27 ม.ค. 2021 เวลา 10:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
17 ข้อคิดการลงทุนในหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์
ในบทความก่อนหน้านี้เราได้สัมผัสกับข้อคิดการลงทุนหุ้นของ ปีเตอร์ ลินซ์ ผู้ยิ่งใหญ่กันมาแล้ว หวังว่าเหล่า "นักลงทุนหุ้นมือใหม่" จะได้นำบางส่วนจากข้อคิดเหล่านั้นมาพัฒนาทัศนคติด้านการลงทุนกันบ้างแล้ว เล็กๆน้อยๆค่อยๆไปก็ยังดีครับ ซึ่งในบทความนี้ ผมจะพาพวกเราไปทำความรู้จักกับปูชนียบุคคลด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor ) อีกท่านหนึ่ง นั่นคือ "วอเร็น บัฟเฟตต์" (Warren Buffett) บุคคลผู้ทรงคุณค่าของนักลงทุนวีไอทั่วโลกซึ่งไม่มีใครไม่รู้จัก แต่พวกเรามือใหม่บางท่านก็อาจจะไม่รู้จัก!! ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของบทความนี้ครับ เขียนเพื่อมือใหม่ เขียนโดยมือใหม่เช่นกัน ฮ่าๆ
เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อเราริอาจจะเป็นนักลงทุนหุ้นวีไออย่างเข้มข้น ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเด็ดขาดที่จะศึกษาและเรียนรู้ทั้งประวัติส่วนตัวและแนวคิดของบัพเฟตต์ ซึ่งเขาได้ฝากประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งไว้ในโลกแห่งการลุงทุนอย่างมากมายเหลือเกิน ถือว่าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและภาคบังคับของโรงเรียนวีไอสายแข็งเลยล่ะครับ หากว่าเรานั้นมีเป้าหมายในการมีอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง และเติบโตไปสู่การเป็นนักลงทุนวีไออย่างมั่งคั่ง มั่นคง
1
cr. Forbes
"วอเร็น บัฟเฟตต์" เกิดเมื่อปี ค.ศ.1930 ในเมืองโอมาฮ่า รัฐเนบราสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา (Omaha, Nebraska, USA) ปัจจุบันอายุ 90 ปี และเป็นบุคคลที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งถูกจัดอันดับโดย Forbes ผ่านการถือครองทรัพย์สินสุทธิที่มีมูลค่า 87.9 Billion หรือประมาณ 87.9 ล้านล้านบาท (ไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ ฮ่าๆ) เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด (CEO) และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท "เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์" (Berkshire Hathaway) บริษัทด้านการลงทุนที่มีนโยบายในการเข้าไปถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) อาจกล่าวได้ว่าบริษัทแห่งนี้คือบ่อเงินบ่อทองของความมั่งคั่งส่วนใหญ่ในชีวิตเขา หากเราจะสาธยายถึงเรื่องราวชีวประวัติของบัฟเฟตต์อันควรค่าแก่การศึกษาต่อไปอีกก็คงจะยืดยาวเกินไป ขออนุญาตเก็บงำเอาไว้เพื่อเปิดประเด็นในโอกาสครั้งต่อๆไป
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า (สักที) และต่อไปนี้คือ "17 ข้อคิดการลงทุนในหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์" ที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาทัศนคติ การวางแผน และการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนมือใหม่ทั้งหลาย เมื่อเราค่อยๆอ่านไปเรื่อยๆในแต่ละข้อ เราก็อาจจะค้นพบได้ว่าเหตุใดบัฟเฟตต์จึงสามารถยืนหยัดอยู่บนถนนสายนี้ได้อย่างมั่นคงและสง่าผ่าเผยตราบจนถึงทุกวันนี้ "ชายชราผู้เป็นต้นแบบแห่งนักลงทุนวีไอทั่วโลก"
cr. Forbes
1. คัดเลือกบริษัทที่มีค่า ROE สูงกว่า 15% ขึ้นไป ตัวเลขยิ่งมากก็ยิ่งแสดงว่าบริษัทนั้นๆ อาจมีการบริหารกิจการที่ดี และ/หรือมีความสมดุลทางธุรกิจ (Business Equation)
2. กำจัดบริษัทที่มีค่า P/E สูงกว่า 7 เท่า ออกไปเสีย เพราะหากเราเลือกเฉพาะบริษัทที่ทำกำไรได้มากกว่า 1 ใน 7 ของราคา การถือหุ้นบริษัทดังกล่าวก็จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างต่ำ 15% ของราคาต่อหุ้นที่คุณจ่ายไป
