19 ม.ค. 2021 เวลา 14:26 • การเมือง
ทฤษฎี “ไม้ไอติม” ในตำนาน งบช่วยเหลือเกษตรกรน้ำท่วม มาถึงชาวบ้านเหลือแต่ซากเงิน (ข่าวปี 2561)
ย้อนวันวานข่าวสืบสวน ฉบับมารชรา
ภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ล้วนสร้างความสูญเสียให้กับจำนวนมาก บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวเพียงเพราะพายุพัดพากระแสน้ำที่เชี่ยวกรากเข้ามาทำลายล้างและผ่านไปในคืนเดียว บางคนสูญเสียบ้านเรือนจากแผ่นดินไหว ยิ่งโรคระบาดที่ยืดเยื้อยาวนานอย่างไวรัสโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ สร้างความบรรลัยวายป่วงทางเศรษฐกิจไปแล้วในรอบแรก เพราะห้างสรรพสินค้า ร้านรวงถูกสั่งปิด โรงแรมไร้นักท่องเที่ยว คนค้าขายขาดทุนเจ๊งระนาว แถมผู้คนยังตกงานขาดรายได้ไปหลายเดือน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ที่ยังไม่ฟื้นจนมาถึงการระบาดรอบใหม่อีกแล้ว
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ รัฐ ต้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ผ่อนหนักเป็นเบา ใช้งบประมาณมากระตุ้นฟื้นฟูผู้คน บางวิกฤตต้องแจกเงินไปกระตุ้นการใช้จ่าย บางวิกฤตก็ต้องหาทางสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อให้ “ผู้ประสบภัย” มีรายได้ขึ้นมาใหม่
“ให้โอกาสในการฟื้นตัว”
เมื่อปี 2560 ประเทศไทยเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน กินพื้นที่หลายจังหวัด แม้บ้านเรือนของประชาชนจะไม่ได้เสียหายมากนัก แต่พืชผลทางการเกษตร ซึ่งหมายถึง “รายได้ทั้งปีของชาวบ้าน” จมหายไปกับสายน้ำ ... เหลือแต่หนี้สิน ที่ไม่ได้หายไปด้วย
รัฐบาลจึงมีโครงการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม เรียกว่า “โครงการ9101” โดยจะมีงบประมาณให้กับครัวเรือนที่สำรวจแล้วเป็นผู้ประสบภัย ครอบครัวลั 5000 บาท แต่จะให้ไปซื้อ “ปัจจัยการผลิต” ตามที่ถนัด เพื่อเป็นทุนสำหรับเริ่มต้นใหม่ ให้สามารถนำไปขายมีรายได้กลับคืนมา เช่น ให้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ซื้อลูกกบมาเลี้ยง ซื้อปลามาเลี้ยง หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ตามแต่เกษตรกรจะรวมกลุ่มและตกลงกัน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้าน ก็อาจจะมีกลุ่มข้าว กลุ่มปลาดุก กลุ่มกบ ตามแต่ความเชี่ยวชาญของแต่ละคน
เกษตรกรต่างดีใจที่มีโครงการนี้เข้ามา ... แต่เมื่อถึงในขั้นตอนการปฏิบัติ กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ปัจจัยการผลิตที่แต่ละครัวเรือนจะได้รับซึ่งควรมีค่า 5000 บาท เปรียบดั่ง “ไอติม” ที่ถูกกัดแทะ ถูกกินไประหว่างทางก่อนจะมาถึงมือพวกเขา ... สุดท้าย สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรผู้ประสบภัยได้รับก็มีเพียง “ไม้ไอติม”
