24 มี.ค. 2021 เวลา 12:30 • สิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์แบบใหม่ด้วยการนับช้างจากอวกาศ
5
ถ้าจะบอกว่าการนับจำนวนประชากรช้างจากอวกาศเป็นเรื่องยากไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทรก็คงไม่ผิดนัก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากดาวเทียมและ AI ได้เข้ามามีบทบาทในงานอนุรักษ์ลักษณะนี้
1
การนับจำนวนประชากรสัตว์ เป็นขั้นตอนหนึ่งของการอนุรักษ์​ คือ​ ทำไปเพื่อการจดบันทึกทางสถิติให้รู้ว่าบริเวณนั้นยังมีสัตว์ชนิดนั้นหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนเท่าใด เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ใกล้สูญพันธุ์หรือยัง นอกจากนั้นยังเป็นการสำรวจแหล่งหากิน ว่าหากินอยู่แถวไหนบ้าง มีการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่หรือไม่
วิธีการเก็บข้อมูลมีตั้งแต่ออกสำรวจด้วยตัวเอง ซึ่งต้องเข้าป่าไปนั่งห้างบนต้นไม้สังเกตการณ์คราวละหลายวัน ไปจนถึงติดตั้งกล้องบันทึกภาพในป่า แต่ถ้าบริเวณนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ หรือ ยากต่อการเข้าถึง จะใช้วิธีสำรวจทางอากาศโดยใช้เครื่องบินเป็นยานพาหนะ และนับด้วยตา เมืองไทยก็มีการสำรวจจำนวนประชากรพะยูนที่อยู่ในทะเลด้วยวิธีการนับบนเฮลิคอปเตอร์เช่นกัน
แต่วิธีการนี้ก็มีข้อผิดพลาดจาก human errors เช่น ในวันที่ทำการสำรวจ อากาศอาจจะไม่เป็นใจ ทัศนวิสัยไม่ดี หรือ ผู้ทำการสำรวจนับพลาด ตาล้า เหนื่อย มองเห็นไม่ครบ ฯลฯ รวมถึงการนำเครื่องขึ้นบินแต่ละทียังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริเวณที่กว้างใหญ่มากๆ
นักวิจัยจากทีม WildCRU’s Isla Duporge มหาวิทยาลัย Oxford ได้ร่วมมือกับทีมพัฒนา Machine learning ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ พัฒนาโปรแกรม Deep learning ให้ AI เรียนรู้และพัฒนาทักษะการแยกแยะช้างจากภาพถ่ายทางดาวเทียม ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้กว้างถึง 5000 x 5000 ตารางกิโลเมตร ไม่รบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ ทีมสำรวจไม่ต้องไปเสี่ยงอันตราย และไม่เสียเวลากับการทำหนังสือขออนุญาตข้ามเขตแดนหรือขอเข้าไปในเขตพื้นที่หวงห้ามอีกด้วย
ox.ac.uk
พื้นที่ทดลอง คือ ทวีปแอฟริกาใต้ที่มีภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา เป้าหมายคือการนับช้างแอฟริกัน (Loxodonta africana) ซึ่งพบว่ามีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาร้อยปีที่ผ่านมาทั้งจากการถูกฆ่าและการลดลงของถิ่นอยู่อาศัย ดังนั้นจึงต้องทราบจำนวนประชากรที่เหลืออยู่และถิ่นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันเพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ต่อไป
ทีมวิศวกรที่รับหน้าที่พัฒนาระบบ AI ได้ป้อนข้อมูลให้ AI ค่อยๆเรียนรู้จากภาพถ่าย ว่าสิ่งนี้คือต้นไม้ สิ่งนี้ไม่ใช่ต้นไม้ สิ่งนี้คือช้าง สิ่งนี้ไม่ใช่ช้าง จนพอใจในประสิทธิภาพและความแม่นยำ จึงนำมาทดสอบความสามารถเปรียบเทียบกับมนุษย์โดยให้นับช้างจากภาพถ่ายดาวเทียมเช่นกัน พบว่าความแม่นยำของ AI และมนุษย์มีค่าใกล้เคียงกัน (F2 scores ของ AI คือ 0.78 ในขณะที่ F2 scores ของมนุษย์ คือ 0.77) แต่ AI ใช้เวลาน้อยกว่ามาก
1
ถึงแม้งานวิจัยนี้จะไม่ใช่งานแรกที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างดาวเทียมและ AI มาช่วย แต่เป็นงานแรกที่ใช้วิธีนี้ในการติดตามสัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ ในลักษณะภูมิประเทศแบบผสมอย่างทุ่งหญ้าสะวันนา คือมีทั้งส่วนที่เป็นทุ่งหญ้าและป่าโปร่ง นี่จึงถือเป็นก้าวใหม่ในงานอนุรักษ์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
References >>
โฆษณา