3. ตรวจสอบข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทย้อนหลังไป 5 ปี สิ่งแรกที่ควรต้องดูก็คือ ดูว่า ROE นั้น ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามันควรจะอยู่ในอัตราที่สูงอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
4. ถ้าหากบริษัทนั้นๆที่มีค่า ROE สูงอย่างสม่ำเสมอ เดาได้เลยว่าตัวเลขผลกำไรจะอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตที่ดี ลองเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียดสักนิดก่อนก็ได้ว่าเป็นอย่างไร
5. ตรวจสอบการเจริญเติบโตของรายได้ หากพบว่ามันเป็นไปได้ด้วยดี ก็อนุญาตให้คุณเริ่มชอบเจ้าบริษัทนี้ได้บ้าง
6. ตรวจสอบดูว่าบริษัทมีอัตราการกู้ยืมที่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนหรือไม่ การกู้ยืมเป็นสิ่งที่ดี สำหรับบริษัทที่ดี เพราะว่าจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการนำเงินที่กู้ยืมไปลงทุนเพิ่มในกิจการ รายได้ที่เกิดขึ้นนั้นจะสูงกว่าปริมาณดอกเบี้ยที่บริษัทต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าบริษัทที่ดีย่อมรักษาระดับหนี้ให้ต่ำกว่าระดับส่วนทุนได้เสมอ
7. ย้อนกลับไปดูข้อมูลและตรวจสอบไปถึงภาพลักษณ์และบุคลิกลักษณะของผู้บริหาร จงจำไว้ว่า “ความซื่อสัตย์”” เป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับการบริหารจัดการ ผู้บริหารที่มีความซื่อตรงจะทำตัวเป็นเสมือนเจ้าของบริษัท เขาจะไม่ใช้จ่ายสินทรัพย์ในส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นทุกรายเท่าเทียมกัน
cr. Business Insider/Andy Kiersz
8. บริษัทที่บริหารงานโดยสมาชิกในครอบครัวของผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำเป็นต้องถูกสงสัยไว้ให้มาก นอกจากนั้นผู้บริหารที่มีภูมิหลังอันน่าสงสัย อาจใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองในการหาประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
9. ผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์มักจะมีประวัติที่ไม่ซื่อสัตย์ด้วย ดังนั้นคุณควรจะต้องค้นหาบุคคลที่มีอดีตอันใสสะอาดย้อนหลังไปนานสักหน่อย และถ้าหากการสืบค้นนั้นๆ มีเพียงสักครั้งที่ทำให้คุณเกิดข้อสงสัยในบุคคลคนนั้นขึ้นมา ก็โปรดหนีไปให้ห่างบริษัทที่เขาบริหารงานอยู่จะเป็นการดีที่สุด
2
10. ผู้บริหารที่คุณต้องการไม่ใช่แค่เพียงเป็นคนทำงานหนักและเฉลียวฉลาด แต่เขาจะต้องเป็นผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์ด้วย เพราะถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ จริงใจ “การทำงานหนักและเฉลียวฉลาด อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลบเกลื่อน" จนทำให้สายตาของคุณไม่สามารถมองเห็นถึงข้อเท็จจริง
1
11. คัดเลือกบริษัทที่มีค่า ROE ไม่แน่นอน หรือมีค่า ROE สูง ที่เกิดจากการกู้ยืมเป็นจำนวนมากออกไป (ROE เกิดจากการนำเอากำไรสุทธิหารด้วยส่วนผู้ถือหุ้นคูณด้วย 100 บางบริษัทกู้เงินมากทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นต่ำ ถ้ากำไรเท่าเดิมหารด้วยตัวหารที่น้อยลง ตัวเลขจะออกมาสูง) หรือบริษัทที่มียอดขายคงที่ และมีแนวโน้มจะตกต่ำก็ควรจะคัดออกไปด้วย คุณจะพบว่าการเลือกหุ้นนั้นหลักใหญ่ๆก็คือ การคัดเลือกของเสียทิ้ง และของดีจะถูกคัดเลือกไปเรื่อยๆ จนพบของที่มี "ตำหนิ" น้อยที่สุด
2
cr. Forbes
12. ท้ายที่สุด เมื่อผ่านการค้นคว้าวิจัยมาบ้างแล้ว คุณก็จะสามารถเลือกหุ้นเพื่อลงทุนได้อย่างชาญฉลาดและอุ่นใจ เพราะรู้ว่าคุณกำลังซื้อหุ้นของบริษัทที่มีการบริหารของกิจการที่ดี ในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีข้อมูลเบื้องหลังสนับสนุนเพียงพอที่คุณจะรู้ว่าบริษัทจะไปได้อีกไกลในอนาคต
1
13. สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ "ราคา" คุณควรจะชื่นใจเมื่อเห็นค่า P/E น้อยกว่า 4 เท่า เพราะนั่นคือรางวัลจากความพยายามของคุณ เนื่องจากหุ้นเหล่านั้นจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถึง 25% ของราคาหุ้นต่อปี (100 หาร 4)
1
