธด้วย โมโหคนนั้นด้วย เห็นหน้าเมื่อไร อยากจะโมโหใส่ทุกที เราติดความโกรธอันนั้น เราเสพอันนั้น แต่สติดี มันเบื่อที่จะโกรธ ควบคุมตัวเอง ไม่เอา ไม่เล่นกับมัน คล้ายๆใช้มือด้านนี้จับไม่ติด พอวูบเข้ามาก็รู้สึกน่าเกลียด มันสกปรก เวลาโกรธเข้าครอบงำหรือเวลาเราโลภ มันเห็นเข้าไปในตัวเรา หรือเวลาเราพูดบิดเบือนความจริง ทั้งที่เรารู้ว่าเราผิด
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของความฉลาดหรือความโง่หรือไอคิว แต่เป็นเรื่องของสติ คือคนโง่ก็รู้ธรรมได้ บางทีอาจจะเร็วกว่าคนที่ฉลาด
สมมติว่าห้องนี้มืด ความมืดเปรียบด้วยความไม่รู้ อวิชชา ความหลงใหล ความโง่ ตัณหาทั้งหลาย เราจะขับไล่มันออก เราทำไม่ได้ ใช้มือจับความมืดและขว้างออกไปนอกหน้าต่าง ทำไม่ได้ แต่เราทำอย่างอื่นได้ เราจุดเทียน จุดไฟขึ้น ไม่ว่าความมืดในถ้ำนานกี่ชั่วโมง กี่พัน กี่หมื่น กี่ล้านปีก็ตาม ไม้ขีดก้านเดียวจุดไฟขึ้น หน้าที่ของไฟก็เป็นไปเอง ทำกิจส่องสว่างของมันเอง นี่คือการคุ้มครองตัวเอง เป็นความรู้ตัว
เราเจริญสติมากๆ ความมืดชนิดหนึ่งถูกเลื่อนออกไป แล้วเราก็เริ่มค้นพบว่าตัวเองเปลี่ยนแปลง เริ่มเห็นตัวเอง เห็นแขน ขา มือ การก้าวย่าง เห็นคำพูด พูดผิดก็รู้ว่าผิด พูดถูกก็รู้ว่าถูก มีสติก็รู้ว่ามีสติ ขาดสติก็รู้ว่าขาดสติ และนั่นก็คือสติ สิ่งอัศจรรย์นี้จะเกิดขึ้น จากเรื่องเล็กๆ เหมือนชาวบ้านที่เขาทอผ้าด้วยไหมเส้นนิดเดียว เสร็จแล้วกลายเป็นผืนผ้าใหญ่และงดงาม
ปกติจิตใจของมนุษย์เราติดอยู่กับอารมณ์ คือความคิดนึกต่างๆ คิดเรื่องอะไรก็ติดเรื่องนั้น คิดเรื่องพระพุทธเจ้าก็ติดพระพุทธเจ้า คิดเรื่องความสงบก็ติดสงบอยู่ คิดเรื่องความไม่ยึดมั่นก็ติดเรื่องความไม่ยึดมั่น คิดเรื่องความปล่อยวางก็ติดเรื่องความปล่อยวาง เหมือนมือเรามีกาวเปียกแล้วแหย่ไปในกองทราย ติดนุงนังเลย แต่ถ้ามือเราแห้ง แน่ใจได้ว่าไม่ติด
ดังน้นจุดนี้สำคัญมาก เราต้องทำให้มือเราแห้ง ให้จิตเรารู้ตัว
สติกับการเคลื่อนไหวเป็นอันเดียวกันกับการกระทำของเราเอง บทฝึกเล็กน้อยนี้เหมือนกับเส้นด้ายเล็กๆ ที่ล่ามเท้าช้างทีเดียว เพราะว่าวิถีของเราในชีวิตประจำวันนั้น เราไม่เป็นอันเดียวกับตัวเรา กับการกระทำของเรา บางทีเราเดินอยู่ ใจเราเตลิด หรือนั่งอยู่ตรงนี้ แต่คิดอะไรต่อมิอะไรวุ่นวายใจ
ดังนั้นกิจภาวนาเป็นการกระทำตรงๆ เข้าไปสู่ตัวชีวิตจิตใจ ไม่ต้องรู้ภาษาบาลีก็ได้ ไม่ต้องสวดนโมก็ได้ แต่ทำก็ดี
สิ่งสำคัญในช่วงชีวิตที่แสนสั้นของเราคือ เข้าถึงตัวชีวิตจิตใจ ไม่ต้องมาวัดก็ได้ แต่มาก็ดี เดี๋ยวอาจารย์ที่นี่โกรธผมว่าคนไม่มาวัด
เรื่องที่ผมจะแนะคือ เมื่อพลิกมือขึ้นให้รู้ ยกมือขึ้นให้รู้ เคลื่อนมือมาทางนี้ให้รู้ จิตจะเงียบสงัด เพราะมันถอนตัวจากสิ่งสมมติทั้งหลาย ธุระที่ยังทำไม่เสร็จ จะไปจะมาคาค้าง กลับมาที่นี้หมด สำหรับผมเอง โลกทั้งโลกอยู่ที่นี้ เมื่อมือหยุด โลกนี้หยุด
แต่ไม่ได้หมายถึงหยุดแล้วตาย หมายความว่ามันมีจังหวะหยุด เข้าไปขัดการปรุงแต่งสืบต่อ สังเกตไหมครับ เวลาเราโกรธใคร มันโกรธเป็นระลอกสืบต่อกันเข้า ภาวะของเราที่เป็นทุกข์นั้นคือ ภาวะแห่งการเป็นคนซึ่งลำบาก เจ็บปวด เดี๋ยวก็วุ่นวายเรื่องโน้น เดี๋ยวก็น้อยเนื้อต่ำใจเรื่องนี้ แต่นั้นหมายถึงมนุษย์ผู้ยังไม่พบทาง ผู้ไม่ได้พบพระอริยเจ้าหรือสาวกของพระอริยเจ้า ซึ่งคำสอนถึงทางพ้นทุกข์ยังมีอยู่ ตราบใดคำสอนนี้ยังมีอยู่ บุคคลย่อมเดินตามทางนั้นได้
เมื่อมนุษย์ยุคไฮเทคได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือสาวก ที่บอกว่าให้ละตัณหาแล้วทุกข์จะดับ เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์
ความสงสัยก็อาจจะเกิดว่า มนุษย์เพิกถอนตัณหาได้หมดจริงๆ หรือ หรือเป็นเพียงคำสอนให้เพ้อพกไปอย่างนั้นเอง และข้อสำคัญ ถ้าตัณหาหมดจริง เราจะรับไหวหรือไม่
จากข้อคิดฉกาจฉกรรจ์สวนทางกับวิถีชีวิตของคนธรรมดานั้นเองที่ทำให้ศาสนาอาจจะกลายเป็นของต่ำสำหรับคนบางประเภท นักคิด นักวิชาการทั้งหลายอาจจะนึกดูแคลนได้ว่า คนไม่มีตัณหาเป็นคนจืดชืด คือคนไม่มีอะไรเลย
ข้อเท็จจริงนี้แม้มนุษย์ในโลกที่หนักไปด้วยความปรารถนาจะนึกดูแคลนศาสนา แต่ศาสนาไม่เคยสาบสูญ สิ่งที่เขาเกลียดที่สุดกลับอยู่ค้ำจุนผู้คน ผมเชื่อว่า ในอนาคตต่อให้เราเดินไปในห้วงอวกาศเป็นว่าเล่นแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้ายังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หวังพ้นทุกข์ ทั้งเป็นเครื่องปลอบประโลมให้อุ่นใจ เป็นเครื่องค้ำประกันว่าถ้าทำคุณงามความดี อีกเจริญวิปัสสนาแล้ว ทุกข์ต้องทุเลาหรือสิ้นสุดลงแน่
'รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว' รวบรวมจากคำบรรยายและคำสนทนากับกลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๕๓๔
4 บันทึก
2
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว
4
2
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย