21 ม.ค. 2021 เวลา 14:00 • การศึกษา
ตำนานลูกมังกรในมรดกวัฒนธรรมจีน (๔)
ในตอนที่แล้ว เราได้รู้จักลูกมังกรองค์ชายเจ็ด-หยาจื๊อ และองค์ชายแปด-ซวนหนี กันไปแล้ว
ตอนนี้จะนำเสนอลูกมังกรสองตัวสุดท้าย คือ องค์ชายเก้า-เจียวถู น้องนุชสุดท้อง ผู้รักสันโดษ
และอีกหนึ่งองค์ชายที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์ชาย ๕ ในบางสำนวนคือ ชิวหนี ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ที่นักดนตรีจีนทุกท่านจะรู้จักกันดี
ติดตามเรื่องราวขององค์ชายเก้าและองค์ชายห้ากันได้เลยนะครับ
เจียวถูสีทองงามอร่าม บนประตูทางเข้าพระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง
เจียวถู องค์ชายน้อย ผู้ชอบสันโดษ
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยผ่านตาหัวพยัคฆ์คาบห่วงนี้กันมาไม่น้อย ทั้งที่ปรากฎอยู่หน้าประตูสีแดงชาด หน้าพระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง พระอารามหลวง ไปจนถึงบ้านของคหบดี ทั้งในประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกที่รับวัฒนธรรมจีนเข้าไปในงานสถาปัตยกรรมของสถานที่สำคัญ รวมไปถึงประตูบ้านแบบจีนในบ้านเรา
เจียวถูคาบห่วง บนลบานประตูทางเข้าศาลเจ้า บ้านคหบดี ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป
พยัคฆ์คาบห่วงตัวนี้ มีนามกรว่า เจียวถู 椒图 jiao1 tu 2 องค์ชายน้อย ลูกมังกรน้องนุชสุดท้องตัวที่ ๙
เจียวถูมีรูปลักษณ์คล้ายหอย มีนิสัยปิดตัวเอง รักสันโดษ เมื่อเผชิญหน้าสิ่งแปลกปลอม จะปิดปากงับสนิท ไม่ชอบให้ใครเข้ามาในที่อยู่อาศัยของตน จึงนิยมนำเจียวถูมาติดไว้ที่ประตูบ้าน ประตูซอย (ในอดีตตามซอกซอยจะมีซุ้มประตู) เพื่อคุ้มครองภัยอันตราย หรือสิ่งอวมงคลต่าง ๆ ไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาภายในบริเวณบ้าน
ปัจจุบันเราจะคุ้นหน้าคุ้นตากับเจียวถูกันมาก เพราะมีคตินิยมช่วยเสริมสง่าราศรีให้กับประตูไม้อันใหญ่โตทั้งหน้าพระราชวัง พระอาราม หรือบ้านคหบดี ไปจนถึงบ้านสามัญชน ในบางครั้ง เราจะเห็นพยัคฆ์คาบห่วง ประดับอยู่บนอ่างน้ำทองเหลืองขนาดใหญ่ ในพระราชวังต้องห้ามสีม่วง หรือ กู้กง เพื่อใส่น้ำไว้ดับเพลิง หรือ บนหมู่ตำหนักบนเขาบู๊ตึ๊ง (อู่ตางซาน) ก็มีพยัคฆ์คาบห่วงนี้ประดับไว้เช่นเดียวกัน หรือพระราชวังฤดูร้อนนอร์บูลิงก้าขององค์ดาไล ลามะ บนบานประตู เข้าพระตำหนัก ก็มีเจียวถูที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตย์จากจีน ไปปรากฎอยู่ถึงสี่ตัวบนบานประตูสีแดงชาด เช่นกัน เป็นต้น
