26 ม.ค. 2021 เวลา 12:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ว่าด้วยหุ้นส่วนเกิน (Over-allotment) 390 ล้านหุ้นของ PTTOR ??
เชื่อว่าหลายๆคนที่ได้หาข้อมูลของ PTTOR มาศึกษาจะทราบว่า จำนวนหุ้นที่เสนอขายในรอบนี้เท่ากับ 2,610 ล้านหุ้น และมีจำนวนหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) อีก 390 ล้านหุ้น
คำถามคือ 390 ล้านหุ้นนี้คืออะไร ??
มีไว้เพื่ออะไร ?? ทำไมไม่ออกมา 3,000 ล้านไปทีเดียว ??
รายย่อยอย่างเรามีโอกาสได้หุ้นส่วนเกินหรือไม่ ??
วันนี้ผมมีคำตอบให้ครับ
* Over-allotment คืออะไร ?
Over-allotment Option คือสัญญาเพิ่มเติมที่ทางผู้ออกตราสาร (Issuer : PTTOR) มอบให้กับที่ปรึกษาทางการเงิน (Investment Bank : บล. เกียรตินาคินภัทร) มี #สิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นเพิ่ม โดยตรงกับทางผู้ออกได้ในจำนวนหนึ่งหลังจากที่ได้มีการจำหน่ายไปแล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ให้ไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นที่ออกขายทั้งหมด
ในรอบนี้คือจำนวนที่ออกจำหน่าย 2,610 ล้านหุ้น และจำนวนที่ทำสัญญา Over-allotment ไว้คือ 390 ล้านหุ้น คิดเป็น 14.9% ไม่เกินตัวเลขที่ผมกล่าวไปพอดี
* แล้วทางผู้จัดสรรจะขายหุ้นออกมา 2,610 ล้าน หรือ 3,000 ล้านหุ้น ??
ถึงแม้ว่าทางทฤษฎีจะบอกว่าจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายคือ 2,610 ล้าน และมีส่วนเพิ่มเติมที่จะซื้อเพิ่มได้อีกอีก 390 ล้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ขายว่าจะใช้สิทธิ์เพิ่มหุ้นให้เป็น 3,000 ล้านหรือไม่
แต่ในทางปฎิบัติส่วนใหญ่แล้วผู้จัดสรรจะทำการจัดสรรหุ้นออกมาทีเดียว 3,000 ล้านหุ้นเลย ซึ่งในกรณีของ PTTOR ก็น่าจะไม่เป็นข้อยกเว้น และที่สำคัญคือจะจัดสรรไปทั้งๆที่ยังไม่ได้ขอซื้อหุ้นอีก 390 ล้านหุ้นจากสัญญา/สิทธิ์ที่ได้รับจากข้อด้านบนด้วย !!
นั่นหมายความว่า PTTOR ได้อนุมัติหุ้นมาให้ขายแค่ 2,610 ล้าน แต่คนขายกลับขายเกินจำนวนไป 390 ล้าน ถ้าเรายังใช้ระบบใบหุ้นอยู่ก็แปลว่าจะมีคนจำนวน 1.3 ล้านคน ที่จะ #ไม่ได้รับใบหุ้น อยู่ (ในกรณีที่ได้รับหุ้นคนละ 300 หุ้น)
* แบบนี้ทำได้ด้วยหรอ ?? แล้วคนที่ไม่ได้หุ้นจะทำยังไง ??
ทำได้ครับ และทำกันเป็นประจำด้วย แต่ทุกคนที่จองซื้อจะได้รับหุ้นครบนะครับ เพราะ 390 ล้านหุ้นที่จัดสรรเกินมานั้นทางผู้ขายจะไป #ขอยืม มาจากผู้ถือหุ้นเดิมของ PTTOR เพื่อมาส่งมอบให้กับนักลงทุนที่จองซื้อให้ครบทุกคน
ทำให้มีคำถามต่อไปว่า แล้วหุ้นที่ยืมมา #จะเอาไปคืนตอนไหน ล่ะทีนี้ ตรงนี้แหละครับคือจุดที่ยาก และเป็นจุดประสงค์ที่มี Over-allotment เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ด้วย เนื้อหาอาจจะวุ่นวายหน่อย ถ้าพร้อมแล้วเลื่อนไปอ่านพาร์ทถัดไปได้เลยครับ
*** ลองดูแผนผังอันนี้ประกอบไปด้วยได้นะครับ
* จุดประสงค์ของการยืมหุ้นเพื่อมาขายเกินจำนวน
การยืมหุ้น 390 ล้านหุ้นมาขายเกินจำนวนนั้นจะทำให้เกิดภาระในอนาคตที่ผู้ขาย (บล. เกียรตินาคินภัทร) ในฐานะผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินจะต้องหาหุ้นจำนวน 390 ล้านไม่ขาดไม่เกิน #มาคืนให้กับผู้ที่ถูกยืมไป
แต่ภาระนั้นคือสิ่งที่ดีต่อภาพรวมของ IPO ครับ เพราะว่าการหาหุ้นมาคืนนั้นทำได้ 2 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป
#วิธีแรก : ไปซื้อคืนจาก Secondary Market หรือในตลาดหลักทรัพย์เพื่อมาคืนให้กับผู้ถือหุ้น
ถ้าเลือกวิธีนี้ทางผู้ขายก็จะต้องไปส่งคำสั่งซื้อในตลาดเพื่อสะสมหุ้นให้ได้ครบ 390 ล้านหุ้น และนำหุ้นทั้งหมดนั้นไปส่งมอบคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ 30 วัน
ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อ๋อ ถือว่าเยี่ยมมากครับ เพราะนี่คือกลไกที่เรียกว่า Price Stabilization หรือเป็นการสนับสนุนราคาหลักทรัพย์ในตลาดรองไม่ให้ราคาตกจากราคา IPO มากนัก เพราะทางเลือกนี้จะเป็นการ #การันตีว่าจะมี Bid Order จากทางผู้ขายอย่างน้อย 390 ล้านหุ้น ภายใน 30 วันแรกของการเทรดแน่นอน
การทำแบบนี้จะทำในกรณีที่ #ราคาหุ้นหลังเข้าตลาดไปแล้วราคาลดลง ไปต่ำกว่าราคา IPO เพราะการช้อนซื้อดังกล่าวจะไปช่วยเพิ่ม Demand ในตลาดหลักทรัพย์และส่งผลให้ราคาที่ลดลงไปนั้นมีแนวโน้มที่จะ #ปรับตัวกลับขึ้นมา อยู่ในจุดที่น่าพอใจนั่นเอง
***นอกเหนือจากช่วยสนับสนุนราคาแล้วยังทำให้ทางผู้ขายได้กำไรด้วยนะครับ อย่าลืมว่าเค้าขายให้นักลงทุนรายย่อยไปในราคา IPO (กรณีนี้คือ 18 บาท) แต่ถ้าเค้าไปช้อนซื้อในการทำ Stabilization ก็จะหมายความว่าซื้อหุ้นไปคืนในราคาต่ำกว่าที่ขายไปตอนแรกด้วยซ้ำ มีแต่ได้กับได้ 😆😆
* คำถามต่อมาก็คงเป็นกรณีที่ราคาหุ้นหลังเข้าตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่า 18 บาทจะเกิดอะไรขึ้น ?? เพราะสมมุติว่าถ้าไปซื้อมาคืนในราคา 20 บาทก็จะทำให้ผู้ขายขาดทุนถูกมั้ยครับ
คำตอบนั้นคือ Over-allotment Option ที่เราคุยกันไว้ในตอนต้นนั่นเองที่ทำให้เกิดอีกวิธีนึงดังนี้
วิธีที่สอง : การซื้อหุ้นจากสิทธิ์ที่ทำสัญญากันไว้ 390 ล้านหุ้นในตอนต้น
โดยจะเป็นการ #ใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นโดยตรง จาก PTTOR จำนวน 390 ล้านหุ้นทีเดียวในราคาที่ระบุเอาไว้ในสัญญา (ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคา IPO อยู่เล็กน้อย ส่วนต่างคือกำไรของผู้ขายเช่นกัน เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งร่อง)
และจะนำหุ้นจำนวนนั้น #ส่งมอบคืนให้กับผู้ถือหุ้น ได้เลย ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหุ้นในตลาดกรณีที่ราคาหลัง IPO ขึ้นสูงกว่า 18 บาทนั่นเองครับ เป็นการ #ปิดความเสี่ยง ในกรณีราคาหุ้นขึ้นเหนือ IPO ของผู้ขายไปโดยปริยาย
ซึ่งถ้าเป็นวิธีนี้ จำนวนหุ้นที่ออกขายทั้งหมดจะเพิ่มจาก 2,610 ล้านในตอนต้นกลายเป็น 3,000 ล้านทันที เพราะ จะมีการ #นำหุ้นออกมาจำหน่ายเพิ่มจริงๆ ไม่ใช่การยืมหุ้นมาขายเหมือนในตอนแรก และทำให้ทาง PTTOR ได้รับเงินเพิ่มจากการระดมทุนอีกก้อนนึงในรอบนี้ด้วย (ประมาณ 7,000,000,000 บาท)
*** ในทางกลับกันนั่นคือถ้าราคา IPO ตกลงต่ำกว่า 18 บาทแล้วผู้ขายใช้วิธีช้อนซื้อ ตัวของ PTTOR ก็จะไม่ได้เงินก้อนนี้นั่นเองครับ
และนี่คือความหมาย และจุดประสงค์ของการมีหุ้นส่วนเกิน 390,000,000 หุ้นครับ
ถ้าดูจากจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้นักลงทุนรายย่อยจากหนังสือชี้ชวนจะมีอยู่ 595,700,000 หุ้น จำนวนนี้จะคิดมาจากจำนวนเสนอขาย 2,610,000,000 ล้านหุ้น และยังไม่ได้รวม 390,000,000 หุ้นที่เป็นหุ้นส่วนเกิน
และใน 2,610,000,000 นั้นจะเป็นการขายให้กับผู้ถือหุ้น PTT แม่ไม่เกิน 300 ล้านตามที่ระบุไว้ใน Filing
ดังนั้นถ้ามีการจัดสรรเพิ่มอีก 390,000,000 จากจำนวนที่เหลือ 2,310,000,000 หุ้น ก็จะเป็นการจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อย, สถาบัน และต่างชาติ ซึ่งถ้าแบ่งแบบบัญญัติไตรยางค์แล้ว
รายย่อยมีโอกาสได้หุ้นเพิ่ม ประมาณ 100,000,000 หุ้น (~25.79%)
สถาบันมีโอกาสได้หุ้นเพิ่ม ประมาณ 290,000,000 หุ้น (~54.73%)
ต่างชาติมีโอกาสได้หุ้นเพิ่ม ประมาณ 76,000,000 หุ้น (~19.48%)
*** สัดส่วนคำนวณจากจำนวนหุ้นจัดสรร 595,700,000 / 1,264,300,000 / 450,000,000 ตามลำดับ
ต้องบอกก่อนว่าตัวผมไม่ทราบจริงๆว่าทางเกียรตินาคินภัทรจะจัดสรรหุ้นส่วนเกินนี้อย่างไรนะครับ ตัวเลขที่เสนอไปคือการแบ่งสัดส่วนตามสัดส่วนเดิม แต่การจัดสรรจริงจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความต้องการซื้อของแต่ละกลุ่ม/ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางราคาต่างด้วย แต่ที่แน่ๆ 390,000,000 นี้มันไม่ได้ตกถึงมือรายย่อยทั้งหมดอย่างแน่นอน
สรุป- เรื่องหุ้นส่วนเกิน 390,000,000 หุ้น
ใครที่เข้าใจว่าการจองซื้อนี้รายย่อยอย่างเราจะมีโอกาสได้หุ้นเพิ่มเพราะมีส่วนเกินเหลืออยู่ตั้ง 390,000,000 หุ้น อาจจะต้องปรับความเข้าใจใหม่นะครับ เพราะว่ามันไม่ได้เหลือถึงมือเราขนาดนั้น ถ้าดุลยพินิจของผู้ขายมองว่าไม่ควรจัดสรรให้มาก อาจจะได้แค่ไม่กี่หุ้นเท่านั้น
อันนี้จะมองว่าเป็นข่าวร้ายนิดนึงก็ได้ครับ
แต่ในมุมของข่าวดีของโพสต์นี้ ถ้ามองอีกมุม ซึ่งคือมุมที่ผมพยายามจะสื่อความหมายของการทำ Price Stabilization ก็คือถ้าราคาหุ้นตกลงหลังเข้าตลาด เราก็ยังพออุ่นใจได้เพราะจะมีกระบวนการนี้มาช่วยสนับสนุนราคาอยู่ครับ แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยในระดับหนึ่ง เพราะหลายๆหุ้นที่มี Over-allotment แบบนี้ในอดีตก็ยังราคาตกจากราคา IPO ได้ด้วยเช่นกัน
ยังไงก็พิจารณาข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจจองซื้อนะครับ ใครจองไปแล้วก็ลองนำไปวางแผนการซื้อขายในตลาดกันอีกทีครับ
สำหรับวันนี้จบเพียงเท่านี้ครับ
ถ้าใครชอบเนื้อหาเน้นๆตามสไตล์เพจ “เล่า” ของผมก็สามารถกด Like เพจเพื่อติดตามเนื้อหาใหม่ๆของทางเพจได้นะครับ จะมีมาเล่าให้ในหลายๆเรื่องเลย ตามเพจเล่าไม่มีเบื่อแน่นอน เพราะแอดมินขี้โม้ หามาเล่าได้ทุกเรื่องครับ 😂😂
อยากให้เล่าเรื่องไหน รีเควสได้ ถ้าไม่นอกเหนือความสามารถก็จะไปหามาให้ครับ 😎😎
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
ติดต่อโฆษณา หรือ ติดต่อร่วมงานกับเพจ “เล่า” ได้ที่อีเมล์ ptns81@gmail.com
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #PTTOR
โฆษณา