Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
DINSOR
•
ติดตาม
27 ม.ค. 2021 เวลา 07:21 • ศิลปะ & ออกแบบ
4 Checklists ตัวช่วยในการเลือก Graphic Studio ให้ถูกใจ
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเลือกสตูดิโอดีไซน์ตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ตรงจุด
--
หากใครที่เคยทำงานร่วมกับกราฟิกสตูดิโอมาก่อน ย่อมจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า แต่ละองค์กรต่างมีจุดเด่นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน และเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้แบบหมัดต่อหมัด ซึ่งความต่างเหล่านี้เองมีส่วนในการผลักดันและส่งเสริมผลงานหรือผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางที่แตกต่างกันไป บ้างเด่นในเรื่องของแนวความคิดที่แปลกใหม่ บ้างถนัดงานแนวทดลอง (experimental) หรืออาจมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นแนวทาง ซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกันต่อการตัดสินใจในฐานะของผู้ว่าจ้าง
ดังนั้นแล้วคงเป็นการดีไม่น้อยหากเราได้ ‘ทำการบ้าน’ ในฐานะเจ้าของหรือผู้ดูแลสินค้ามาเสียหน่อยว่าสตูดิโอแบบไหนกันที่เหมาะสมต่องานของเรามากที่สุด และวันนี้ DINSOR ได้นำ 4 เรื่อง ที่จะช่วยเป็น checklist ให้การเลือกสรรสตูดิโอที่ตรงใจคุณเป็นเรื่องที่ง่าย สนุก และตรงตามความต้องการของงานโดยไม่ต้องพึ่งพาโชคลางแต่อย่างใด เป็นตัวช่วยและข้อคิดให้แก่ผู้อ่านทุกท่านได้นำไปพิจารณาเหมือนเช่นเคย
1. Philosophy & Principle
เรื่องราว แนวคิดและตัวตนขององค์กรคือปราการด่านแรกที่สามารถบอกกับเราได้ว่าลักษณะการทำงานหรือสไตล์การออกแบบของสตูดิโอแห่งนั้นๆ เป็นไปในลักษณะไหน สอดคล้องกับ philosophy เราหรือไม่ เพื่อเป็นตัวคัดกรองว่าหากเราว่าจ้างหรือฝากงานกับสตูดิโอแห่งนี้แล้ว การทำ Brand Identity หรือ Marketing Communication จะสามารถผลักดันแบรนด์ของเราได้อย่างถูกทิศถูกทางหรือไม่
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะแนวคิดขององค์กรคือสิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ทั้งแนวทางการทำงานและบุคลิกลักษณะ มันคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่พวกเขาเลือกใช้ในการอธิบายตัวตนของบริษัทต่อคนภายนอกว่าพวกเขาเป็นอย่างไร โดดเด่นหรือมีความเชี่ยวชาญด้านไหน หรือมีทัศนคติแบบใด ดังนั้นแล้วองค์ประกอบนี้จึงเปรียบได้กับตัวกรองชั้นแรกสุดที่ผู้ว่าจ้างควรคำนึงถึง
2. Experience & Expertise
หลังจากที่ค้นหาสตูดิโอที่มีแนวทางการทำงานที่ตรงใจได้แล้ว ลำดับถัดไปจึงเป็นเรื่องของการสอดส่อง portfolio ขององค์กรดังกล่าวว่าเป็นไปในลักษณะไหน ซึ่งสามารถช่วยให้เราเห็นถึงความถนัดเฉพาะทางของบริษัทนั้นๆ ว่าเหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ของเราหรือไม่ และที่นอกเหนือไปจากเรื่องของความถนัดเฉพาะด้านและประสบการณ์ เรายังสามารถเห็นได้ถึงชั้นเชิงการออกแบบหรือวิธีการคิดงานในโปรเจคที่ผ่านๆ มาอีกด้วยว่า พวกเขามีวิธีการตีความโจทย์แบบต่างๆ อย่างไร ถ่ายทอดออกมาผ่านวิธีไหน และเหมาะสมหรือสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้กับแบรนด์ของเราได้มากน้อยเพียงใด
3. Responsibility & Time Management
