24 ม.ค. 2021 เวลา 15:51 • สุขภาพ
Safe Surgery
การผ่าตัดอย่างปลอดภัย เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในจิตวิญญาณของหมอผ่าตัดทุกคน อาจารย์อาวุโสทุกท่านสั่งสอนเรื่องสำคัญนี้ให้แก่ลูกศิษย์ทุกคน ตั้งแต่โบราณนานมา ขึ้นกับว่าท่านจะสั่งสอนแบบไหน ด้วยวิธีอะไร เป็นไปตามจริตของอาจารย์แต่ละท่าน ส่วนลูกศิษย์จะจำได้ หรือจำไม่ได้ จะนำไปใช้ได้จริง หรือไม่ใช้ อันนี้ก็แล้วแต่ละบุคคล
บุคคลที่นำเรื่องนี้มาเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของ Safe Surgery อย่างเป็นรูปธรรม ทุ่มเทแรงกายแรงใจ กำลังสติปัญญา ขยายความตระหนักถึงความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วย โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ในยุคปัจจุบันก็คือ
“กัปตัน นพ.กรพรหม แสงอร่าม” เพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียน ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก พร้อมกันเมื่อหลายสิบปีก่อน
เพื่อนผมคนนี้ เสียสละเวลาพักส่วนตัว ช่วงเวลาพักจากหน้าที่กัปตันการบินไทย รับเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อเรื่อง ความปลอดภัยทางการแพทย์ โดยไม่รับค่าตอบแทน ใช้การประยุกต์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางการบิน มาเสริมทางด้านความปลอดภัยทางการแพทย์
ปัจจุบันในวงการแพทย์ทุกสาขามีความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยทางการแพทย์เป็นอย่างดี อยู่ในข้อกำหนดของราชวิทยาลัยแพทย์แต่ละสาขา ว่าต้องกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาให้มีการสอนเรื่องนี้
การ Briefing ก่อนการผ่าตัด ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้การผ่าตัดนั้นปลอดภัย โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวอย่างเช่นการผ่าตัดหัวใจ หรือการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่ต้องใช้ทีมผ่าตัดใหญ่มาก มีแพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการหัวใจและปอดเทียม เจ้าหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวข้องในกระบวนการผ่าตัด นับยี่สิบกว่าคน การวางแผนการรักษาภายในทีมจึงสำคัญ
จากสิ่งที่เพื่อนแบ่งปันความรู้ให้ผมหลายครั้ง ช่วยให้ผมสามารถมองเห็น จัดการ เรื่องความปลอดภัยในการผ่าตัดหัวใจ ได้อย่างชัดเจน พยายามสร้างบรรยากาศของ Safe Surgery ให้เกิดขึ้น นับว่าเพื่อนคนนี้เป็นกัลยาณมิตร และเป็นครูคนหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสพบเจอในชีวิตนี้
#ศิษย์มีครู
#Safe Surgery
โฆษณา