ในภาพเป็นบานประตูของพระราชวังฤดูร้อนนอร์บูลิงก้า Norbulinga Summer Palace 罗布林卡 หมายถึงสวนแห่งสมบัติ สร้างขึ้นในช่วงปีค.ศ.๑๗๔๐ โดยผู้ตรวจราชการที่ราชวงศ์ชิงส่งไปประจำทิเบต สร้างถวาย ดาไลลามะองค์ที่ ๗ คัลซัง คยัตโส (Kalsang Gyatso หรือ เก๋อซังเจียโซ 格桑嘉措) บานประตูนี้ไม่ใหญ่มากนัก เพราะเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในช่วงฤดูร้อน ที่น่าสนใจคือบนบานประตูสีแดงชาดนี้ มีพยัคฆ์คาบห่วงถึงด้านละสี่ตัว รวมเป็นแปดตัว แต่ละตัวจะมีเกลียวเชือกมงคลหลากสีสัน ผูกติดกับห่วงมือจับประตู อันเป็นคติของชาวทิเบตพบเห็นได้ทั่วไปในเขตอารามกับพระราชวังในเขตวัฒนธรรมทิเบต
มังกรเหลืองน้อยฉิวหนิว รูปร่างสะโอดสะอง ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี
ฉิวหนิว องค์ชายห้า ผู้หลงรักในเสียงดนตรี
อันที่จริง ผมได้นำเสนอองค์ชายทั้งเก้า หรือ ลูกของมังกรทั้งเก้าตัวมาครบแล้ว โดยส่วนใหญ่ ผมจะค้นจากไฟล์ภาพที่เคยถ่ายไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศจีนที่เคยเดินทางไปมา และบันทึกภาพไว้ แต่บางภาพก็ยังไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน ยกเว้น องค์ชายบางตัว ที่เราไม่ค่อยได้พบเห็น (เช่น ฉิวหนิว เทาเที่ย เป็นต้น) จึงต้องดึงรูปจากเว็บไซด์ หรือ บางรูปต้องเดินทางไปถ่ายมาโดยเฉพาะ (เช่น หยาจื้อ ผู้เหี้ยมหาญการสู้รบ)
ในบางสำนวน ได้มีการกล่าวถึงฉิวหนิว ว่าเป็นองค์ชายห้า (เช่นเดียวกับเทาเที่ย) บางสำนวนยกให้เป็นองค์ชายใหญ่ ดังนั้น เพื่อเป็นการนำเสนอให้ครบ จึงขอเพิ่มฉิวหนิว อีกหนึ่งองค์ชาย ฉิวหนิว 囚牛 Qiu2 Niu2 มีรูปเป็นมังกรตัวน้อยสีเหลือง มีเขาคล้ายกิเลน รูปร่างสะโอดสะอง
กล่าวกันว่า ฉิวหนิวชอบดนตรี มีความสามารถในการจำแนกเสียงสรรพสิ่งได้ดี อีกทั้ง ยังเป็นลูกมังกรที่มีอารมณ์ดี ผู้คนจึงนิยมสลักรูปของฉิวหนิวไว้ที่ด้ามซอ โดยเฉพาะซอหูฉิน 胡琴 หรือหลงโถวหูฉิน 龙头胡琴 เครื่องดนตรีจากแดนเหนือของจีน มักนิยมสลักรูปฉิวหนิวไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์อันสง่างาม เป็นสิริมงคล แก่การบรรเลงเพลงให้ถูกใจผู้เล่นและผู้ฟัง
ฉิวหนิวบนเครื่องดนตรี
ทุกวันนี้ ซอประเภทนี้ที่มีวางจำหน่ายบนหน้าเว็บไซด์ของจีน ก็ยังมีคงรูปลักษณ์ ที่มีฉิวหนิวผู้สะโอดสอง ทำเป็นด้ามซออ่อนพลิ้วอันสวยงาม ดังนั้น ท่านใดที่หลงรักการเล่นดนตรี ก็ลองหาฉิวหนิว สัตว์สิริมงคล องค์ชายห้ามาประดับไว้ เพื่อจะได้บรรเลงเพลงไพเราะเสนาะโสตมากขึ้นกันนะครับ...
ตอนต่อไป จะเป็นเรื่องปี้เสียหรือปี้เซียะ สัตว์แห่งโชคลาภ ที่หลายคนนิยมพกติดตัวกัน หรือบางธนาคารนำมาตั้งไว้หน้าสำนักงานเลยทีเดียว โปรดติดตามกันนะครับ
โฆษณา