14. นอกจากนั้นคุณจะยังได้รับโบนัสก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง คุณจะพบว่าบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะจ่ายกำไรก้อนโตออกมาประมาณครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นเงินปันผล ซึ่งก็คือการให้ผลตอบแทน 8-15% ต่อปี หากบริษัทจะกระทำเหมือนในปีที่ผ่านๆมา เมื่อเลือกบริษัทดี เงินปันผลก็คือโบนัสที่ดี
1
cr. Yahoo Finance
15. เป็นการดีที่คุณจะเลือกหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบริษัทที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ถ้าหากคุณพิจารณาแล้วว่ามีลู่ทางที่เหนือกว่า ไม่ว่าคุณจะซื้ออะไรก็ตาม บางครั้งมันก็คุ้มค่าถ้าจะจ่ายมากกว่าเพื่อคุณภาพ หากเป็นหุ้นที่เติบโตสูงก็อาจยอมจ่ายที่ P/E สูงขึ้น เพื่อคุณภาพมากกว่าราคา
16. เมื่อเดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของขบวนการคัดเลือกและคัดออก คุณคงกำลังนั่งดูหุ้นอยู่สัก 10 - 25 บริษัท ทฤษฎีการวิเคราะห์หลักทรัพย์ชี้ว่า พอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ที่ดีควรจะประกอบด้วยหุ้นประมาณ 7-8 บริษัท เพราะการวิเคราะห์ทางสถิติแสดงให้เห็นแล้วว่าประโยชน์ของการกระจายการลงทุนจะลดน้อยลงไปเมื่อเกินจุดๆนี้ การมีพอร์ตโฟลิโอที่กระชับ จะช่วยให้คุณติดตามการดำเนินงานของบริษัทของคุณได้ง่ายขึ้น การกระจายหุ้นมากเกินความจำเป็นนั้นเป็นปฏิกิริยาของนักลงทุนที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง ซึ่งความรู้สึกไม่มั่นใจนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วยการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทของตนอย่างสม่ำเสมอ
17. จงรักษามุมมองทางธุรกิจไว้ในฐานะนักลงทุนระยะยาว คำถามสำคัญที่สุดซึ่งคุณควรจะถามตัวเองก็คือ บริษัทสามารถนำกำไรสะสม (retained earning) มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ การผูกมัดเงินทุนของคุณไว้กับบริษัทที่ไม่มีทั้งโอกาสและศักยภาพในการบริหารกำไรสะสม มีแต่จะทำให้เรือของคุณจอดนิ่งอยู่กลางน้ำ อย่างไรก็ดี จงเลือกบริษัทที่สามารถทบต้น (compound) ผลกำไรได้ แล้วการลงทุนของคุณจะเจริญรุ่งเรืองเป็นเท่าทวีคูณ สิ่งสำคัญที่สุดคือมุมมองนักลงทุนระยะยาว และสิ่งมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้น!!
1
จบไปแล้วกับ 17 ข้อคิดการลงทุนในหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ เราอาจจะสรุปสั้นๆในสิ่งที่บัฟเฟตต์ให้ความสำคัญมากๆต่อการลงทุนครั้งใดครั้งหนึ่งนั่นก็คือ ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของบริษัท, ราคาถูก (แต่จะยอมจ่ายแพงขึ้นถ้าหากบริษัทมีการเติบโตสูง), รายได้และกำไรสุทธิเติบโตสม่ำเสมอ, หนี้น้อย, ผู้บริหารมีความสามารถและซื่อสัตย์, เงินปันผล, การบริหารจัดการพอร์ต และสิ่งสำคัญที่สุดคือความมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้น (Compound Interest)
หากผู้อ่านท่านใดสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ เพิ่มเติม ผมก็มีหนังสือมาแนะนำ 2 เล่มด้วยกัน นั่นคือ "เปิดปมชีวิตสู่วิธีคิดแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์" (The Snow Ball) ทั้งเล่ม 1 และเล่ม 2 ครับ เขียนโดย อลิซ ชโรเดอร์ (Alice Schroeder) แปลโดย นรา สุภัคโรจน์ หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับตัวบัฟเฟตต์นั้นมีมากมายเป็นร้อยเล่ม ซึ่งถูกเขียนโดยคนอื่น บัฟเฟตต์ไม่เคยออกหนังสือที่เขียนด้วยตนเองเลย หนังสือ "The Snow Ball" นั้นถูกคัดกรองโดยนักลงทุนวีไอทั่วโลกแล้วว่าดีที่สุดหากคุณคิดจะซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับบัฟเฟตต์มาศึกษาเรียนรู้สักเล่มอย่างคุ้มค่า ก็ต้องสองเล่มนี้ล่ะครับ
2
cr. สำนักพิมพ์วีเลิร์น
แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้านะครับ "เหล่านักลงทุนวีไอมือใหม่ทุกท่าน" ขอให้มีความสุขกับการลงทุนอย่างมีหลักการครับ ;)
อ้างอิง
โฆษณา