“ไม้ไอติม” ตามตำนานที่เล่าขานกันมาก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ทฤษฎีที่ระบุถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่สูญเสียไประหว่างทางให้กับเหล่าขุนนางและนายทุน ... ได้กลับมาหลอกหลอนพี่น้องชาวไทยอีกครั้งในปี 2561
ผมจะพาไปดู ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ... เขียนจากเรื่องจริงทุกตัวอักษร
#มารชรา
ตัวอย่างที่ 1 ... เดือนมกราคม 2561 บ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว (2560) ... ชาวบ้านที่นี่ ถูกขอให้เป็น “ผู้เสียสละ” ให้แปลงข้าวนาปีของพวกเขา ถูกใช้เป็นพื้นที่รับน้ำจากการเขื่อนลำปาว ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักสูงมากจนล้นอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน (สปิลเวย์) และต้องเร่งปล่อยน้ำออกจากเขื่อนไปก่อนให้มากที่สุด ก่อนที่น้ำเหนือและน้ำไฝนจะลงมาเติมอีก ซึ่งถ้าน้ำเต็มเขื่อน อาจหมายถึง “หายนะครั้งใหญ่” ของพื้นที่ใต้เขื่อนทั้งหมด
แน่นอน ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ แต่ชาว ต.เหล่าใหญ่ ยอมเป็นผู้เสียสละ และมีความหวังว่า หลังพ้นวิกฤตน้ำไปแล้ว รัฐบาลจะเข้ามาคืนทรัพย์สินที่พวกเขาเสียสละไป ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม
ปลาดุกขนาด 4-5 เซนติเมตร ถูกผมช้อนขึ้นมาจากบ่อเลี้ยงปลาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ของชาวบ้าน พื้นบ่อเป็นผ้าใบขนาดประมาณหนึ่ง มีโครงไม้ไผ่ขึ่งขึ้นมา และล้อมด้วยตาข่ายสแลนสีดำ กลายเป็น “บ่อเลี้ยงปลา” ที่มาจากงบประมาณในโครงการ 9101
ปลาในบ่อนี้ถูกเลี้ยงมาแล้ว 1 เดือน ก่อนวันที่ผมจะมาดู ขนาดของปลา 4-5 เซนติเมตร จึงไม่ใช่ขนาดของปลาในวันที่ได้รับแจกมา ดังนั้น ขนาดของปลาดุกในวันที่ชาวบ้านคนนี้ได้มาจึงไม่ต่างจาก “ลูกอ๊อด”
เอกสารที่ชาวบ้านนำมาให้ดู ระบุว่า ผู้นำท้องถิ่นในชุมชน ซื้อปลาดุกเหล่านี้มาแจกบ้านละ 800 ตัว ราคาตัวละ 2 บาท
ปลาขนาดไม่ถึง 2 เซนติเมตรในวันที่ได้รับแจกมีราคาตัวละ 2 บาท ??
ปลาเทวดา??
แน่นอนว่าไม่ใช่ปลาเทวดา เพราะวันที่ผมไปเห็น ปลาในบ่อนั้น ลอยตายเกลื่อน เหมือนทุกๆวันก่อนหน้านั้น และที่มีชีวิตอยู่ก็เหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของวันแรก หัวอาหารที่ให้มาบ้านละ 2 กระสอบ ยังพบว่าเป็นหัวอาหารของปลาใหญ่ ต้องบดก่อนถึงจะพอให้กินได้ บางบ้านตายหมดบ่อแล้ว และทุกบ้านมีปลาตายทุกวัน วันละ 20-30 ตัว
