29 ม.ค. 2021 เวลา 00:47 • การศึกษา
เล่าเรื่องโน้น เรื่องนั้นมาเยอะแยะ วันนี้พอมีเวลาก็ขอเอาเรื่องแนวคิดในการ #สร้างคน ของทางบริษัทฯมาเล่าให้ฟังบ้างล่ะกันครับ เผื่อใครไม่รู้แอดทำงานกับบริษัท CPF มานานกว่า 15 ปี ป้วนเปี้ยนมาหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังพัวพันอยู่กับแวดวงของการขาย และการตลาดมาตลอด หากเอ่ยถึง #เขาใหญ่ คนในเครือ CP คงจะรู้จักสถาบันพัฒนาผู้นำกันเป็นอย่างดี และเมื่อเอ่ยถึง #โปรแกรมเถ้าแก่ ทุกคนคงจะรู้สึกหนาวๆร้อนๆกันโดยเฉพาะคนที่ได้เข้าร่วมโปรแกรม เพราะเป็นโปรแกรมฝึกอบรมระยะยาวที่เข้มข้นมาก แต่ไม่ใกล้เคียงกับการฝึกอบรมแบบเข้าห้องเรียนอะไรแบบนั้นเลย เน้นการลงมือทำโครงการจริงๆ และมาอัพเดตผลงานกันทุกเดือน โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้มุมมอง หรือคำแนะนำจากผู้บริหารระดับสูง และผู้ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจ ก่อนจะเล่าให้ลึกขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักสถาบันฯแห่งนี้กันสักหน่อย
สถาบันฯแห่งนี้ใช้สำหรับอบรมผู้นำของเครือ CP ใน #ทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งอยู่ในพท.อำเภอปากช่อง ขนาด 440 ไร่ พท.สำหรับอาคารอบรม ที่พัก ฟิตเนส และอื่นๆที่เกี่ยวข้องประมาณ 125 ไร่ งบการก่อสร้างประมาณ 7,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 และเริ่มเปิดใช้ประมาณปี 58 – 59 ราวๆนั้น แต่ไม่ใช่ว่าหลักสูตรอบรมจะเริ่มหลังจากอาคารเสร็จนะ ก่อนหน้านั้นทางเครือ CP ได้มีการสร้างหลักสูตร ร่วมกับทาง Dr.Noel M. Tichy อาจารย์จากสถาบัน Ross School of Business ม.มิชิแกน, อเมริกา
หากพูดถึงดร.ทิชชี่ หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก แต่หากบอกว่าเป็นอาจารย์ที่ร่วมออกแบบหลักสูตรการพัฒนาคนให้กับ Jack Welch ผู้ซึ่งเป็น CEO ในตำนานคนนึงของโลกในด้านของการบริหารภาคธุรกิจ ที่สามารถสร้างมูลค่าบริษัทฯจาก 1.4 หมื่นล้าน ขึ้นเป็น 4.1 แสนล้านเหรียญ ภายในระยะเวลา 20 ปี และดร.ทิชชี่ยังร่วมก่อตั้งสถาบันผู้นำ GE (General Electric) ด้วยแนวคิดแบบ ALP : Action Learning Program หรือการเรียนรู้จากการลงมือทำ
ในยุคก่อนซีรี่ย์เถ้าแก่ เครือ CP จะมีอยู่ 3 โปรแกรมการฝึกอบรมหลัก ได้แก่
#หลักสูตร ALP : Advance Leader Program เป็นการนำผู้นำระดับสูงของแต่ละกลุ่มธุรกิจมาเรียนรู้กับ ดร.ทิชชี่ สร้างโครงการใหม่ๆมานำเสนอ และผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องเป็นผู้นำในการขยายผลการฝึกอบรมไปยังผู้นำในลำดับถัดไป (บิ๊กบอสของแอดตอนนั้นไปเรียนมา พอจบแล้วก็ทำคอร์สสอนพวกแอด และพนง.ภายในบริษัทกันเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว)
#หลักสูตร BLP : Business Leader Program รูปแบบการอบรมคล้ายกับของหลักสูตร ALP แต่ความเข้มข้นลดหลั่นลงมา และเป็นผู้นำในระดับรองลงมาของแต่ละสายธุรกิจ (แอดก็ได้เป็นกลุ่มทดลองในโปรเจคของพี่ๆ BLP และโชคดีได้ติดสอยห้อยตามไปเรียนรู้งานที่ยุโรปอยู่หลายสัปดาห์)
#หลักสูตร NLP : New Leader Program เป็น Young Talent ของแต่ละกลุ่มธุรกิจเข้ามาอบรม และเรียนรู้กระบวนการทำงานของกันและกัน ประมาณ 3 - 6 เดือน (แอดก็ผ่านการอบรมรุ่น NLP#7)
พอหลังจากสถาบันผู้นำฯเสร็จ ทาง CP ก็เปิด #หลักสูตรซีรี่ย์เถ้าแก่ ขึ้นมาทดแทนทันที โดยยึด concept การเรียนรู้จากการลงมือทำเหมือนเดิม ได้แก่
#หลักสูตร FLP : Future Leaders Development Program (#เถ้าแก่น้อย) สำหรับนศ.จบใหม่ และ Young talent ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ
#หลักสูตร PLP : Potential Leaders Development Program (#เถ้าแก่เล็ก) สำหรับผู้ที่สอบผ่านหลักสูตร FLP และพนักงานของกลุ่มธุรกิจ
#หลักสูตร LDP : Leaders Development Program (#เถ้าแก่กลาง) สำหรับผู้จัดการ และผู้บริหารระดับกลาง
#หลักสูตร SDP : Seniors Leaders Development Program (#เถ้าแก่ใหญ่) สำหรับผู้บริหารระดับสูง
ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะต่างกันที่วัตถุประสงค์ และความซับซ้อนในการทำงาน หลักสูตรรุ่นเล็กก็จะทำงานใน scope ที่เล็ก และค่อยๆเพิ่มระดับความยากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งตั้งแต่มีโครงการนี้ขึ้นมาเครือ CP ก็ #เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หลายๆโครงการ หลายๆปัญหาที่มีอยู่อย่างยาวนานถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย และแก้ปัญหาทันที ทำให้ Loop การทำงานปกติแทบจะสลายไป ทำให้ธุรกิจ และวิธีการทำงานใหม่ๆเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน เพราะคนกลุ่มนี้จะถูกถอดจากงานประจำ เพื่อมาขับเคลื่อนโปรเจคทันทีในทุกวัน โดยมีระยะเวลาอยู่ในโครงการอย่างน้อย 1 ปี เป็นต้น
โครงการนี้นอกจากจะเป็นการ #สร้างผู้นำในแต่ละระดับแล้ว ยังเป็นการ #สร้างพี่เลี้ยงที่ดูแลแต่ละโครงการด้วย ซึ่งท่านประธานอาวุโส (คุณธนินทร์ เจียรวนนท์) ได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนว่า “#ให้ชี้แนะ #ไม่ให้ชี้นำ” ดังนั้น #พี่เลี้ยงจะเปรียบเสมือนเป็นโค้ชทันที ซึ่งคนที่ถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นโค้ชนี่ก็ต้องฝึกฝนตัวเองให้มีความรอบรู้ในทุกด้าน และต้องคอยให้ความช่วยเหลือลูกทีมในทุกกรณีด้วย
พอเล่ามาแบบนี้ หลายคนก็คงคิดว่าเฉยๆนะ เพราะทุกบริษัทก็มีรูปแบบการทำงานคล้ายๆแบบนี้ ผมก็เชื่อแบบนั้น แต่ความเข้มข้นของบริษัทฯไหนที่จะมีเจ้าของบริษัท, CEO, COO, ผู้บริหารของทุกกลุ่มธุรกิจเข้ามานั่งฟัง ให้ข้อคิดกับทุกโครงการ ใช้เวลา 2-3 วัน/ครั้ง ตั้งแต่เช้าจดเย็น และเดือนนึงอย่างน้อย 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ทุกโครงการจะมีสมาชิกจากทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมทีม โดยมีบช.ประจำกลุ่มคอย track ผลประกอบการ หรือความคืบหน้าโครงการอยู่โดยตลอด และอะไรที่เป็นปัญหา เป็นคอขวดจะถูกแก้ไขในทันที ระบบ ระเบียบอะไรที่เป็นปัญหาทำให้เกิดความล่าช้า จะไม่ถูกนำมาใช้กับโครงการ และที่สำคัญพนักงานจะมีการถ่ายโอนความรู้ของแต่ละสายงานให้แก่กันโดยอัตโนมัติ
แอดได้เข้าร่วมโปรแกรม #เถ้าแก่กลาง ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนปัจจุบัน 3 - 4 ปีแล้ว เปลี่ยนมาทำโปรเจคที่ 3 แล้วยังไม่ได้ออกไปไหนเลย เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เยอะมาก ยิ่งตอนนี้พลังของเครือ CP ที่เมื่อก่อนเป็นธุรกิจใคร ธุรกิจมัน วันนี้ทุกกลุ่มธุรกิจ #แตกสลายกลายเป็นธุรกิจเดียวกัน ที่เขาใหญ่หมดแล้ว กำแพงต่างๆถูกทะลายด้วยนโยบายที่ชัดเจน และมุ่งมั่น ภายในอีกไม่กี่ปียักษ์ตัวนี้จะเติบโต และแข็งแกร่งมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัวนักครับ ซึ่งไปสอดคล้องกับแนวคิดการทำงานแบบ #AGILE โดยมิได้นัดหมาย (ใครสนใจลองไปศึกษาดูครับ) สมกับปรัชญาองค์กรข้อหนึ่งคือการ #Synergy
หากถามเรื่องของ #พนักงานที่มาเข้าโปรแกรม ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็มีหลายแบบ ทั้งเก่ง และแกร่งขึ้นก็มี บางคนท้อจนลาออกไปก็มี บางคนถูกซื้อตัวไปอยู่ค่ายอื่นก็มี #หากมองในมุมของค่าใช้จ่ายบ้าง บริษัทฯลงทุนในการเรียนรู้ต่อหัวแบบนี้สูงมาก แต่เป็นทางลัดในการสร้างคนอย่างเห็นผล ส่วนตัวแอดชอบแนวคิดของท่านประธานอาวุโสที่มองว่า CP สร้างคนไม่จำเป็นที่เค้าจะต้องทำงานอยู่กับเราตลอดไป หากเค้าไปทำงานที่อื่น ก็ให้มองว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมไปในตัว
เดี๋ยวนี้ผู้คนมักจะบอกว่าไม่กลัวปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไปแล้ว แต่ให้กลัว #ปลาเร็วกินปลาช้าแทน แต่แอดจะบอกว่า #ปลาบางประเภททั้งใหญ่และเร็วมากครับ
ลุงทะเล้น
#ลุงทะเล้น #Uncletalent #CPLI #สถาบันพัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ #AGILE #โครงการเถ้าแก่
โฆษณา