20 มี.ค. 2021 เวลา 06:54
โตแล้วแตก...แตกแล้วโต
ต้นไม้จะเติบโตมั่นคงได้ ไม่ใช่ด้วยรากแก้วและลำต้นเท่านั้น แต่มาจากการแตกรากย่อยและกิ่งก้านออกไป เริ่มต้้งแต่ต้นอ่อนที่โตขึ้นจากเมล็ด แตกกิ่ง แตกใบ เพื่อเติบโตต่อจนเป็นไม้ใหญ่ที่มั่นคง ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดจากการทำความสำเร็จเล็กๆ จำนวนมากเช่นเดียวกัน
การโตแล้วแตก แตกแล้วโต ถูกใช้ทั่วไปทั้งในตลาดสินค้า และตลาดการเงิน
Credit : Pixels.com
ทางการตลาด...
หากนึกย้อนไปสมัยก่อนที่เกิดการบูมของซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ สมัยนั้นเราถูกทำให้เชื่อว่าขนาดที่ใหญ่กว่าย่อมดีกว่า ถึงกับมีสินค้าบางยี่ห้อใช้สโลแกนว่า "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ" ตอนนั้นพูดกันว่าร้านโชห่วยขนาดเล็กจะหายไปจากตลาด เพราะห้างใหญ่มีสินค้าครบและราคาดี
ต่อมามีการเกิดขึ้นของร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้ที่พัก เน้นการเข้าถึงคนจำนวนมากด้วยการใช้ขนาดที่เล็กและกระจายเข้าถึงสะดวก แทนที่ต้องเดินทางไปห้างใหญ่ใช้เวลาเดินเลือกซื้อนาน กลายเป็นว่าเดินไปปากซอยได้ทุกวันทุกเวลาที่ต้องการกับจำนวนเงินที่จ่ายต่อครั้ง (Pocket size) ที่ลดเหลือแค่หลักสิบหลักร้อยต่อครั้งแลกกับความถี่ในการซื้อที่เพิ่มขึ้น
ระหว่างกลยุทธแบบ "ใหญ่ครอบคลุมกว้าง" กับ "เล็กครอบคลุมมาก" ลองนึกเล่นดูว่าเราใช้บริการแบบไหนมากกว่ากัน?
3
ปัจจุบันห้างขนาดใหญ่ก็มีการแตกสาขาย่อยเป็นร้านกึ่งมินิมาร์ท ที่เข้ามาทำการตลาดแข่งกับร้านสะดวกซื้อ เพื่อลดต้นทุนการเปิดสาขา เพื่อเพิ่มยอดขายของตัวเอง ทำให้เห็นชัดเจนว่าแนวคิด โตแล้วแตก แตกแล้วโต มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
1
นักการตลาดมืออาชีพอาจมองเห็นโอกาสใหม่ๆ และจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจได้ดีกว่าใคร จึงสามารถนำกลยุทธการตลาดรวมถึงกลยุทธต่างๆ มาวางแผนการตลาดเพื่อตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของแต่ละธุรกิจได้ดี โดยเฉพาะในยุคที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเดิมและการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ
Credit : Internet
ทางการเงินล่ะ.....
กลยุทธเรื่องโตแล้วแตก แตกแล้วโต ถูกนำมาใช้ยังไงบ้าง?
ขนาดถูกใช้ในเรื่องการเงินการลงทุนในลักษณะที่ไม่ต่างจากการตลาด เพียงเราอาจไม่ได้รู้สึกว่าคือกลยุทธเรื่องขนาด ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นกันบ่อย เช่นการแตกพาร์หุ้น การแตกบริษัทย่อย เป็นต้น
เมื่อบริษัทจดทะเบียนฯ เติบโตขึ้น ราคาหุ้นก็เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้หุ้นหลายตัวมีราคาสูงจนลำบากต่อการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย แม้จะซื้อที่จำนวนขั้นต่ำคือ 100 หุ้นก็ตาม (board lot) การแตกพาร์จึงเป็นวิธีการโตแล้วแตก ทำให้ราคาต่อหุ้นต่ำลง และมีจำนวนหุ้นในการซื้อขายมากขึ้น โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มทุนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงิน หลายบริษัทจึงใช้การแตกพาร์เพื่อวัตถุประสงค์เหล่านี้
ในขณะเดียวกันหลายกิจการเลือกใช้การแตกแล้วโต ด้วยการแตกบริษัทเพื่อลดขนาดและเพื่อความยืดหยุ่นในการทำงาน OR ก็คือการแตกบริษัทออกจากบริษัทเดิม แต่การแตกบริษัทมีความต่างกับการแตกพาร์ เพราะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ ทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูกที่แตกออกมา เมื่อมีการแตกบริษัทย่อมมีผลกระทบทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูก ทำให้นักลงทุนต้องศึกษาผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทประกอบไปด้วย
หลายคนบอกว่าการแตกพาร์ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น สังเกตจากราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มเมื่อมีการประกาศแตกพาร์จนถึง 3-4 เดือนหลังการแตกพาร์
ผลการศึกษาของการแตกพาร์กับราคาหุ้นพบว่า การแตกพาร์มีผลทางจิตวิทยาเป็นหลัก การมีจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายมากขึ้น จำนวนเงินขั้นต่ำต่อการซื้อขายลดลง แต่อาจไม่มีผลต่อการเพิ่มของราคาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนแตกพาร์ ในประเทศไทยมีนักวิเคราะห์การลงทุนนำราคาย้อนหลังของหุ้นแตกพาร์มาวิเคราะห์ทางสถิติ ในภาพรวมของหุ้นแตกพาร์พบว่าราคาหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนแตกพาร์ มีหุ้นบางตัวที่การแตกพาร์ทำให้มีการปรับตัวของราคาหุ้นที่ดีขึ้น ในขณะที่บางตัวเป็นไปในทิศทางต่างกัน จึงอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่าการแตกพาร์