... เพราะอะไร
เพราะเกษตรกรรายนี้ไม่เคยเลี้ยงปลา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า คนทั่วไปจะเลี้ยงปลาในระดับอนุบาลที่ตายง่ายขนาดนี้ด้วยตัวเองโดยมีอุปกรณ์เพียงเท่านี้ได้อย่างไร
สิ่งที่เขาได้รับมา จึงเป็นเพียง “ไม้ไอติม” .... แล้ว “ไอติมหวานกรอบเย็นฉ่ำ” ไปอยู่ที่ไหน
มาคิดเงินกันก่อนดีกว่า
ปลาดุก บ้านละ 800 ตัว ตัวละ 2 บาท เท่ากับ 1600 บาท
หัวอาหาร ในใบเสร็จบอกว่า กระสอบละ 600 ได้ 2 กระสอบ ก็ 1200 บาท
สองอย่างรวมกัน 2800
ที่เหลือเป็นค่าตาข่ายสแลน ผ้าใบและไม่ไผ่ ที่มาทำบ่อปลา คำถามคือ มันถึง 5000 บาทตามที่เขาควรได้หรือไม่
ยิ่งแน่ใจได้ว่า ลูกปลาดุก ตัวเท่าลูกอ๊อด ไม่ใช่ราคาตัวละ 2 บาทแน่ๆ และหัวอาหาร กระสอบละ 600 บาทจริงหรือ
ที่สำคัญ คือ “ซื้อทั้งตำบล” ... หมายความว่า ทั้งตำบลนี้ ชาวบ้านเลือกจะเลี้ยงปลาดุกกันหมดเลย เป็นไปได้อย่างไร
โดยหลักการของโครงการ 9101 คือให้ชาวบ้านเลือกเองว่าอยากเอาเงินไปทำอะไร ประมง เลี้ยงสัตว์ เมล็ดพันธุ์ข้าวนาปรัง และปลูกพืชระยะสั้น แล้วมาจับกลุ่มกันในแต่ละชุมชน ตั้งกรรมการกลุ่ม มีจัดซื้อ มีตรวจรับ มีคนเปิดบัญชี โดยให้ผู้นำท้องถิ่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรตำบล เป็นพี่เลี้ยงคอยติดตามดูแลให้คำแนะนำ เพื่อให้ได้ปัจจัยการผลิตที่ดีจริง
"ไม่ใช่ให้พวกผู้นำไปซื้อของมาแจก"
แต่ที่นี่ เราพบว่า ผู้นำท้องถิ่น บอกให้ชาวบ้านใช้วิธีโหวต เพื่อให้ทั้งตำบลต้องเลือก “เลี้ยงปลา” เท่านั้น ทั้งที่หลายคนอยากเลือกอย่างอื่น เพราะเขาไม่เคยเลี้ยงปลา
ในขั้นตอนการจัดหาปลามาให้ชาวบ้าน กรรมการของกลุ่ม ก็ไม่มีบทบาทอะไรเลย ไม่มีสิทธิได้เป็นคนไปดูปลา ไม่ได้ไปเลือก ไม่ได้ซื้อ ไม่ได้จับเงินด้วยซ้ำ
แล้วปลาก็มาแจก โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเอามาจากไหน
แย่งสิทธิที่เขาควรไปซื้อเอง ด้วยการไปซื้อให้ ไปเหมามาจากเอกชนที่ไหนก็แล้วแต่ ...อย่างน้อย ก็เอาปลา 2 บาทตัวใหญ่ๆที่แข็งแรงแล้วมาให้ ให้เขาได้เลี้ยงรอด ให้ได้ขายมีเงินกลับมา ก็ยังไม่ได้เลยเหรอ
ที่นา โดนน้ำท่วมไปก็หมดตัวแล้ว ข้าวในนาปีที่ลงไปก็สูญเปล่า มีโครงการเอาเงินหลวงมาช่วย ก็กำลังจะสูญเปล่าอีก นี่คือสิ่งที่พวกเขาได้จากการเสียสละหรือ ชาวบ้านหลายคน คุยกับผมไป น้ำตาก็ไหลไปด้วย .. พวกเขาทำผิดอะไร
เขาก็เป็นคนที่ต้องกินต้องใช้ ต้องส่งลูกหลานเรียนหนังสือเหมือนท่านๆนั่นแหล่ะ
เหลือเนื้อไอติมให้ชาวบ้านที่ไม่เหลืออะไรจะกินแล้ว ก็ยังไม่ได้เลยเหรอ
ทำไมพวกมึงใจร้ายกันจังวะ
#มารชรา
โฆษณา