เมื่อทุกอย่างลงตัว การนัดเจอเพื่อพูดคุยเรื่องข้อตกลงกันต่อหน้าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเราในฐานะผู้ว่าจ้างจะได้มีโอกาสในการสื่อสารถึงความต้องการของเราว่าอยากให้เป็นไปในทิศทางไหน และทางสตูดิโอมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งทางบริษัทเองก็จะได้มีโอกาสในการนำเสนอความคิดเห็นหรือแนวทางของพวกเขาที่มีต่อความต้องการนั้นๆ และอาจรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดที่อาจคาดไม่ถึงด้วยก็เป็นได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งขอบเขตของเนื้องานและเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
ซึ่งในส่วนของ time management นั้นคือเรื่องของการตรงต่อเวลาของทางสตูดิโอที่ช่วยเหลือดูแลงานให้ว่า มีความรวดเร็วในการตอบรับ จัดการหรือประสานงานแค่ไหน ระบบขั้นตอนการอัพเดทผลงานเป็นอย่างไร และตรงต่อเวลาตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญต่อทั้งสองฝ่าย ปัจจัยนี้จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการบริหารเวลาของทางองค์กร ซึ่งในส่วนนี้ทางเราเองก็ควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับทางสตูดิโอด้วยเช่นกัน เพื่อให้นักออกแบบสามารถวางแผนงานล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. Art is incomparable
เรื่องสุดท้ายที่มักจะเกิดขึ้นในการนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘ราคาค่าตัว’ แน่นอนว่าแต่ละสตูดิโอย่อมมีเรทค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป บ้างดูย่อมเยา บ้างอาจรู้สึกว่าแพง ในส่วนนี้ที่หากเรารู้สึกเกิดข้อสงสัยในค่าใช้จ่ายที่ปรากฏขึ้น การจะพูดคุยต่อรองหรือสอบถามขั้นตอนต่างๆ กับทางสตูดิโอให้ถี่ถ้วนก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและความพึงพอใจต่อกันเสียตั้งแต่ก่อนเริ่มออกเดินทางไปด้วยกัน
ซึ่งหากมองในมุมที่ต่างออกไปนอกเหนือจากการว่าจ้างงาน มันคือการจ่ายเพื่อซื้อการบริการอย่างหนึ่งจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมประสบการณ์วิชาชีพมาอย่างยาวนาน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง เหมือนเช่นที่เราทุกคนสามารถตกแต่งบ้านให้อยู่อาศัยได้ แต่หากต้องการความสวยงามที่พร้อมด้วยฟังก์ชั่น เหล่ามัณฑนากรคือคำตอบ เราสามารถตัดผมผ่านกระจกที่บ้านได้ แต่การพึ่งพาช่างตัดผมคนโปรดย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในการนี้ก็เช่นกันหากคุณต้องการพัฒนาและสร้าง awareness ให้แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ การพึ่งพาสายตาของเหล่ามืออาชีพก็เป็นอีกเรื่องที่ควรจะลงทุนกับมันไม่ต่างกัน
สุดท้ายแล้วเมื่อจะจ้างงานกราฟิกสตูดิโอสักแห่ง ควรที่จะดูอะไรประกอบการตัดสินใจบ้าง?
- แนวคิดและลักษณะการทำงาน ขององค์กรนั้นๆ ว่ามีความสอดคล้องต่อลักษณะของงานหรือสินค้าของเรามากน้อยแค่ไหน
- ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และวิธีการตีความโจทย์งาน ที่ผ่านมาของสตูดิโอ ว่ามีแววจะสามารถนำมาประยุกต์กับงานของเราได้มากน้อยเพียงใด
- การบริหารเวลาและการวางขั้นตอนการทำงานอย่างมีแบบแผน ความรวดเร็วในการตอบรับ ประสานและอัพเดทกระบวนการสร้างสรรค์ ว่าเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่อย่างไร
- การทำข้อตกลงที่ตรงใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งในแง่ของราคา ความเข้าใจ และขั้นตอนการทำงาน ว่าเป็นไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายต่างพึงพอใจและมองเห็นไปในทิศทางที่ตรงกัน
ติดตามผลงานการออกแบบของ DINSOR ได้ที่นี่
designbydinsor.com
Projects – Dinsor Co., Ltd.
เยี่ยมชม
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย