26 ม.ค. 2021 เวลา 10:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ในที่สุดผมก็ตัดสินใจลุกมาอาบน้ำแต่งตัวอย่างงัวเงีย เพราะกังวลใจจนหลับไม่ลง หลังจากวางโทรศัพท์ที่รายงานเคสจากไอซียู
มองดูนาฬิกา ตอนนั้นตีสองกว่าๆ แล้ว นึกในใจว่าผมพึ่งนอนไปตอนตีหนึ่งกว่า หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จไปตอนเที่ยงคืนนีเอง
“มาช่วยพี่ใส่ ECMO หน่อยครับ” ผมโทรไปบอกหมอ CVT รุ่นน้อง
“ ครับ ได้ครับ” น้องคงสะดุ้งตื่นมารับสาย ตอนตีสองตีสาม ด้วยความงุนงง
เราสื่อสารกันสั้น ๆ แต่ได้ใจความ ตามสไตล์หมอศัลยกรรมแบบนี้ เป็นที่เข้าใจ ไม่พิรี้พิไร
“ให้ อะดรีนาลีน อีก 1 แอมพ์ ครับ” ผมบอกพยาบาล ให้ฉีดยากระตุ้นหัวใจ ระหว่างที่สายตาก็จ้องมองหน้าจอมอนิเตอร์ที่โชว์ตัวเลขต่างๆ ของค่าสัญญาณชีพของคนไข้
“ เตรียมรถ CPR มาใกล้ๆ” ผมบอกพยาบาลให้เตรียมรถที่มียา และอุปกรณ์ช่วยชีวิตมาใกล้ๆ เตียงคนไข้ เพราะตัวเลขความดันเลือดลงมาที่ 40/20 และหัวใจคนไข้เต้นช้าเพียงแค่ 50 ครั้งต่อนาที บ่งบอกว่า หัวใจกำลังจะหยุดเต้น อีกอึดใจต่อมา หัวใจคนไข้กลับมาเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดกลับมาที่ 80/40 แสดงว่ายากระตุ้นหัวใจได้ผล ในขณะเดียวกัน ทีมพยาบาลผ่าตัด พร้อมเครื่องมือสำหรับใส่เครื่อง ECMO ก็มาทันเวลาพอดี
“แทงเข็มได้แล้ว แต่ใส่ลวดไม่เข้า ทำไงดี!” ผมเอ่ยปากปรึกษากับน้องที่มาช่วยผ่าตัด ด้วยความกังวล เนื่องจากถ้าใส่ลวดเข้าไปไม่ได้ ก็ใส่ท่อสำหรับเครื่อง ECMO เข้าไปในหลอดเลือดคนไข้ไม่ได้ แต่ก็จะยกเลิกการใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดก็ไม่ได้ เพราะใส่ท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำแล้ว ยังเหลือใส่ท่ออีกอันเข้าไปในหลอดเลือดแดง (เป็นสถานการณ์ที่ถอยหลังไม่ได้ ทำต่อก็อันตราย!)
1
“งั้นลองเปิดลงไปดูแล้วกัน” ในที่สุด ผมตัดสินใจใช้วิธีผ่าเปิดแผลลงไปดูหลอดเลือดให้เห็นกับตา (เป็นความลำบากพอสมควร เพราะต้องผ่าที่ข้างเตียงคนไข้ ไม่ได้ทำในห้องผ่าตัด)
“ ลำบากแล้ว ใส่สายไม่เข้า!” ผมเอ่ยปากกับน้อง เนื่องจากหลอดเลือดคนไข้มีหินปูนเกาะเต็มไปหมด ทำให้ไม่สามารถใส่ท่อหลอดเลือดแดงเข้าไปได้ เลือดท่วมออกมาจากหลอดเลือดแดงที่ขา มองไม่เห็นตำแหน่งที่จะใส่สายเข้าไป ตอนนี้ ความดันเลือดเริ่มลดลงมาอีก เหลือ 60/40 หัวใจเริ่มเต้นช้าลงอีก เหลือ 60 ครั้งต่อนาที เปอร์เซ็นต์ออกซิเจนในเลือดเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ ผมยังใส่สายหลอดเลือดแดงไม่ได้เลย
“ลองเจาะในตำแหน่งสูงขึ้นแล้วกัน” ในที่สุดผมรีบตัดสินใจเปลี่ยนตำแหน่งใส่ท่อหลอดเลือดแดงในตำแหน่งที่สูงขึ้น เปิดแผลกว้างขึ้น ใช้นิ้วอุดรูแผลเก่า แล้วแทงใส่ท่อหลอดเลือดแดงที่ตำแหน่งใหม่
“โอเค ปั๊มออน” ผมบอกให้เดินเครื่อง ECMO ได้ หลังจากพยายามใส่ท่อหลอดเลือดแดงจนได้ และต่อกับวงจรท่อไหลเวียนของเครื่อง ECMO ได้สำเร็จ
“ความดันเลือด 120/80 หัวใจเต้น 80 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือด 100 เปอร์เซ็นต์” พยาบาลขานบอกสัญญาณชีพ คนไข้ให้ทีมรับทราบ
“ พี่ฝากเย็บแผลหน่อยนะครับ” ผมบอกน้องที่ช่วยใส่ ECMO มาด้วยกัน หลังจากนั้นก็ออกมาถอดถุงมือและเสื้อกราวด์ผ่าตัด พร้อมกับทักทายพยาบาลกับน้องๆหมอที่เข้ามาดูคนไข้ในไอซียูตอนเช้า หันไปดูนาฬิกาก็เกือบ แปดโมงเช้า แล้ว คิดในใจว่า ดีนะที่อาบน้ำมาแล้ว ทำงานต่อได้เลย.
เครื่อง ECMO
โฆษณา