20 ม.ค. 2021 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
โอกาสของ มะพร้าวน้ำหอมไทย
“Aromatic Coconut Water from Thailand is the Best in the World”
ซึ่งแปลว่า “น้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยนั้นดีที่สุดในโลก”
เป็นประโยคที่ผู้บริโภคต่างชาติหลายๆ คน พูดถึงมะพร้าวน้ำหอมของไทย
มะพร้าวน้ำหอม เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก
ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติไม่น้อย
แล้วมะพร้าวน้ำหอมไทย กำลังมีโอกาส และ ความท้าทายในเรื่องอะไรบ้างในตอนนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
มะพร้าว เป็นเป็นพืชในตระกูลปาล์ม
ซึ่งถ้าแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการนำไปผลิตต่อ หรือบริโภค
จะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย
1. มะพร้าวอุตสาหกรรม
2. มะพร้าวผลิตน้ำตาล
3. มะพร้าวเพื่อบริโภคผลสด
1
ซึ่งมะพร้าวน้ำหอม ถูกจัดเป็นมะพร้าวเพื่อบริโภคผลสด
1
Cr. สำนักข่าวไทย
ในปี 2017 มูลค่าตลาดน้ำมะพร้าวทั่วโลกเท่ากับ 65,000 ล้านบาท
และคาดว่าจะเติบโตถึง 249,000 ล้านบาท ในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ภายใน 6 ปี
ในปี 2018 ทั่วโลกมีผลผลิตมะพร้าวประมาณ 62 ล้านตัน
โดยประเทศที่มีผลผลิตมะพร้าวมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลกคือ
1. อินโดนีเซีย 18.5 ล้านตัน
2. ฟิลิปปินส์ 14.7 ล้านตัน
3. อินเดีย 11.7 ล้านตัน
1
ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น มีผลผลิตมะพร้าวทั้งหมด 0.81 ล้านตัน อยู่อันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศที่ส่งออกอันดับต้นๆ
2
แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะผลิตมะพร้าวน้อยกว่าอินโดนีเซียถึงเกือบ 10 ล้านตัน
แต่ถ้าพูดถึง “มะพร้าวน้ำหอม” ในสายตาชาวต่างชาติ
มะพร้าวน้ำหอมของไทย จะได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติ และคุณภาพที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
2
โดยความโดดเด่นของมะพร้าวน้ำหอมไทย คือเรื่อง “กลิ่น”
ที่มีความหอมมากกว่าคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ทำให้มะพร้าวของไทยสามารถนำไปทำน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มได้ดีกว่ามะพร้าวจากประเทศอื่น
Cr. Thairath
ในประเทศไทยนั้น ภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และฉะเชิงเทรา ถือเป็นพื้นที่ที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมมากในประเทศไทย
2
ทั้งนี้ มะพร้าวน้ำหอมในประเทศไทยจะมีราคาแพงขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี
เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศร้อนจัด จนส่งผลให้มีผลผลิตออกมาน้อย
1
ขณะที่การปลูกมะพร้าวน้ำหอมแต่ละครั้ง
จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ก็สามารถเก็บผลผลิตได้นานมากกว่า 10 ปี
1
และเนื่องจากความต้องการมะพร้าวน้ำหอมในปัจจุปันยังมีอยู่ในระดับสูง
ทั้งจากการที่ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยที่เติบโตขึ้นในช่วงหลายปีก่อนหน้า
จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
และจากความนิยมเครื่องดื่มที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอมที่เพิ่มสูงขึ้น
1
รวมไปถึงการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปขายยังต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดส่งออกไปจีนนั้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดที่นิยมบริโภคไม่เพียงแต่ทุเรียนและผลไม้อื่นๆ แต่ยังรวมไปถึงมะพร้าวน้ำหอมของไทยด้วย
1
ในประเทศไทยนั้น ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมของไทยในหนึ่งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านลูก ซึ่งกว่า 50% จะถูกส่งไปขายที่ประเทศจีน
1
ในปี 2562 นั้น 3 ประเทศที่ถือเป็นตลาดส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทยคือ
1. จีน ปริมาณการส่งออก 91,262 ตัน มูลค่าการส่งออก 2,270 ล้านบาท
2. สหรัฐอเมริกา ปริมาณการส่งออก 16,796 ตัน มูลค่าการส่งออก 537 ล้านบาท
3. ฮ่องกง ปริมาณการส่งออก 9,911 ตัน มูลค่าการส่งออก 198 ล้านบาท
ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 นั้น มูลค่าการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปจีนยังสูงถึง 2,828 ล้านบาท อันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
Cr. FreshPlaza
อย่างไรก็ตามจีนก็กำลังปลูกมะพร้าวเองเช่นกัน
ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกมะพร้าวหลักของจีนอยู่ที่มณฑลไห่หนานตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ถึง 90% ของพื้นที่ในการปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ
โดยที่มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ในปลูกต้นมะพร้าวประมาณ 250,000 ไร่ และให้ผลผลิตประมาณ 240 ล้านลูกต่อปี
ซึ่งจีนมีพื้นที่ในการเพาะปลูกมะพร้าวน้อย เนื่องจากภูมิอากาศของจีนที่ไม่เอื้อต่อการปลูกมะพร้าว เหมือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1
ปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวในจีน ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนจึงพัฒนาโครงการสวนมะพร้าวที่มณฑลไห่หนานเพิ่มอีก 125,000 ไร่ เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้มากกว่าตอนนี้
2
แต่ทั้งนี้ กว่าที่ผลผลิตมะพร้าวที่นี่จะเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี และแม้ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคมะพร้าวในประเทศจีนที่ยังมีอยู่มาก
Cr. China Daily
ปัจจุบัน จีนยังต้องมีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 2,500 ล้านลูกต่อปี สำหรับความต้องการของประชากรในประเทศกว่า 1.4 พันล้านคน
เรื่องนี้ก็นับว่า ยังเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะจากผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รู้ไหมว่า ในช่วงระหว่างปี 2559-2562 พื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมดของประเทศไทยนั้นลดลงจาก 1.1 ล้านไร่ เหลือเพียง 0.85 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เกิดจากผลผลิตที่ลดลงตามอายุ และสภาพต้นมะพร้าว
1
จึงทำให้เจ้าของสวนทำการตัดต้นมะพร้าวทิ้งเพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน
4
ซึ่งอาจเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทยไปยังตลาดที่มีความต้องการมากอย่างจีนในอนาคต
นอกจากนี้ ผลผลิตมะพร้าวที่ค่อยๆ ลดลงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจแปรรูปอาหารจากมะพร้าว รวมทั้งธุรกิจปลูกกล้วยไม้ที่ใช้กาบและขุยมะพร้าวเป็นวัสดุในการปลูก ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร
เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้เกี่ยวข้องว่าจะช่วยพัฒนา และยกระดับอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้อย่างไร..
โฆษณา