24 ม.ค. 2021 เวลา 01:42 • การเกษตร
เมื่อวานเขียนเรื่องสารกำจัดศัตรูพืช วันนี้มาต่อด้วยเรื่องของสารกำจัดโรคพืชต่อเลยละกัน
แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมเกษตรกรจึงจำเป็นต้องรู้เรื่องของกลไกลการทำงานของสารกำจัดโรคพืช หรือ พูดกันง่ายๆว่า ยารา นี่แหละ โดยเหตุผลหลักๆคือ
1.จะได้เลือกใช้ให้ถูกจังหวะ เพราะสารกำจัดโรคพืชมีทั้งแบบป้องกันและกำจัด ซึ่งแต่ละตัวมีวิธีการใช้ต่างกันไปตามกลไกลการทำงานของมัน และเรื่องของระยะเวลาการตกค้างของสารเคมี
2.เมื่อเลือกใช้ได้ถูก จะทำให้การป้องกันและกำจัดตรงโรคและมีประสิทธิภาพ
3.ไม่เสียเงิน เสียเวลา เพราะซื้อยามาแล้วรักษาไม่หาย เพราะยาราบางตัวราคาสูงพอสมควร
ดังนั้นเกษตรกรควรต้องรู้เอาไว้บ้างเพื่อเวลาไปซื้อยาตามร้านหรือตามเฟส จะได้มีความรู้เอาไว้เลือกและป้องกันการโดนหลอกขายนะแหละ
อะ มาว่ากันต่อถึงเรื่องกลไกลการออกฤทธิ์ของสารกำจัดโรคพืช
สารป้องกันกำจัดโรคพืช ปกติจะแยกกลุ่มสารป้องกันกำจัดเชื้อรา (Fungicides) ตามลักษณะของการเคลื่อนที่เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.สารป้องกันกำจัดเชื้อราแบบสัมผัส (Contact fungicide) บางครั้งเรียกว่าการทำงานแบบป้องกัน (preventive หรือ protectant works)
จะกำจัดเชื้อราเมื่อสปอร์มาสัมผัสกับสารเคมี หรือป้องกันเชื้อรางอกเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช แต่ถ้าเชื้อราเข้าไปทำลายแล้ว การใช้สารแบบสัมผัสจะไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัด(Eradication) หรือรักษา(Curative) ได้
ดังนั้นการใช้สารแบบสัมผัสจึงจำเป็นต้องพ่นก่อนที่จะมีสปอร์ของเชื้อรามาตกบนชิ้นส่วนของต้นพืช หรือก่อนที่สปอร์จะงอกเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช
(เกษตรกรควรทำความเข้าใจเรื่องทฤษฎีสามเหลี่ยมโรคพืช คือมีพืชอาศัย มีเชื้อสาเหตุโรคพืช และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ก่อโรค)
นอกจากนี้สารประเภทสัมผัสควรพ่นซ้ำ เพื่อปกป้องยอดหรือใบชุดใหม่ที่ไม่มีสารเคมีเคลือบผิวเอาไว้ การพ่นสารกำจัดเชื้อราแบบสัมผัสกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์เดิมซ้ำๆกัน จึงเปิดโอกาสให้เชื้อต้านทาน(ดื้อยา) ได้ง่าย
ตัวอย่างสารประเภทสัมผัส เช่น
👉กลุ่ม M1 สารองค์ประกอบของคอปเปอร์
👉 กลุ่ม M2 ซัลเฟอร์
👉 กลุ่ม M3 แมนโคเซบ โพรพิเนบ กลุ่ม M4 แคปแทน
👉 กลุ่ม M5 คลอโรทาโรนิล
เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา เกษตรกรควรหาสารเคมีกลุ่มสัมผัสหลายกลุ่มกลไกรวมทั้งสารประเภทดูดซึมมาใช้สลับกลุ่มทั้งนี้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับเชื้อราหรือแบคทีเรียที่กำลังระบาดในพืชนั้นๆ
จากกลไกลการทำงานของสารกำจัดโรคพืชประเภทสัมผัส จะเห็นได้ว่ามันค่อนข้างที่จะดื้อยาเร็ว เราควรสลับกลุ่มสารเคมีหรือหายาประเภทดูดซึม มาสลับหรือมาบวกกันใช้ร่วมกัน
2.สารป้องกันกำจัดเชื้อราแบบดูดซึม (systemic fungicide)
2.1 ดูดซึมได้เล็กน้อย(Locally Systemic หรือ Localized Penetrant )
2.2 ดูดซึมทะลุผ่านใบ (Translaminar effects)ดูดซึมผ่านท่อน้ำ (Xylem Mobile)
👉 กลุ่ม 1 เช่น เบโนมิล คาร์เบนดาซิม ไทโอฟาเนต-เมทิล
👉 กลุ่ม 3 เช่น ไซโพรโคนาโซล ไดฟิโนโคนาโซล โพรพิโคนาโซล
👉 กลุ่ม 4 เช่น เมทาแลกซิล เมทาแลกซิล-เอ็ม
👉 กลุ่ม 11เช่น อะซอกซี่สโตรบิน ไพราโคลสโตรบิน
👉 กลุ่ม 28 โพรพาโมคาร์บ
2.3 ดูดซึมผ่านท่อน้ำและท่ออาหาร (Amphimobile หรือ truly systemic)
ที่รายงานว่าดูดซึมผ่านท่อน้ำและท่ออาหาร คือ
👉 สารกลุ่ม P07 หรือกลุ่ม(33)
กลุ่มทางเคมีเอทิลฟอสไฟต์(ethylphosphite) ได้แก่
ฟอสฟอรัสแอสิด (phosphorous acid (H3PO3)
ฟอสอีทิลอลูมิเนียม (fosetyl-aluminium) [C2H5OPO2] 3Al
สารในกลุ่มนี้มีการใช้กันมากในการป้องกันกำจัดไฟทอปธอร่าในทุเรียน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เชื้อราไฟทอปฯจะปรับตัวดื้อยาได้ในอนาคต เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ซึ่งปัจจุบันสารกำจัดโรคพืชก็มีทำมาขายหลายตัวมา ทั้งยาสัมผัส ยาดูดซึม และ ยาสัมผัส + ยาดูดซึม เกษตรกรก็สามารถเลือกมาใช้ได้ตามอัธยาศัย
นี่เป็นการใช้งานสารกำจัดโรคพืชแบบเข้าใจง่ายๆที่เอามาเขียนให้อ่านกัน
ที่สำคัญคือการวินิจฉัยโรคที่ต้องศึกษาทั้ง ลักษณะอาการ เชื้อราที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งบอกเลยว่าไม่ง่ายเพราะลักษณะอาการบางทีมีอาการคล้ายกับสาเหตุอื่นด้วย เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาหาความรู้กันทั้งตัวร้านค้า เกษตรกร เพื่อทำให้การป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง
โพสนี้เขียนสรุปมาจากเฟสบุคของ อ.สุเทพ สหายา อยากอ่านแบบละเอียดเข้าไปอ่านได้ที่
ด้วยรักจากควายดำทำเกษตร เพจเกษตรอันดับหนึ่งในจักรวาล
โฆษณา