25 ม.ค. 2021 เวลา 00:27 • การศึกษา
[[ 323,400,001 ภาษาจีนอ่านอย่างไร | การอ่านตัวเลขภาษาจีน ตอนที่ 1 ]]
#ภาษาจีน #วิธีการอ่านตัวเลข #หลักภาษา
323,400,001 ตัวเลขนี้ อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีน อ่านว่าอย่างไรครับ?
ในเมื่อมีแฟนเพจขอมาเกี่ยวกับเรื่องการอ่านตัวเลขจำนวนมากๆ เพจสร้างภาพเล่าเรื่อง 图图是道 เลยมาสรุปให้อ่านกันสักหน่อย
[Disclaimer] อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่จะเล่าต่อไปนี้ประกอบด้วยทั้งเทคนิกส่วนตัวของแอดมินและหลักภาษาจริงๆ เพื่อให้อ่านและจำได้ง่าย อาจจะมีบ้างที่ดูแตกต่างตำราไปบ้างแต่โดยรวมเหมือนกันครับ
เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องตัวเลขนั้นค่อนข้างละเอียด ทั้งตัวเลขจำนวนมากๆ การอ่านแบบประมาณ การอ่านทศนิยม เปอร์เซ็นต์ เศษส่วน เลยจะขอเล่าเป็นตอนๆ นะครับ มาเริ่มตอนแรกกับการอ่านจำนวนที่มีตัวเลขมากๆ กัน เนื้อหาอาจจะยาวหน่อยแต่อยากให้อ่านให้ครบเพื่อช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น และ ช่วงท้ายมีแบบฝึกหัดให้ลองกันใครทำได้หมด อย่าลืมมาคอมเมนท์กันด้วยล่ะ
เอาล่ะ มาอ่านกันได้เลย!
[ ภาษาจีน อังกฤษ และ ไทย เราผสมหลักไม่หมือนกัน ]
หนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้การอ่านตัวเลขภาษาจีนเป็นเรื่องยุ่งยาก คือ การแบ่งและผสมหลักไม่เหมือนกันในแต่ละภาษา ในภาษาไทย(ที่นิยมในปัจจุบัน)เราจะไล่กันไป 6 หลัก ตั้งแต่ หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน ถึงค่อยเริ่มผสมหลัก เช่น สิบล้าน ภาษาอังกฤษ ไล่ไป 3 หลัก ones, tens, hundreds เริ่มใหม่ที่ thousands และจะเริ่มผสมหลักหลังจากนี้ไป เช่น ten thousands
สำหรับภาษาจีนนั้น ไล่ไป 4 หลัก ถึงจะเริ่มผสม 个 (gè หลักหน่วย, เราไม่อ่านแต่ละไว้ในหน่อยที่เข้าใจ เหมือนหลักหน่วยภาษาไทย)、十(shí สิบ)、百(bǎi ร้อย)、千(qiān พัน) ให้มองว่า 万(wàn หมื่น) เป็นจุดเริ่มใหม่ และจะเริ่มผสมหลักหลังจากนี้ไป เช่น 十万 (shí wàn แสน) หากสรุปให้ง่ายขึ้น ภาษาจีนจะนับไปถึง 万 และเริ่มนับใหม่ ตั้งแต่ 个十百千 วนไปเรื่อยๆ
เมื่อเราไล่หลักไปจนเจอ 万万 ซึ่งหากแปลเป็นไทยคือร้อยล้าน ในภาษาจีนปัจจุบันจะใช้ 亿 (yì ร้อยล้าน) แทนนั่นเองครับ
เพิ่มเติม:
จริงๆ แล้วในภาษาจีนยังมีตัวอักษรสำหรับหลักที่มากกว่านี้ทุกๆ 5 หลัก เช่น 兆 (zhào ล้านล้าน)、 (京 jīng หมื่นล้านล้าน) แต่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้รับความนิยมในการใช้ในชีวิตประจำวัน 兆 ใช้เป็น 万亿、京 จะใช้เป็น 亿亿 ซึ่งอักษรเหล่านี้ตอนนี้ยังใช้อยู่ที่ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น หรือ เฉพาะทางเช่นตัวเลขทางวิทยาศาสตร์
ดูตารางเปรียบเทียบหลักของตัวเลขได้ที่โพสต์ [[ 1 2 3 ไม่ได้มีแค่ 一,二,三 |ภาษาจีนกับรูปแบบตัวเลขต่างๆ ]]
[ แบ่งจุลภาคใหม่ เทคนิคอ่านให้ง่ายขึ้น ]
หนึ่งในเทคนิกส่วนตัวที่ผมชอบใช้เวลาฝึกคือการเปลี่ยนตำแหน่งของการเขียนลูกน้ำหรือจุลภาคนั่นแหละ รู้หรือไม่ว่าที่เราถูกสอนมาว่า ทุกๆ 3 หลักให้ใส่ลูกน้ำไว้แบ่ง เราทำตามหลักการของภาษาอังกฤษกันโดยไม่รู้ตัว เพราะภาษาอังกฤษผสมหลักทุก 3 หลัก และมีคำใหม่เมื่อวนมาเจอการผสมระหว่างหลักพันอีกรอบ เมื่อเห็นลูกน้ำจะเป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่าต้องผสมหลักอย่างไร และ ใช้คำใหม่เมื่อไหร่
คราวนี้ที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าของภาษาจีนนั้นเป็น 4 หลัก เราก็ย้ายลูกน้ำให้เป็นทุกๆ 4 หลักซะสิ จะได้ง่ายกับเรา ให้ 万 แทนที่จะต้องเขียน 10,000 ให้เขียนเป็น 1,0000 พอจะเห็นภาพมากขึ้นแล้วหรือยังครับ คราวนี้ก็จะง่ายกับเราเวลาจะฝึกอ่านแล้ว
ตัวอย่าง 1 ———————————————————
2,300,000 เขียนใหม่เป็น 230,0000 มองเห็นลูกน้ำปั๊ป ด้านหลังไม่มีตัวเลขสบายเรา จบด้วย 万 ได้เลย นับด้านหน้าลูกน้ำไปมี 3 หลัก เป็น 2 เป็นหลักร้อย และ 3 เป็นหลักสิบ อ่านได้เลยว่า 两百三十万 liǎng bǎi sān shí wàn หากแปลเป็นไทยจะได้ สองล้านสามแสน นั่นเอง
ตัวอย่าง 2 ———————————————————
57,809,000,000 เขียนใหม่เป็น 578,0900,0000 คราวนี้มีลูกน้ำ 2 ตัว
- เรามาแบ่งกันทีละชุด ขอเรียกชุดที่อยู่หน้าสุดในการแบ่ง หรือ 578 ว่าชุดแรก 0900 เป็นชุดที่ 2 ไล่ตามลำตับ
- ชุดแรก 578 เลยลูกน้ำมา 2 ตัว ลูกน้ำ 1 ตัวเท่ากับ 万 เพราะฉะนั้น ลูกน้ำ 2 ตัวก็เท่ากับ 万万 ซึ่งต้องใช้คำใหม่เป็น 亿 เอาไว้เติมท้าย เมื่อดู 578 เราจะได้เป็น 五百七十八亿 wǔ bǎi qī shí bā yì
- ชุดที่ 2 0900 เลยลูกน้ำมา 1 ตัว เอา 万 ไว้เติมท้าย เมื่อดูจะมีแค่ 0900 ก็เป็น 零九百万 líng jiǔ bǎi wàn (หลักขาดออกจากกันต้องมีการแบ่งด้วย 0 จะกล่าวถึงในรูปหลังจากนี้)
- รวมแล้วจะเป็น 五百七十八亿零九百万 wǔ bǎi qī shí bā yì líng jiǔ bǎi wàn แปลเป็นไทยได้ ห้าหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยเก้าล้าน
เพิ่มเติม:
หลักการนี้เป็นหลักการที่ผมเคยอ่านเจอมานานแล้ว และใช้ฝึกก่อนหน้านี้ อาจจะขัดๆ บ้างในช่วงแรกแต่ช่วยให้ฝึกคล่องขึ้นได้ไวครับ
ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าคนไทยเป็นคนกำหนดเรื่องการใช้จุลภาคกับตัวเลข จาก 1,000,000 คงจะกลายเป็น 1,000000 แน่ๆ แต่จริงๆ แล้วภาษาไทยเองก็ได้ประโยชน์จากการวางต่ำแหน่งของลูกน้ำสากลอยู่ เพราะภาษาเราไปจบที่ล้านซึ่งตรงกับลูกน้ำ 2 ตัวพอดี
[ พูดทุกหน่วยมันยาวเกิน ตัดพูดสั้นๆ กันอย่างไร ]
เวลาเราพูดตัวเลขยาวๆ ภาษาไทยอย่าง 5,800,000 เราจะพูดกันแค่ว่า ห้าล้านแปด ซึ่งภาษาจีนเองก็มีหลักการใกล้เคียงกับหลักการนี้เหมือนกัน และ ใช้บ่อยมากในภาษาพูดชีวิตประจำวัน
110 ในภาษาจีนอ่านแบบเป็นทางการจะอ่านว่า 一百一十 yì bǎi yī shí ตรงๆ เพื่อเลี่ยงความผิดพลาด แต่ภาษาพูดมักเน้นง่ายๆ ไวๆ เขาก็เลยพูด 一百一 yì bǎi yī เป็นอันรู้กัน จะเห็นได้ว่าแตกต่างจากภาษาไทยหากแปลตรงตัวเป็นอย่างมาก อาจะเข้าใจผิดเป็น 101 ได้
หลักการนี้ เริ่มได้ตั้งแต่ 百 เป็นต้นไป ซึ่งคนจีนจะเข้าใจตัวเลขที่ตามหลังเป็นหลักถัดจากหลักแรกเท่านั้น
ตัวอย่าง
- 12,000 一万二 yí wàn èr
- 480,000 四十万八 sì shí wàn bā
- 390,000,000 三亿九 sān yì jiǔ
[ 0 อ่านให้ดี ช่วยป้องกันการสับสน ]
แล้วถ้าจะพูด 101 จะพูดอย่างไร ในเมื่อ 一百一 คนจีนจะเข้าใจว่าเป็น 110 ตรงนี้ เราจะใช้ 零/〇 มาช่วยกันการสับสน อย่างกรณีนี้ 101 จะอ่านว่า 一百零一 yì bǎi líng yī
0 ในภาษาจีนเป็นเหมือนตัวอักษรที่ช่วยแบ่งหน่วยต่างๆ ในการอ่านให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เหมือน and ที่ใช้กับตัวเลขในภาษาอังกฤษ แต่มีวิธีการใช้เฉพาะตัวอยู่เหมือนกัน สรุปหลักการอ่านได้ดังนี้:
1. หากจำนวนนั้นๆ จบด้วยเลข 0 ไม่ว่าจะกี่หลักก็ตาม จะไม่อ่าน เช่น 34,000 三万四千 sān wàn sì qiān; 7,000 七千 qī qiān
2. ถ้าหลักสิบ เป็น 0 หรือมี 0 นำหน้าหลักหน่วย ไม่ว่าจะกี่ตัว ให้อ่านตัวเดียวทุกครั้งโดยไม่ต้องอ่านหน่วยที่หายไป เช่น 507 五百零七 wǔ bǎi líng qī,2,007 两千零七 liǎng qiān líng yī
3. ถ้าหากมี 0 อยู่ระหว่างหลักตรงกลาง ต้องอ่านด้วยและอ่านเป็นตัวเดียวโดยไม่ต้องอ่านหน่วยที่หายไป เช่น 3,000,201 三百万零二百零一 sān bǎi wàn líng èr bǎi líng yī; 2,000,400 二百万零四百 èr bǎi wàn líng sì bǎi
แรกๆ อาจจะสับสนกันอยู่บ้างแต่ลองฝึกอ่านดูกันบ่อยๆ นะครับ
เพิ่มเติม:
การอ่านนี้ใช้เฉพาะการอ่านจำนวนเท่านั้น หากเป็นเบอร์โทร เลขทะเบียน หรือเลขหน้า จะต้องอ่านศูนย์ทุกตัว ไว้จะมาเล่าในคราวต่อๆไป
[ 十 หรือ 一十 ใช้อันไหนเมื่อไหร่บ้าง ]
หลักการนี้ค่อนข้างง่าย
