25 ม.ค. 2021 เวลา 03:04 • ไลฟ์สไตล์
แอร์โฮสเตสและสจ๊วต ต้องผ่านบททดสอบอะไรบ้าง
หัวข้อคำถามที่แสนจะคลาสสิคในทุกยุคทุกสมัย ถึงข้อมูลการทดสอบเพื่อเข้าเป็นลูกเรือ ของน้องๆ ส่วนใหญ่ที่มีความใฝ่ฝันว่า อยากจะเป็นแอร์โฮสเตสและสจ๊วต มักจะคิดสงสัยเป็นคำถามแรกและเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด ที่จะชี้นำให้เราเรียนรู้จนไปถึงความฝันได้สำเร็จ
แต่ทว่าน้องๆ คะ...เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การทดสอบเพื่อรับลูกเรือ ก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาค่ะ ในสมัยก่อนพวกน้องๆ อาจเคยได้ยินข้อกำหนดมากมายของการทดสอบ ไม่ว่าจะเป็น อยากเป็นแอร์โฮสเตสต้องสอบภาษาอังกฤษได้คะแนนเยอะๆ ต้องว่ายน้ำให้ได้ระยะเท่านั้นเท่านี้ และที่สำคัญต้องสวยด้วย! ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ครูฝ้ายต้องบอกก่อนว่า การทดสอบดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่นะคะ แต่ในวันนี้ สิ่งที่ครูฝ้ายอยากจะมาพูดถึงคือ ในส่วนข้อกำหนดใหม่ๆ ที่ลูกเรือจะต้องผ่านการทดสอบให้ได้ เพื่อเป็นข้อมูลให้น้องๆ เตรียมตัวได้อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะคว้าปีกได้สำเร็จค่ะ
การทดสอบภาษา
การทดสอบภาษาอังกฤษของลูกเรือ เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำค่ะ เนื่องจากอาชีพนี้ต้องเน้นการใช้ภาษาเป็นหลัก จึงทำให้สายการบินกำหนดเกณฑ์ผลคะแนนภาษาอังกฤษในการรับสมัคร เพื่อเป็นบททดสอบว่า น้องๆ จะมีทักษะภาษาอังกฤษที่ทำงานในฐานะลูกเรือได้ดีแค่ไหน แต่สิ่งที่แตกต่างจากในสมัยก่อนคือ ปัจจุบันคะแนนการสอบภาษาอังกฤษแต่ละสายการบินระบุไว้ในคุณสมบัติ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน้องๆ ควรจะตรวจสอบคุณสมบัติเกณฑ์คะแนนที่สายการบินระบุให้ดี เพื่อจะได้รู้ว่า เราควรต้องเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหน และอีกอย่างที่พิเศษคือ บางสายการบิน หากว่าน้องมีทักษะภาษาที่สาม สายการบินก็จะมีการพิจารณาทักษะนั้นเป็นพิเศษด้วยนะคะ
การทดสอบการว่ายน้ำ
เป็นลูกเรือที่ดีต้องมีพลัง! เพราะทักษะการเอาตัวรอดคือ หนึ่งในคุณสมบัติที่ลูกเรือต้องมี เพราะสายการบินนั้นเล็งเห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตาม หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและลูกเรือเอาตัวรอดได้ ลูกเรือก็ย่อมมีทักษะที่จะช่วยดูแลผู้โดยสารให้ปลอดภัยได้เช่นกันค่ะ ซึ่งบททดสอบนี้ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนๆ สักเท่าไหร่ แต่ความเข้มงวด อาจต้องดูกันอีกทีในแต่ละสายการบินไปค่ะ
การทดสอบบุคลิกภาพ
สมัยนี้น้องๆ คงเคยได้ยินวลีที่ว่า “ความสวยมาจากภายใน” ใช่มั้ยคะ ใช่แล้วค่ะ การเป็นแอร์โฮสเตสและสจ๊วตในปัจจุบัน อาจไม่ต้องมีหน้าตาสวยหล่อเสมอไป เพราะในปัจจุบันหลายๆ สายการบินหันมาสนใจเรื่องภาพรวมด้านบุคลิกภาพและความมั่นใจเสียมากกว่า
หากมีความมั่นใจและบุคลิกในการแสดงออกที่ดีแล้ว สายการบินเขาก็เชื่อว่า น้องๆ จะถ่ายทอดภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรได้เช่นกันค่ะ เช่น น้องอาจเคยผ่านตากับคลิปวิดีโอการบริการที่น่ารักของลูกเรือแอร์เอเชียใช่มั้ยคะ นั่นคือ ความมั่นใจในยุคสมัยใหม่ค่ะ เพราะแอร์เอเชียต้องการลูกเรือที่มีความมั่นใจและคาแร็คเตอร์เหมาะกับสายการบินของตัวเอง เพื่อสร้างความประทับใจและถ่ายทอดภาพลักษณ์ตามแบบฉบับสายการบินสมัยใหม่นั่นเองค่ะ
