24 ม.ค. 2021 เวลา 04:27 • อาหาร
-ติดเตา...เล่าเรื่อง ๒-
ขนมจีน
"ขนมจีนแม่วัลลา คู่กับน้ำยาพระอภัย ถั่วงอกเสาวคนธ์ คู่กับพริกป่นหัสชัย"
Cr. รูปจากใน Internet
ขนมจีน เป็นอาหารอย่างหนึ่งของไทย ประกอบด้วยเส้นเรียกว่า เส้นขนมจีน และน้ำยา หรือน้ำยาขนมจีน หรือน้ำพริก เป็นที่นิยมทุกท้องถิ่นของไทย ขนมจีนภาษาเหนือเรียก "ขนมเส้น" ภาษาอีสานเรียก "ข้าวปุ้น" และภาคใต้เรียก "หนมจีน"
ขณะติดเตา เพื่อเตรียมทำขนมอย่างขมักเขม้น ช่วงเวลาใกล้เพล ขนมจีนสองหัวหยิบใส่จาน ราดด้วยน้ำยาปลาช่อน แอ้มกับหัวปลีซอย มื้อกลางวันเติมพลังในการทำขนมต่อ
คงมีหลายคนสงสัยว่า??? ขนมจีน..ขนมก็ไม่ใช่..ไปเมืองจีนหาซื้อก็ไม่มี..แปลกดีทำไมเรียกขนมจีน
อันที่จริงแล้วขนมจีนเป็นอาหารของชาวมอญหรือชาวรามัญ ชาวมอญเรียกขนมจีนว่า “ขฺนํจินฺ” [คะ -นอม-จิน] ซึ่งคำว่า “คนอม” แปลว่า จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนคำว่า “จิน” แปลว่าการทำให้สุก นอกจากนี้ คำว่า "คนอม" นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย "เข้าหนม" ที่แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งต่อมาคำนี้ก็ได้เพี้ยนมาเป็น “ขนม” ดังนั้นคำว่าขนมในความหมายดั้งเดิมจึงไม่ได้แปลว่าของหวานอย่างที่เราใช้ และเข้าใจกันในปัจจุบันนะจ๊ะ
Cr. รูปจากใน Internet
-การโรยเส้นเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ขนมจีนเป็นเส้น ด้วยการบีบดันก้อนแป้งเหลวให้ไหลผ่านรูขนาดลงในน้ำเดือดเพื่อทำให้เส้นสุก โดยยังคงรูปเส้นเหมือนเดิม ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้ "อีโรย" ในการบีบเส้นขนมจีน-
ขนมหรือหนม (ภาษาเขมร) และคนอม (ภาษามอญ) ต่างก็หมายถึงอาหารที่ทำมาจากแป้ง คำว่าขนมจีนจึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า คนอมจิน ของชาวมอญนั่นเอง ทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทยตั้งแต่โบราณกาล
ขนมจีน คนนิยมนำขนมจีนมาเลี้ยงในงานมงคล ซึ่งหมายถึงการก่อร่างสร้างตัวได้เร็วขึ้นมีเส้นมีสายในหน้าที่การงาน ทำอะไรมักจะสำเร็จต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน
รฤก รัก
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
#ขนมจีน #ขนมเส้น #ข้าวปุ้น #น้ำยา
โฆษณา