10 ถึง 19 ถ้ามีตัวเลขอื่นนำหน้า เช่น 119 ให้อ่านว่า 一百一十九 yì bǎi yī shí jiǔ ต้องมี 一十 ทุกครั้ง
แต่ถ้าไม่มีตัวเลขอื่นนำหน้า เช่น 19 อ่านแค่ 十九 shí jiǔ
ตัวอย่าง
- 3,016 三千零一十六 sān qiān líng yī shí liù
- 213 二百一十三 èr bǎi yī shí sān
[ 2 หลักไหนใช้ 二 หรือ 两 กันแน่ ]
อีกหนึ่งเรื่องที่สับสน คือ 2 ตรงไหนจะอ่าน 两 (liǎng) หรือ 二 (èr) กันแน่ จริงๆ แล้วส่วนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่แต่สามาสรุปให้เข้าใจง่ายดังนี้
1. 十、个、百:ใช้ 二 (èr)
2. 千、万、亿: ใช้ 两 หรือ 二 ก็ได้ แต่ถ้า 千 ตามหลัง 万、亿 นั้น 千ต้องใช้ 二
ตัวอย่าง
22,002 两万二千零二 liǎng wàn èr qiān líng èr / 二万二千零二 èr wàn èr qiān líng èr
อ้างอิงจาก 现代汉语词典第六版
เพิ่มเติม:
รู้หรือไม่ คำว่า ยี่ จากยี่สิบ หรือการนับยี่แบบไทยโบราณ มาที่มาจากคำว่า 二 ในภาษาจีน และ สอง มีที่มาจากคำว่า 双 ที่แปลว่าคู่
สามารถอ่านเรื่องน่าสนใจนี้ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/languagesandlinguistics/photos/a.2499123416866511/2541477562631096
ขอขอบคุณเพจ: ว่าด้วยเรื่องของภาษา สำหรับเนื้อหาภาษาศาสตร์ดีๆ ด้วยครับ
สำหรับภาษาจีนมาตรฐานที่พวกเราเรียนกันอยู่ อ้างอิงจากการใช้ภาษาทางภาคเหนือ เพราะฉะนั้น จึงถือ 二百 ที่เป็นวิธีการพูดของทางภาคเหนือเป็นมาตรฐาน ส่วน 两百 เป็นวิธีการพูดของทางภาคใต้ และยังคงมีใช้อยู่โดยทั่วไป
[ รู้หลักแล้วก็ต้องฝึกฝน มาลองฝึกกัน ]
มาอ่านแล้วไม่เอาไปใช้มันจะไม่เข้าหัวนะ มาลองเทสกันดีกว่า ดูโจทย์จากรูป หรือ ที่คำบรรยาย/บทความนี้ แล้วลองพิมพ์ตอบกันมาในคอมเมนท์ จะได้รู้ว่าทำถูกกันกี่ข้อ มีเฉลยอยู่ล่างๆ นะ
1. 9,000,780
2. 209
3. 520
4. 3,310
5. 12,345
6. 214,300,940
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
เฉลย
1. 9,000,780 九百万零七百八十 jiǔ bǎi wàn líng qī bǎi bā shí
2. 209 二百零九 èr bǎi líng jiǔ
3. 520 五百二十 wǔ bǎi èr shí
4. 3,310 三千一十 sān qiān yī shí
5. 12,345 一万两千三百四十五 yí wàn liǎng qiān sān bǎi sì shí wǔ / 一万二千三百四十五 yí wàn èr qiān sān bǎi sì shí wǔ
6. 214,300,940 二亿一千四百三十万零九百四十 èr yì yì qiān sì bǎi sān shí wàn líng jiǔ bǎi sì shí / 两亿一千四百三十万零九百四十 liǎng yì yì qiān sì bǎi sān shí wàn líng jiǔ bǎi sì shí
เป็นไงบ้าง ตอบถูกกันกี่ข้อบ้าง อย่าลืมมาคอมเมนท์บอกกันด้วยนะครับ
มีเรื่องไหนอยากให้มาเล่า มาพูดคุยกัน หรือ ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับจีนและภาษาจีน ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา