21 ม.ค. 2021 เวลา 03:34 • สิ่งแวดล้อม
"ครีมกันแดดที่เป็นมิตรกับปะการัง"
ตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา กฎหมายห้ามจำหน่ายครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสิ่งแวดล้อมในทะเล โดยเฉพาะ Oxybenzone และ Octinoxate มีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อให้การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของฮาวาย โดยถือเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ผ่านกฎหมายดังกล่าว
กฎหมายฉบับนี้ ได้รับการลงนามโดยผู้ว่าการรัฐ David Ige เมื่อปี 2018 โดยให้เวลาภาคธุรกิจปรับตัว 3 ปี ก่อนจะบังคับใช้ 1 มกราคม 2021 เพราะแม้ จะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ถูกคัดค้านจากร้านค้าปลีกและตัวแทนอุตสาหกรรมความงามอย่างมากเช่นกัน
ประธานกลุ่ม Friends of Hanauma Bay ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำตื้นยอดนิยมของฮาวายให้ความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นกฎหมายที่มีผลในวงกว้าง ทั้งในประเทศและนานาชาติ เป็นตัวอย่างการผลักดันกฎหมายของภาคประชาชนและผู้นำ ที่มุ่งมั่นในเกิดกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และยังสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบของครีมกันแดดไปทั่วโลก สะท้อนผ่านกรณีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาฮาวาย พวกเค้ารับรู้ว่ามีการแบนครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสิ่งแวดล้อมในทะเล มีความเข้าใจและความตระหนักในปัญหานี้มากขึ้น ขณะที่หลายๆพื้นท ี่ก็เริ่มมีมาตรการลักษณะเดียวกัน เช่น หมู่เกาะเวอร์จินและ Key West ในรัฐฟลอริดา รวมถึงประเทศปาเลา ที่ออกกฏหมายควบคุมเรื่องนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ
การเคลื่อนไหวของประชาชนแะชุมชนที่ทำให้เกิดการแบนครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสิ่งแวดล้อมในทะเลยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ต่ออุตสาหกรรมครีมกันแดด มีการปรับเปลี่ยนสูตรให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าและกฏหมายมากขึ้น
แม้ภายใต้กฎหมายใหม่ จะยังอนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำครีมกันแดดติดตัวมาเองได้ ซึ่งอาจเป็นแบบที่ไม่เป็นมิตรต่อปะการัง แต่การสำรวจ พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า อยากเลือกใช้ครีมกันแดดที่ปลอดภัยสำหรับปะการัง ตามกฎหมายของฮาวายมากกว่า
ย้อนไปเมื่อต้นปี 2018 การศึกษาโดย Haereticus Environmental Laboratory ซึ่งเป็นองค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่แสวงผลกำไร พบว่า สารเคมีจากครีมกันแดดที่มี Oxybenzone และ Octinoxate ทำให้เกิดการฟอกขาว สร้างความเสียหายให้กับดีเอ็นเอ และยังทำลายความสัมพันธ์ทางชีวภาพระหว่างปะการังและสาหร่าย
นักวิจัยยังพบว่า ทุกปี มีครีมกันแดดมากถึง 14,000 ตัน ที่นักท่องเที่ยวใช้ ถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในทะเล ยังไม่นับรวมครีมและเครื่องสำอางอีกจำนวนมาก ที่ปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำหลังจากชำระล้างร่างกายไหล ลงสู่ทะเล
หลายคนตั้งคำถามว่า ทะเลออกจะกว้างใหญ่ ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยว ไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบ คือ สารเคมีแค่ 1 หยด ต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว
สำหรับประเทศไทย องค์กรเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีความหวังเช่นเดียวกันว่า ประเทศไทย ในฐานะประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวดูปะการัง มูลค่าหายแสนล้านบาทต่อปี จะมีกฎหมายควบคุมครีมกันแดดประเภทต่างๆออกมาบ้าง เพราะปัจจุบัน มีครีมกันแดดที่เป็นมิตรกับปะการัง ออกวางขายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว
ด้าน PADI หรือสมาคมผู้ฝึกสอนดำน้ำอาชีพ และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งของไทย แนะนำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc oxide ที่ไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย
จริงๆแล้ว เพื่อไม่ให้กิจกรรมท่องเที่ยว สร้างผลกระทบเพิ่มให้กับธรรมชาติโดยไม่จำเป็น การเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อปะการังและทะเล ก็ไม่เห็นต้องรอให้มีกฎหมาย ใช่มั๊ยคะ ^ ^
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากมูลนิธิโลกสีเขียวและเพจ ReReef
โฆษณา