27 ม.ค. 2021 เวลา 13:56 • ไลฟ์สไตล์
แชร์การวางแผนการออมเงินและลงทุนประจำเดือน 💰💸
การวางแผนการออมเงินและการควบคุมค่าใช้จ่ายของแต่ละเดือนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าเรามีการวางแผนที่ไม่ดีพอเราจะไม่มีทางไปถึงเป้าหมายทางการเงินในอนาคตที่เราตั้งไว้ได้เลย
แล้วควรวางแผนทางการเงินยังไงดี❓
ก่อนอื่นเพื่อนๆต้องคำนวณรายได้ทั้งหมดของเพื่อนๆก่อนว่ามีรายได้จากทุกทางรวมกันเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่เพื่อที่จะรู้ว่าเราควรจะนำรายได้ที่มีไปออมกี่บาท และ ใช้จ่ายกี่บาท
2
ยกตัวอย่างจากตัวแอดเองทุกๆเดือนแอดจะมีรายได้ประมาณ เดือนละ 23,000 บาท ซึ่งมาจาก เงินประจำเดือนจากที่บ้าน(แอดยังเรียนอยู่), เงินปันผลจากหุ้น, และ รายได้จากค่าเช่าคอนโดเพื่อการลงทุน (ลงทุนร่วมกับคุณแม่และพี่สาว)
1
พอเรารู้รายรับทั้งหมดที่เราจะได้รับโดยประมาณในแต่ละเดือนแล้ว เราจะทำการลิสต์รายการเงินออมและค่าใช้จ่ายประจำเดือนของเรา
ตัวอย่างตารางเงินออมและค่าใช้จ่ายประจำเดือนของแอด
โดยเริ่มต้นจากส่วนที่เก็บออมและลงทุน (35%) 💰
- DCA ซื้อกองทุนรวม (28%)
แอดจะทำการ DCA กองทุนรวมผ่าน 3 กองทุนซึ่งเป็นกองทุนต่างประเทศ 2 กอง และ กองทุนในประเทศอีก 1 กองทุน(สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความ 3 กองทุนที่น่า DCA) โดยในส่วนนี้แอดจะ DCA ทุกเดือนเดือนละ 6,000 บาทหรือคิดเป็น 26% ของรายรับ โดยแบ่งเป็นกองทุนละ 2,000 บาท เงินส่วนนี้แอดตั้งใจจะออมไปเรื่อยๆจนถึงตอนเกษียณอายุ(อีกประมาณ 40 ปี) แต่จะทำการ Monitor ในทุกๆปีว่ากองทุนที่เราลงทุนยังมี Performance ที่ดีอยู่หรือป่าวหากผลการดำเนินงานของกองทุนตกลงเมื่อเทียบกับกองทุนตัวอื่นแอดก็จะทำการลงทุนในกองทุนตัวอื่นแทน
- เงินเก็บในออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง (9%)
และแอดจะทำการเก็บเงินในเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง (ผลตอบแทนประมาณ 1.5%ต่อปี) อีกเดือนละ 2,000 บาท โดยบัญชีนี้แอดจะพยายามทิ้งเงินไว้ในบัญชีให้ไม่ต่ำกว่า 12 เดือนของรายจ่ายของเรา (ประมาณ 180,000 บาท) เผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน และจำนวนเงินส่วนที่เกิน 180,000 แอดก็จะนำไปลงทุนเพิ่มในหุ้น(พอร์ตถือยาว) ทองคำแท่ง หรือ ตลาดคริปโต ขึ้นอยู่กับว่าในเวลานั้นสินทรัพย์ตัวไหนมีค่าต่ำกว่าที่แอดประเมินมูลค่าไว้ แต่ถ้าหากไม่มีสินทรัพย์ตัวไหนที่แอดคิดว่าราคาถูกในตอนนั้นแอดก็จะทำการเก็บในบัญชีนี้เพิ่มไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาที่น่าลงทุนในสินทรัพย์ตัวไหนเป็นพิเศษ
