29 ม.ค. 2021 เวลา 10:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไทยเบฟฯ เตรียมนำธุรกิจเบียร์ทำ IPO ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ คาดเป็นการระดมทุนใหญ่ที่สุดรอบ 10 ปีของแดนลอดช่อง
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี บุคคลที่ติดอันดับร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ ผู้มีทรัพย์สินรวมกว่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 445,250 ล้านบาท มีแผนที่จะยื่นคำร้องเพื่อเข้าจดทะเบียนธุรกิจเบียร์ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในสัปดาห์หน้า ซึ่งนี่จะนำไปสู่การเป็นหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสิงคโปร์ในรอบ 10 ปี
โดยไทยเบฟฯ ที่จะวางแผนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการนำหน่วยธุรกิจย่อยของบริษัทแยกออกมาเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ (Spin-off) เหมือนกับที่บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายที่ขนาดของบริษัทหรือธุรกิจในเครือมีโอกาสเติบโตที่มากขึ้นไม่ต่างกับบริษัทแม่ เช่น
2
บริษัทที่มีการ Spin-off บริษัทลูกเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์
แม่ : บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC
ลูก : บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP
แม่ : บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART
ลูก : บมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ SAV
แม่ : บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปหรือ TU
ลูก : บมจ. ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM
แม่ : บมจ. ปตท. หรือ PTT
ลูก : บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR
แม้ว่าส่วนใหญ่บริษัทแม่จะยังคงถือหุ้นใหญ่อยู่ก็ตาม แต่ก็จะมีการขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่เช่นกัน
บริษัทกำลังประเมินราคา IPO อยู่ว่าจะเริ่มต้นที่ราคาเท่าไหร่ ซึ่งสำนักข่าวด้านเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง Bloomberg รายงานแผนการเข้าจดทะเบียนบริษัทแต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการประเมินมูลค่าหุ้นจะอยู่ที่กี่หุ้นละดอลลาร์สหรัฐ
การทำ IPO ครั้งนี้อาจเป็นการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ Hutchison Port Holdings Trust เจ้าของธุรกิจท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของดินแดนลอดช่อง ที่เคยระดมทุนได้ถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 แสนล้านบาทในปี 2554
1
Hutchison Port Holdings Trust ธุรกิจท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์
นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดสิงคโปร์สำหรับการทำ IPO ครั้งแรกให้สูงที่สุดในรอบ 6 ปี จากที่ลดลงเหลือเพียง 915 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้วซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558
อย่างที่ทราบกันคือ ไทยเบฟฯ เป็นผู้ผลิตเบียร์และสุราที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งเบียร์ช้าง ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงของบริษัทที่ขายดีตลอดกาล นอกจากนี้ยังผลิตเบียร์อาชา และเฟเดอร์บรอย (Federbrau) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเบียร์เยอรมัน
ในปี 2560 บริษัทในเครือของไทยเบฟฯ ที่ประเทศเวียดนามได้ซื้อหุ้นของ Saigon Beer Alcohol Beverage Corp. หรือเบียร์ไซ่ง่อน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของประเทศในราคา 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 แสนล้านบาท
นอกเหนือจากธุรกิจเบียร์แล้ว ไทยเบฟฯ ยังดำเนินธุรกิจโรงกลั่นที่ผลิตสุรา เช่น เหล้ารัมแสงโสม บรั่นดีเมริเดียน และวิสกี้ดรัมเมอร์ รวมไปถึงถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท Fraser & Neave Ltd. ของสิงคโปร์ที่สัดส่วน 28% ซึ่งผลิตขายเครื่องดื่มกลือแร่อัดลม 100 พลัส และผลิตภัณฑ์นมแมกโนเลียอีกด้วย
100 พลัส เครื่องดื่มกลือแร่อัดลม ที่ไทยเบฟฯ ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท Fraser & Neave Ltd. ของสิงคโปร์ที่สัดส่วน 28%
ทำไมไทยเบฟฯ ไม่เข้าตลาดหุ้นไทย?
อย่างที่ทราบกันคือ ไทยเบฟฯ ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากปี 2548 เกิดการปลุกกระแสม็อบเพื่อต่อต้านที่นำโดย นายจำลอง ศรีเมือง ที่ระดมผู้คนไปรวมตัวประท้วงการเข้าตลาดหุ้นไทยของไทยเบฟ โดยอ้างว่าการนำธุรกิจของมึนเมาเข้าสู่ตลาดหุ้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสการมอมเมาประชาชน ขัดต่อศีลธรรม และจะส่งเสริมให้คนดื่มเบียร์ ดื่มเหล้ามากขึ้น
ในขณะนั้นมีการรวบรวมรายชื่อกว่า 60,000 ชื่อ และม็อบกว่า 3,000 คน ชุมนุมทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ และรัฐสภา
ทำให้ไทยเบฟฯ ตัดสินใจเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทน เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่าและไม่เกิดการต่อต้าน ส่งผลให้บริษัทเติบโตหลายเท่าตัวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จริงๆ แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยพยายามที่จะเชิญไทยเบฟฯ ด้วยตัวเองโดยตรงกลับมาเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในปี 2551 แต่สุดท้ายก็เจอกระแสม็อบต่อต้านอีกครั้ง
และนั่นทำให้ไทยเบฟฯ เมินตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บรรยากาศการประท้วงนำไทยเบฟเขาตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2548 และ 2551 นำโดยนายจำลอง ศรีเมือง
ถ้าไทยเบฟฯ อยู่ในตลาดหุ้นไทยจะใหญ่ขนาดไหน?
ปัจจุบันไทยเบฟฯ มีธุรกิจในเครือมากถึง 138 แห่ง ครอบคลุมหลากหลายธุรกิจตั้งแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ อาหาร อุปโภคบริโภค ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ สื่อและมีเดีย และอื่นๆ อีกมากมาย รวมมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 2.47 แสนล้านบาท และบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จํากัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพฯ พญาไท เปาโล สมิติเวช บีเอ็นเอช รอยัล และอื่นๆ มูลค่า 3.54 แสนล้านบาท
1
ซึ่งถ้าไทยเบฟ อยู่ในตลาดหุ้นไทย ก็จะเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดการเงินไทยมหาศาลไม่ต่างกับบริษัทระดับหัวแถวของประเทศ
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า คนไทยดื่มเหล้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นอันดับ 1 เสมอ และมีสัดส่วนนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าไทยเบฟฯ จะอยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหุ้นไทยก็ตาม
โฆษณา