20 ม.ค. 2021 เวลา 03:19 • สุขภาพ
ประเทศไทย..วิถีชีวิตหลังการแพร่ระบาด (Post-pandemic urbanism) กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การวางแผนและพัฒนาเมืองยุคต่อไป !!
การบูรณาการระหว่าง "การใช้ประโยชน์ที่ดิน" กับ "การวางแผนระบบคมนาคมขนส่ง" เข้าด้วยกัน
สภาพปัญหาของกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลายคนอาจไม่รู้ว่าเกิดจาก "การวางผังเมืองที่ไม่ใช่ผังเมือง" ที่พูดเช่นนี้ เนื่องจากการวางผังเมืองที่ดีจะต้องให้คำตอบเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก หากคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่ำลง นั่นแสดงถึงการวางผังเมืองที่ล้มเหลวหรือไม่ประสบผลความสำเร็จ ผมเคยกล่าวอยู่เสมอ ในหลายๆ ครั้งที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายด้านผังเมืองและการออกแบบเมืองในทุกครั้ง ว่าแนวคิดการวางผังเมืองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศไทยนั้นล้าสมัยและไม่สามารถตอบสนองต่อสังคมในยุคปัจจุบันนี้ได้ เนื่องมาจากแนวคิดการวางผังเมืองของประเทศไทยนั้น เกิดจากรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ได้ว่าจ้างบริษัท Litchfield Whiting Bowne & Associates จากสหรัฐอเมริกาให้ดำเนินการวางผังนครหลวง 2533 ของกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อว่า (Greater Bangkok Plan 2533) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผังลิทช์ฟิลด์” (Litchfield) และเราก็ได้ดำเนินการวางผังในลักษณะนี้มาโดยตลอด จึงเรียกได้ว่าเป็นระบบการวางผังเมืองที่เกิดในยุคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันถือว่าได้ล้าสมัยไปแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้นองค์ความรู้ด้านผังเมืองมีการพัฒนาเทคนิควิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างมาก จนมาถึงยุคปัจจุบันพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการเพิ่มขึ้นของประชากรยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า ช่วงอายุของกลุ่มคนแต่ละยุคกับแนวคิดด้านผังเมืองเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันและแยกจากกันไม่ได้ ผมกล่าวเสมอว่า "เมื่อสังคมเปลี่ยนเมืองต้องเปลี่ยน แต่เมืองต้องเปลี่ยนก่อนสังคมจะเปลี่ยน"
การทำงานร่วมกันระหว่าง "นักออกแบบเมือง" และ "วิศวกร" ในยุคต่อไปถึงเวลาต้องปฏิวัติองค์ความรู้ของการพัฒนาเมืองทั้งหมด
เนื่องจากแนวคิดในยุคอุตสาหกรรมได้หล่อหลอมให้คนในยุคนั้นนิยมรถยนต์ ส่งเสริมค่านิยมการใช้รถยนต์ นิยมการสร้างบ้านชานเมือง เพราะทนต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรมใจกลางเมืองไม่ไหว คนจึงนิยมขับรถเข้าเมืองเพื่อไปทำงาน การสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวถนนสายหลักเพื่อความสะดวกต่อการใช้รถยนต์ แทนการหันหน้าบ้านสู่คลองแบบในอดีต การอยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรที่ผ่านการผลิตแบบระบบอุตสาหกรรมอย่างเร่งรีบ เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่ รุ่นลูกของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) นั่นเอง มาจนถึงยุคปัจจุบันที่โลกได้ก้าวสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารหรือ Digital อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะตรงช่วงกับกลุ่มคนยุคเจเนอเรชั่นวายซ์ ซึ่งก็คือรุ่นลูกของยุคก่อนหน้านี้ เหตุที่ไม่ได้กล่าวถึง กลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์นั้น เนื่องจากยังไม่เด่นชัดในเรื่องแนวคิดและการใช้ชีวิตที่โดดเด่นเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นยุคที่อยู่ระหว่างกลางของคนสองยุคที่มีรูปแบบแนวคิดและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดและผลจากการวางผังเมืองที่ผิดพลาดในอดีตส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่มีต่อโลกโดยรวมของคนในยุคนี้ ได้แก่ สภาวะโลกร้อน ,การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรค และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯ ซึ่งที่รับรู้กันโดยทั่วไป
ภาพจาก http://www.spaceandmatter.nl/klaprozenbuurt
หลายเมืองในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและกลยุทธ์การวางผังเมืองใหม่ โดยมองในแง่ความผิดพลาดของการวางผังเมืองในอดีตเป็นบทเรียนสำคัญ ผนวกกับแนวคิดกบฏต่อวิถีชีวิตสังคมเมืองในระบบทุนนิยม ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเจเนอเรชั่นวายซ์ภายใต้แรงต่อต้านการวางผังเมืองในยุคก่อน ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การไม่นิยมซื้อรถ แต่ชอบเดิน เริ่มนิยมใช้บริการระบบขนส่งหรือปั่นจักรยานในเมือง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ถูกกว่าโดยไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ ทั้งที่ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการยังไม่อำนวยและยังเป็นอันตราย การไม่นิยมแต่งงานแต่นิยมอยู่ก่อนแต่ง หรือจดทะเบียนสมรสเท่านั้น เนื่องจากการคำนึงถึงปัจจัยด้านการเงิน หรือการครองชีวิตโสดมากขึ้น รวมถึงการไม่ซื้อบ้าน แต่ซื้อคอนโดอยู่เนื่องจากราคาถูกกว่า จนเป็นนิยามของคนกลุ่มเจเนอเรชั่นวายซ์ว่า “ไม่แต่งงาน ไม่ซื้อบ้าน ไม่ซื้อรถ” วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ทำให้รัฐต้องปรับมุมมองใหม่ เนื่องจากกลุ่มคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ที่เริ่มแก่ตัวลงแต่อายุยืนมากขึ้น การออกแบบเมืองในยุคต่อไปจำเป็นต้องคำนึงถึงคนทุกประเภท ได้แก่ คนพิการ คนชรา คนท้อง และเด็ก ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการออกแบบเมืองมากขึ้น ใจกลางเมืองที่ซบเซาจะต้องได้รับการฟื้นฟู ระบบห้างสรรพสินค้าเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ผสมผสานการเป็นย่านชุมชนแห่งการเดิน (Community Mall) สินค้าแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายและง่ายขึ้น ทั้งที่คุ้นและไม่คุ้น ระบบขนส่งมวลชนจะมีบทบาทมากขึ้นและความนิยมรถยนต์จะน้อยลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บทบาทของพื้นที่สาธารณะจะเป็นสิ่งที่ประชาชนจะเรียกร้อง ระบบการทำงานแบบบริษัทจะลดน้อยลงเพราะคนอยากเป็นอิสระในการทำงาน คนจะทำงานที่บ้านมากขึ้น ยุคของการทำงานหนักเพื่อประสบความสำเร็จจะน้อยลง แต่จะมีนักธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กินอาหารที่อร่อยเน้นสุขภาพ ชอบไปในสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและมีเอกลักษณ์จะเป็นสิ่งที่คนยุคนี้ตามหา คนทำงานจะไม่ทำงานแค่ด้านเดียวแต่ทำงานหลายด้าน นี่คือกบฎของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของกลุ่มคนเจเนอเรชั่นวายซ์
นวัตกรรมเครื่องมือด้านการวางแผนและออกแบบเมืองในปัจจุบัน
บทสรุป
แนวคิดของผังเมืองสมัยใหม่ ได้พัฒนารูปแบบโดยอาศัยบทเรียนในอดีตที่ผิดพลาด โดยมองปัญหาใหญ่อันดับแรกที่ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ คือ การสร้างที่อยู่อาศัยชานเมืองหรือการสร้างหมู่บ้านจัดสรรซึ่งทำให้ประชาชนต้องใช้รถยนต์โดยยินยอมเพื่อขับรถไปทำงานในเมืองแลกกับความสะดวกซึ่งก่อให้เกิดปัญหารถติดในช่วงเวลารีบเร่ง เนื่องจากไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อประชาชนใช้รถมากขึ้น จึงต้องมีการตัดถนนเพื่อขยายช่องจราจร การเพิ่มทางข้าม และทางลอดตามแยกไฟแดงที่ติดขัดเพื่อแก้ปัญหาแก่ผู้ใช้รถยนต์ ละเลยและมองข้ามการพัฒนาทางเท้าสำหรับคนเดินถนน อีกทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถจอดรถถึงหน้าร้านจนละเลยต่อกิจกรรมทางกาย เช่น การเดินและการใช้จักรยาน การก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่เกษตรดั่งเดิม ก่อให้เกิดพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ ส่งผลต่อการลดการซึมน้ำตามธรรมชาติกรณีฝนตก อีกทั้งเกิดการสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมที่มีคุณภาพทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นเนื่องจากค่าขนส่งที่สูงเมื่อนำเข้าอาหารมาจากแหล่งอื่น นั้นคือผลกระทบที่เกิดจากแนวคิดที่ส่งผ่านมาจากยุคอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ การวางผังเมืองสมัยใหม่จึงเกิดจากความต้องการที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคต่อไป เพื่อวางผังเมืองให้เหมาะสมและสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของสังคมในอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ราคาถูกเพื่อลดการใช้รถยนต์ การสร้างข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการใช้รถยนต์ การส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมมากขึ้น โดยการเพิ่มพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง การส่งเสริมเกษตรกรรมในเมือง การส่งเสริมการค้าปลีกแบบผสมผสานหลากหลายใกล้ที่อยู่อาศัย เพื่อลดการเดินทางไปห้างสรรพสินค้านอกเมือง การฟื้นฟูสถานที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา ทั้งหมดนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "การมองกลับด้าน และยอมรับการเปลี่ยนแปลง" หากเรายังคงคิดว่า เมืองไม่เปลี่ยนเราก็จะต้องทนอยู่ในสภาพปัญหาแบบเดิม ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตอีกต่อไป เมืองนั้น ๆ ก็จะสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ส่งผลต่อความเครียด สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ รถติด และปัญหาต่าง ๆ มากมายในเมือง เมื่อถึงเวลานั้น ธรรมชาติก็จะมาสอนบทเรียนสำคัญแก่เรา
โฆษณา