30 ม.ค. 2021 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธุรกิจที่วอร์เรน บัฟเฟต์ไม่สนใจ
ธุรกิจที่ว่านี้คือ “ธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์” นั่นเอง ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่มี “ราคาสินค้า” เป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อของลูกค้า ความแตกต่างของสินค้ามีน้อย ไม่ว่าจะซื้อจากผู้ผลิตไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น เช่น โรงงานสิ่งทอ ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร เหล็ก น้ำมัน เป็นต้น
ในหนังสือ Buffetology มีการกล่าวถึงลักษณะของธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่บัฟเฟต์มักหลีกเลี่ยงในการลงทุนดังนี้
1) ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน
จากที่กล่าวในตอนต้นว่า เมื่อสินค้าไม่มีความแตกต่างกัน ราคาจึงเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าว่าจะซื้อจากเจ้าไหน ดังนั้นอำนาจในการกำหนดราคาของบริษัทไม่มี หากหวังกำไรมากๆ ต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนให้น้อยกว่าคู่แข่งเท่านั้น
ซึ่งการลดต้นทุน บริษัทอาจต้องลงทุนกับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา สุดท้ายถึงแม้บริษัทจะลดต้นทุนมากขนาดไหนก็มีค่าใช้จ่ายเป็นเงาตามตัวกำไรของบริษัทก็ไม่อาจเพิ่มขึ้นได้มากในระยะยาว
2) อัตรากำไรต่ำ
เมื่อกำหนดราคาขายไม่ได้ ทำได้เพียงแค่ลดต้นทุน อัตราการทำกำไรของบริษัทจึงไม่สามารถเพิ่มได้มากนัก ยิ่งกว่านั้นคู่แข่งทั้งหลายก็อาจเลือกกลยุทธ์ลดราคาสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย ส่งผลให้อุตสาหกรรมโดยรวมมีอัตรากำไรลดลง และกลายเป็นธุรกิจที่ไม่น่าสนใจในการลงทุน
3) อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นต่ำ (ROE ต่ำ)
เมื่อบรรทัดสุดท้ายของงบการเงินอย่างกำไรต่ำ แน่นอนว่าต้องฉุดอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นต่ำลงไปด้วย เราสามารถประเมินจากการเอา ROE ของบริษัทเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม และ ค่าเฉลี่ยทั้งตลาด ถ้า ROE ของบริษัทนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็สันนิษฐานได้เลยว่าบริษัทนั้นอาจทำธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ และไม่น่าสนใจในการลงทุนนั่นเอง
4) ลูกค้าไม่มี Brand loyalty
เมื่อราคากลายเป็นปัจจัยที่ลูกค้าซื้อสินค้า ลูกค้าจะพร้อมเปลี่ยนยี่ห้อทันทีเมื่อมีใครสักคนลดราคาสินค้า ทำให้ท้ายสุดแล้ว เราต้องแข่งกันลดราคาสินค้า เจ็บตัวด้วยกันทั้งหมด กำไรที่ออกมาก็ต่ำลงไปด้วย
5) คู่แข่งเต็มไปหมด
เมื่อสินค้าไม่มีความแตกต่าง ใครจะเข้ามาผลิตแข่งกับเราก็ได้ เมื่อมีคนเข้ามาในตลาดมากๆ สุดท้ายเค้กของยอดขายและกำไรมีแต่จะหดลง ดังนั้นบัฟเฟต์มักจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีการผูกขาด แทนที่จะลงทุนในธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใครเข้ามาแข่งก็ได้
6) สินค้าล้นตลาด
เมื่อคู่แข่งเยอะ ทุกคนมัวแต่ผลิตสินค้าออกมาขาย จนเกิดภาวะอุปทานล้นตลาด หรือ Over supply คือ สินค้ามากเกินความต้องการของลูกค้า สุดท้ายทุกคนก็แข่งกันลดราคาเพื่อระบายสินค้าในสต็อก ส่งผลต่อรายได้และกำไรลดลงอีกเช่นเคย
7) กำไรผันผวน
ไหนจะคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาไม่ซ้ำ ไหนลูกค้าจะมี Brand Loyalty ต่ำ ไหนจะแข่งกันลดราคา ภาวะเหล่านี้ส่งผลให้กำไรของธุรกิจผันผวนตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อใดที่เราเจอบริษัทที่กำไรผันผวน อาจจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่านี่คือธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ และอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนัก
8) การทำกำไรต่ำ
ปกติธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์มักทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีตัวตนเท่านั้น เช่น เครื่องจักร โรงงาน ที่ดิน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือ ไม่มี Brand ของตัวเอง ดังนั้นหากธุรกิจไหนใช้ประสิทธิภาพเพียงแค่สินทรัพย์ที่มีตัวตน ก็ให้พึงระวังว่าอาจจะเป็นธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์นั่นเอง
จาก 8 ข้อที่กล่าวมา คือ ลักษณะของธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่บัฟเฟต์มองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมีความได้เปรียบเท่าไหร่ในการแข่งขัน ประกอบกับราคาสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อของผู้บริโภค
ซึ่งลักษณะและปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ หรืออาจจะทำให้ผลตอบแทนติดลบได้ ดังนั้นเราควรตรวจเช็คว่าบริษัทเหล่านั้นมีลักษณะของธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์หรือไม่ก่อนการลงทุน
โฆษณา