28 ม.ค. 2021 เวลา 07:25 • การศึกษา
โดนฉ้อโกงโอนเงินออนไลน์ ปี 2021 ทำยังไงดี?
ในปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ซึ่งมีการทำธุรกรรมการเงินผ่าน แอพพลิเคชั่นธนาคารออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้นมารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า การฉ้อโกงทางออนไลน์ ซึ่งมักจะมาในหลายรูปแบบ เช่น การหลอกขายสินค้า เมื่อลูกค้าโอนเงินให้แล้วบล็อกเฟสบุ๊คหนี และไม่ส่งสินค้าให้กับลูกค้า การปลอมไลน์เป็นคนรู้จักไปขอโอนเงิน การปล่อยกู้เงินออนไลน์โดยให้เสียค่าธรรมเนียม หรืออื่นๆ
ถ้ารู้ตัวว่าโดนโกงแล้วทำยังไง?
เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกงแล้ว ให้ใจเย็นๆก่อนครับ ไม่ต้องรีบร้อนที่จะไปโรงพัก ให้เตรียมตัวเองและเอกสารให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ และเดินทางไปโรงพักในเวลาทำการจะดีกว่าครับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะมีความพร้อมในการดำเนินการได้มากกว่า โดยเอกสารที่ต้องเตรียมนั้น ก็ได้แก่
1.บัตรประชาชน ตัวจริงไม่ต้องถ่ายสำเนา
2.บันทึกภาพหน้าจอบทสนทนา ของคนร้ายไว้ และพิมพ์ใส่กระดาษ ย้ำนะครับ ให้พิพิมพ์ใส่กระดาษ อย่าไปหวังว่า เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ให้นะครับ เตรียมไปให้เรียบร้อย เซ็นชื่อทุกแผ่น
3.พิมพ์หน้าสลิปโอนเงิน ใหญ่ๆ ชัดๆ ไปเลยครับ เซ็นชื่อทุกแผ่น
4.ถ้าส่องหน้าวอลได้ ก็แคปแล้วพิมพ์ไปด้วยครับ เซ็นชื่อทุกแผ่น
5.นำสมุดบัญชีธนาคารที่โอน ไปที่ธนาคารสาขาใกล้เคียง ขอสเตทเมนต์บัญชีที่โอนเงินให้คนร้ายไปด้วย
เมื่อเอกสารครบแล้วให้เดินทางไปที่สถานีตำรวจท้องที่ที่ท่านโอนเงินได้เลยครับ
ท้องที่ที่โอนเงิน? หมายความว่า ตอนโอนยืนอยู่ที่ไหน ถ้าอยู่บ้าน ก็ไปแจ้งสถานีใกล้บ้าน ครับ
ไปถึงสถานีตำรวจแล้วทำยังไงต่อ?
ให้เราไปพบกับพนักงานสอบสวนเวร(ร้อยเวร) เพื่อแจ้งความอธิบายรายละเอียด หลังจากนี้ ร้อยเวรฯ จะลงประจำวันให้เรา โดยให้แจ้งความประสงค์ว่า จะลงประจำวันดำเนินคดีอาญากับผู้ที่มาโกงเรา (ไม่กำหนดรูปแบบข้อความ แค่อ่านแล้วมีใจความว่าจะให้ดำเนินคดีกับคนที่โกงเรา) หลังจากนั้นร้อยเวรอาจจะนัดเราสอบปากคำในภายหลัง
ปล. ประจำวันมี 2 แบบ คือ เพื่อดำเนินคดี กับ ลงไว้เป็นหลักฐาน(ไม่ดำเนินคดี)
ขอเอกสารอะไรจากร้อยเวรบ้าง?
1.เอกสารขอตรวจสอบการเปิดบัญชีธนาคาร ของคนร้าย เพื่อให้ร้อยเวรประกอบสำนวน
2.เอกสารอายัดบัญชีธนาคาร
อายัดบัญชีแล้วจะได้เงินคืนมั้ย
การอายัดบัญชีนั้น คือการระงับการทำธุรกรรม ของบัญชีดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ถ้าเจ้าของบัญชีต้องการใช้บัญชีดังกล่าวจะต้องติดต่อธนาคาร และ ธนาคารจะให้ติดต่อกับตำรวจที่อายัดบัญชีอีกครั้ง หลายๆครั้ง คนร้ายมักจะติดต่อกลับมาในตอนนี้เพื่อขอคืนเงิน และขอให้ถอนแจ้งความ
ถ้าอายัดแล้วยังไม่ได้คืนล่ะ?
อาจจะเกิดจาก คนร้ายไม่ได้ใช้บัญชีตัวเองในการรับเงิน เมื่อไม่ใช่บัญชีตัวเอง ก็ไม่สามารถไปติดต่อกับธนาคารเพื่อขอถอนอายัดบัญชีได้
ทำไงต่อ?
ร้อยเวร ก็จะต้องทำการสอบปากคำเรา และ รวบรวมเอกสารจากธนาคาร ในบางแพลตฟอร์ม ร้อยเวรก็จะต้องตรวจสอบ IP Address ของคนร้ายโดย ก็จะส่งเรื่องตรวจสอบไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาพอสมควร เมื่อพยานหลักฐานพร้อม ก็จะออกหมายเรียกผู้ต้องหา มาพบ ถ้าผู้ต้องหามาพบก็ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย โดยร้อยเวรจะจัดให้มีการใกล่เกลี่ยตกลงค่าเสียหายก่อน (มักจะได้เงินคืนในตอนนี้ แต่นานหน่อย)
ออกหมายจับผู้ต้องหาเลยได้มั้ย?
ในคดีฉ้อโกง ร้อยเวรจะต้องออกหมายเรียกไปยังภูมิลำเนาของผู้ต้องหาก่อน ถึง 2 ครั้ง โดยต้องให้มีระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การสอบหมายเรียกชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้ต้องหายังไม่มาพบร้อยเวร ร้อยเวรจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐาน และ รายละเอียดการส่งหมายเรียกผู้ต้องทั้ง 2 ครั้ง ไปขอให้ศาลอนุมัติหมายจับ
มีหมายจับแล้วทำไงต่อ?
ถ้าตำรวจเจอคนร้าย ก็จะสามารถจับกุม เข้าห้องขังได้ทันที ไม่ต้องมาอ้างไม่ใช่เหตุซึ่งหน้า และถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
ไปแจ้ง ปอท. ได้มั้ย?
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ได้ แต่คดีดังกล่าว สถานีตำรวจก็สามารถดำเนินการได้ไม่ต่างจาก ปอท. ถ้าร้อยเวรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวก ภูมิลำเนาของแต่ละคน ที่จะเดินทางไปแจ้ง และเดินทางไปติดตามคดีที่ไหนสะดวก
ทั้งหมดนี้ก็เป็นขั้นตอนคร่าวๆ ของการดำเนินการกรณีถูกฉ้อโกงออนไลน์ เห็นมั้ยครับว่า ยุ่งยากทีเดียวเลย ทางที่ดีคือควรป้องกันตัวเอง ไว้ดีกว่าแก้ เลือกซื้อของในแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบคนขายแลัสินค้าก่อนซื้อ อย่าเห็นแก่ของถูก จะดีที่สุดครับ
โฆษณา