แต่ในบางประเทศผลการศึกษาหลายชิ้นบอกว่าการแตกพาร์มีผลต่อราคาหุ้นบ้าง แต่หากดูในรายละเอียดกลับพบว่าการเพิ่มของราคามาจากผลประกอบการมากกว่า ตัวอย่างเช่น Apple Inc เป็นต้น
กราฟ : Credit - Ecolife.com
เมื่อเรานำราคาหุ้นของ Apple Inc ช่วงเวลาของนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และการแตกพาร์มารวมกันเห็นได้ การแตกพาร์เกิดขึ้นหลังการเติบโตของผลประกอบการและราคาหุ้นที่ขึ้นสูง การแตกพาร์ของ Apple Inc ในบางครั้งอาจมีผลให้ราคาเพิ่มในช่วงสั้นๆ แต่การเติบโตของราคาจริงๆ น่าจะมีเหตุผลจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจและกำไรเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถามนี้ คงต้องให้ผู้ชำนาญการวิเคราะห์การลงทุนเป็นผู้ตอบจะดีที่สุดครับ
โตแล้วแตก...แตกแล้วโต กับการเงินและการลงทุนส่วนบุคคล
ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราที่สุด เราใช้เรื่องของการแตกแล้วโตในการวางแผนการเงิน การลงทุนส่วนบุคคลในชีวิตประจำวันเช่นกัน เช่น
การแบ่งเงินรายได้ออกเป็นส่วนๆ ส่วนเพื่อใช้จ่ายดำรงชีวิต ส่วนเพื่อให้รางวัลตัวเราเอา ส่วนเพื่อการออมต่างๆ เป็นต้น
1
https://www.blockdit.com/posts/5e427d8303a2640ca869731a
หรือหากพูดถึงสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ เราก็ยังแบ่งสินทรัพย์ออกได้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล การแบ่งสินทรัพย์มีประโยชน์ในการบอกพฤติกรรมทางการเงิน และใช้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ในการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ ด้วยการแบ่งสินทรัพย์ทั้งหมดออกเป็น สินทรัพย์สภาพคล่อง สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว สินทรัพย์ลงทุน การมีสินทรัพย์มากๆ แม้จะหักหนี้สินออกแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความมั่นคงทางการเงิน หลายคนมีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ส่วนตัวซึ่งไม่ได้ก่อนประโยชน์ทางการเงินให้กับเรา
เปรียบเทียบ นาย ก และ นาย ข มีสินทรัพย์รวม 5 ล้านบาทเท่ากัน มีหนี้สิน 1 ล้านบาทเท่ากัน และมีความมั่งคั่งสุทธิ 4 ล้านบาทเท่ากัน คิดว่าในระยะยาวใครจะมีความมั่นคงทางการเงิน และมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นมากกว่ากัน?
นาย ก มีสินทรัพย์ลงทุน 12.5% ของความมั่งคั่ง ในขณะที่นาย ข มี 50% สินทรัพย์ลงทุนของนาย ก คือ 5แสนบาท และ นาย ข คือ 2 ล้านบาท หากทั้งสองคนได้ผลตอบแทนการลงทุนเท่ากัน นาย ข จะมีการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์จากผลตอบแทนการลงทุนที่มากกว่านาย ก ในระยะยาวหากทั้งสองคนมีระยะเวลาเท่ากันและได้รับผลตอบแทนในเงื่อนไขเดียวกันตลอดไป นาย ข น่าจะมีสินทรัพย์รวมหรือความมั่งคั่งมากกว่านาย ก นั่นเอง
การแตกสินทรัพย์ของ นาย ข จึงเป็นการแตกแล้วโต ได้มากกว่าของ นาย ก เพราะนาย ข เลือกที่จะแตกเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ลงทุน ในขณะที่นาย ก เลือกแตกเพื่อเป็นสินทรัพย์ส่วนตัว
ในด้านการลงทุน การแบ่งเงินลงทุนไปในเรื่องต่างๆ หรือการทำ asset allocation ก็คือการแตกเงินลงทุนไปตามสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเหตุผลในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อให้เราได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงขึ้น ณ ระดับความเสี่ยงเท่าๆ กัน
อีกเรื่องที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการเงินได้ง่ายขึ้นก็คือ การแตกเป้าหมายเป้าหมายการเงินออกเป็นระยะสั้น กลาง ยาว และการแตกเป้าหมายระยะยาวเป็นช่วงๆ เพื่อให้เราสามารถก้าวไปถึงเป้าหมายได้ดีกว่าการกำหนดเป้าหมายยาวเพียงอย่างเดียว เป้าหมายเล็กๆ ที่สอดคล้องกันเหล่านี้จะทำให้เราสามารถบรรเป้าหมายใหญ่ๆ ได้ในระยะยาว
สุดท้าย ไม่ว่าจะโตแล้วแตก หรือ แตกแล้วโต ไม่ว่าเป้าหมายจะเล็กหรือใหญ่ จะสำเร็จด้วยการเริ่มทำ และการทำอย่างสม่ำเสมอครับ
บันทึกท้ายบทความ เพื่อเป็นบันทึกช่วยจำสำหรับผู้เขียน : บทความนี้เป็นบทความที่ 100 ของผมใน Blockdit สำหรับผมถือเป็นการเขียนบทความที่มากกว่าตัวเองคิดขอบคุณสำหรับเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านนะครับ
โฆษณา