21 ม.ค. 2021 เวลา 07:13 • ปรัชญา
ยอมรับ(2)
การยอมรับว่าตนผิดไม่ใช่เรื่องยากแต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ"มองไม่เห็นความผิดของตน" โยนความผิดให้คนอื่นนั้นง่ายเสียยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ต้องใช้คำว่าฉัน"สำเหนียก"ได้ดีเชียวล่ะ เพราะฉันได้ทำมาหมดแล้วทั้งสิ้น ทั้งเป็นการตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดีแต่การกระทำนั้นสำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว ใครไม่รู้แต่เรารู้ดีที่สุด
แต่กว่าจะคิดได้เช่นนี้ ณ ขณะนี้ก็ยังคงต้องฝึกฝนความคิดให้เห็นตามจริงนี้อยู่ ฉันใช้วิธีตัดคำถามว่าทำไมทิ้งแต่ข้ามไปที่คำตอบเลยเช่นเหตุการณ์หนึ่งคือ ฉันมีเรื่องไม่เข้าใจกับเพื่อนร่วมงานซึ่งมันดูไร้สาระมากๆ เพราะผู้จัดการขอร้องให้ฉันช่วยตักเตือนเพื่อนร่วมงานแต่ฉันได้ปฏิเสธไปโดยให้เหตุผลว่าฉันไม่สามารถทำได้แม้จะทำงานใกล้ชิดกันและเคยเปรยๆไปบ้างแล้ว ดังนั้นปัญหานี้ฉันจึงช่วยไม่ได้แต่ขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น เพื่อนร่วมงานเดินออกมาเจอและได้ยินทุกคำพอดี และเธอก็เลือกที่จะโกรธโทษว่าฉันเอาเรื่องของเธอไปฟ้องผู้จัดการ ลุกลามไปจนถึงขั้นต่อว่า กล่าวหากับผู้อื่นว่าฉันนั้นเลวเพียงใด
ฉันอธิบายกับเพื่อนร่วมงานไปแล้วทุกคำพูดที่พูดไปตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อนร่วมงานยังคงชี้หน้าต่อว่าฉันว่าควรช่วยเธอไม่ใช่ไปพูดชี้นำ ฉันไม่พูดและไม่ใส่ใจเพราะต้นเรื่องนั้นคือผู้จัดการเดินมาต่อว่าเพื่อนร่วมงานให้ฉันฟังและลงท้ายด้วยการขอร้องให้ช่วย ฉันจึงข้ามเหตุผลว่าทำไมเธอไม่ฟังเหตุผลและปรับปรุงตัวเอง แต่ฉันหันมาหาคำตอบให้ตัวเองว่าตัวฉันเองพูดเกินไปจริงๆในคำที่ว่า"เคยเปรยเตือนๆไปบ้างแล้ว" ดังนั้นฉันจึงกล่าวขอโทษเพื่อนร่วมงานในส่วนที่ตนเองผิด แต่ก็ยิ่งเหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้ลุกลามมากขึ้น ฉันไม่สนใจคำนินทาถากถางจากเพื่อนร่วมงานคนนี้และตรงไปพูดคุยกับผู้จัดการให้แก้ปัญหาให้ตรงจุดเองพร้อมทั้งขอให้แก้ปัญหาให้ฉันด้วย
ผู้จัดการแก้ปัญหาด้วยการคุยกับผู้บริหารผ่านทางโทรศัพย์ และให้ฉันนั่งรับฟังอยู่ด้วยโดยได้ยินทุกประโยคที่พูดคุยกัน ผลสรุปออกมาคือแม้ฉันจะทำงานได้ดีกว่าแต่เพื่อนร่วมงานสวยกว่าและการพบปะลูกค้าควรเน้นภาพลักษณ์ที่สวยงามตราบใดที่พนักงานไม่มีปัญหากับลูกค้า ปัญหาภายในเมื่อเกิดที่คนก็ให้แก้ที่คนคือหากฉันทนการถูกคุกคามได้ก็อยู่ไป หากทนไม่ได้ก็ให้ลาออกได้เลย ฉันไม่สงสัยว่าทำไมแต่เห็นตามความจริงว่า"เราเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆที่มีปัญหาก็แค่เปลี่ยนเพื่อคงความสวยงามและมั่นคงของบริษัท" บทความนี้ฉันจำได้ขึ้นใจจากหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งฉันเองก็จำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไรและใครเป็นผู้เขียนเพราะได้อ่านนานแล้ว แต่เห็นประโยชน์ในการนำมาปรับใช้ในการทำงานจึงจำไว้จนขึ้นใจ
และเพิ่งจะมีโอกาสได้เห็นจริงตามบทความในครั้งนี้นี่เอง อย่าหาเหตุผลจากคนอื่นแต่ค้นใจตนเองดีที่สุดว่าจะเข้มแข็งผ่านเรื่องราวต่างๆไปได้หรือไม่ ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจลาออกในวันนั้นเลย ไม่ต้องใส่ใจเหตุผลคนอื่นให้ยุ่งยากใจแต่ใส่ใจและซื่อสัตย์ต่อตนเองพอ สิ่งที่ขาดไปคือการฝึกฝนจิตใจให้ทันกับเหตุการณ์เพราะแม้จะ"ยอมรับ"ว่าตนพลาดไปแต่ก็สายไปเสียแล้ว
โฆษณา