การทดสอบการเอื้อมแตะ
“เอื้อมแตะ” คือเกณฑ์ที่หลายๆ สายการบินใช้วัดทักษะการทำงานของลูกเรือ แทนการให้ความสำคัญในเรื่องส่วนสูง กล่าวคือ เอื้อมแตะคือ การที่ลูกเรือใช้มือเอื้อมแตะถึงยังบริเวณที่เก็บสัมภาระด้านบนที่นั่งของเครื่องบินได้ เพื่อให้บริการผู้โดยสารได้อย่างเต็มที่ และสอดคล้องกับระยะอุปกรณ์ รวมถึงส่วนประกอบของเครื่องบิน ซึ่งในส่วนของระยะที่กำหนดนั้นน้องๆ จะเห็นได้จากเวลาที่สายการบินเปิดรับสมัครลูกเรือว่า มีความสูงอยู่ที่เท่าไหร่นั่นเองค่ะ แต่ในบางสายการบิน ส่วนสูงก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญนะคะ
การขายของและการบริการ
ในตอนที่เราเป็นผู้โดยสาร เราคงเคยเห็นเวลาที่แอร์โฮสเตสและสจ๊วตแนะนำสินค้าใช่มั้ยคะ นี่คือหน้าที่อีกอย่างที่ลูกเรือต้องทำได้ค่ะ ซึ่งเวลาทดสอบ สายการบินจะดูที่เทคนิคในการแนะนำสินค้าของเราว่า มีเทคนิคอย่างไร และบุคลิกที่แสดงต่อผู้โดยสารนั้น มีความสุภาพมากน้อยแค่ไหนค่ะ
ทัศนคติ
หน้าที่อีกอย่างของลูกเรือคือ การเป็นหน้าตาให้กับสายการบิน และการมีทัศนคติที่ดี ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยแสดงให้เห็นว่า เราเป็นภาพลักษณ์ให้กับสายการบินได้ เช่น หากเรามองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ สายการบินก็จะดูเป็นมิตรและอ่อนน้อมต่อผู้โดยสาร ผู้โดยสารก็จะเกิดความประทับใจในสายการบินของเราได้ค่ะ
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
สมัยนี้ เวลาที่สายการบินทดสอบเรา เขาจะมีหัวข้อการทดสอบที่กำหนดสถานการณ์ให้ได้แสดงไหวพริบและทักษะในการแก้ปัญหา โดยที่จะมีสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคที่แปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ตามเหตุการณ์ที่สายการบินมองว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น สถานการณ์แบตสำรองโทรศัพท์ของผู้โดยสารระเบิด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เองที่น้องๆ ต้องฝึกฝนให้ดี เพื่อในเวลาที่มีการทดสอบ น้องๆ จะผ่านบททดสอบนี้ได้ง่ายๆ ค่ะ
ทดสอบการทำงานเป็นทีม
ปัจจุบันคนเรามีความมั่นใจสูงกันมากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำงานเป็นทีม อาจจะพังไม่เป็นท่า เพราะมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ดังนั้น สายการบินจึงมีบททดสอบให้ลูกเรือนั้นได้ทดลองทำงานร่วมกัน หารือร่วมกัน เพื่อทดสอบให้เห็นว่า เข้ากลุ่มและให้บริการผู้โดยสารเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
บททดสอบที่สายการบินกำหนด น้องๆ หลายคนอาจมองว่า ยากเกินไป หรือคิดว่า ไม่ได้แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ ครูฝ้ายอยากแนะนำว่า อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นค่ะ เพราะหน้าที่ลูกเรือถือเป็นหน้าที่สำคัญ ที่ผู้โดยสารฝากชีวิตให้เราดูแล ดังนั้นการตัดสินว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านนั้น สายการบินย่อมต้องเข้มงวดกับเราเป็นธรรมดา และในบางบททดสอบ เราก็คาดเดาไม่ได้เลยว่า โจทย์ที่ออกมาจะเป็นแบบไหน ฉะนั้น เตรียมตัวให้พร้อมไว้ถือเป็นการรับมือดีที่สุดค่ะ ทุกอย่างจะได้ไม่ยากเกินความสามารถเรานั่นเอง และหากน้องๆ สนใจเทคนิคการเตรียมตัวเพื่อผ่านบททดสอบในข้อไหน หรือกังวลข้อไหนเป็นพิเศษ น้องๆ สอบถามครูฝ้ายเข้ามากันได้นะคะ ครูฝ้ายและ CrewAcademy ยินดีให้คำปรึกษาค่ะ
1
โฆษณา