สำหรับในส่วนของการซื้อขายเก็งกำไรหุ้นตามกราฟที่แอดเล่นนั้นจะไม่ได้มาจากรายได้ในแต่ละเดือน แต่จะมาจากเงินหมุนในพอร์ตหุ้นเก็งกำไรของแอดเอง(แอดมีพอร์ตเก็งกำไร1พอร์ต และ พอร์ตถือยาว 1 พอร์ต) จึงไม่ได้มีรายการนี้ในตารางเงินออม เช่น ซื้อหุ้นตัวนี้พอขายทำกำไรได้เงินมาเข้าพอร์ต อีกตัวมีสัญญานซื้อทางกราฟเทคนิคก็จะเอาเงินที่ได้จากการขายตัวที่แล้วมาซื้อหมุนไปเรื่อยๆไม่ได้ทำการเติมเงินรายเดือนเพิ่มและไม่ได้ทำการถอนกำไรที่ทำได้ออกจากพอร์ตด้วย
ในส่วนต่อมาคือ ส่วนของค่าใช้จ่ายรายเดือน (65%) 💸
เมื่อแอดทำการหักเงินที่ทำการออมและลงไปทุนไปแล้ว 35% แอดจะนำเงินที่เหลือมาแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆตามรูปตาราง โดยจะปรับจำนวนเงินให้เข้ากับวิถีชีวิตของตัวแอดเอง
สำหรับค่าประกันสุขภาพ (8%)
แอดจะหักเงินเก็บไว้จ่ายประกันสุขภาพรายปี โดยเบี้ยประกันของแอดอยู่ที่ประมาณ 21,500 ต่อปีเมื่อหารเป็นต่อเดือนเลยเท่ากับต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ประมาณ 1,800 บาท การที่แอดทำประกันสุขภาพ เพราะโดยส่วนตัวแอดมองว่าปัญหาทางด้านสุขภาพเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบการวางแผนทางการเงินในอนาคตของเรา เพราะถ้าหากเราเกิดโรคร้าย ในสมัยนี้เข้าโรงพยาบาลทีหมดเป็นหลักแสนไปง่ายๆเลย ซึ่งจะกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของเราแน่นอน แอดจึงอยากจำกัดความเสี่ยงในส่วนนี้โดยการซื้อประกันสุขภาพไว้ เพราะรายจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเราสามารถคำนวณวางแผนและรู้ได้ว่าเราต้องจ่ายกี่บาทต่อปี แต่ถ้าเราไม่ทำเราจะไม่สามารถคำนวณได้เลยว่าจะมีปีไหนเราต้องจ่ายเรื่องปัญหาสุขภาพและต้องจ่ายกี่บาท
1
สำหรับค่าอาหาร (35%)
แอดจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน โดยปกติแอดเป็นคนชอบไปหาอะไรกินอร่อยๆแอดจึงมักจะทำอาหารกินเองในช่วงปกติ (เฉลี่ยวันละ 150 บาท เป็นเดือนละประมาณ 4,000 เนื่องจากบางมื้อแอดไปกินมื้อพิเศษจึงไม่ใช่ 4,500 เพราะไม่ได้ทำอาหารกินเองทุกมื้อ) และเงินส่วนที่เหลืออีก 4,000 แอดก็จะเอาไปตะลุยกินอาหารที่แอดอยากกินในมื้อพิเศษ
1
ค่าเดินทาง (6%)
ค่าเดินทางของแอดค่อนข้างถูกเนื่องจากคอนโดอยู่ใกล้ๆกับมหาลัยจึงมีแค่ค่าน้ำมันเวลาขับรถไปกลับบ้านอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น
ค่าอื่นๆ (4%)
จะเป็นค่าซื้อข้าวของเครื่องใช้หรือเสื้อผ้า โดยปกติแอดจะไม่ใช่คนชอบซื้อของเท่าไหร่จะซื้อแค่ประมาณเดือนละไม่เกินพันบาท บางเดือนไม่ได้ซื้อเลยด้วยซ้ำแต่ก็หักกับบางเดือนที่ซื้อเกิน 1,000 เลยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน
ขอบคุณทุกคนที่อ่านบทความจนจบนะครับ ฝากกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้ทางเพจด้วยนะครับ 🙏
เขียนบทความโดย นักลงทุนตัวอ้วน
โฆษณา