29 ม.ค. 2021 เวลา 12:48 • ประวัติศาสตร์
พาชมห้องสมุดเก่าแก่ ซึ่งเป็นทั้งที่เก็บหนังสือและพิพิธภัณฑ์ครับ
ในยุโรปโดยเฉพาะประเทศออสเตรียนี้มีห้องสมุดโบราณสวย ๆ อลังการงานสร้างเยอะมาก ๆ ต่อจากนี้ ขอเชิญเที่ยวชมห้องสมุดแบบที่มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมและคุณค่าของหนังสือที่เก็บไว้ครับ
1
"... เจ้าคงอยากถามว่ามีประโยชน์อันใด หากได้ครอบครองขุมความรู้ไว้โดยมีพันธสัญญาห้ามมิให้ผู้ใดเอาไปใช้ นี่แหละ ที่ข้าเรียกว่ากิเลสตัณหา..."
ผมนึกถึงบทสนทนาจากเรื่อง The Name of the Rose ของอุมแบร์โต เอโก ที่กล่าวถึงสภาวะที่บรรดาพระทั้งหลายผูกขาดความรู้ไว้ในหมู่ตนเอง
สำนักสงฆ์แห่งเมล์ค ประเทศออสเตรีย
แน่นอนครับ ผมกำลังบอกว่า ห้องสมุดเหล่านี้เกือบทั้งหมด เป็นของพวกพระและชนชั้นปกครองสมัยโบราณในยุโรป ที่เก็บสะสมหนังสือมาตั้งแต่ยุคกลาง อันเป็นยุคที่สามัญชนส่วนมากไม่มีความสามารถอ่านออกเขียนได้
1
สำนักสงฆ์เซนต์ฟลอเรียน ประเทศออสเตรีย
ห้องสมุดเหล่านี้จึงมักจะเป็นของหน่วยงานที่เกี่ยวของกับศาสนจักร เช่น สังฆาวาส อาราม ที่เก็บตำราศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นของฝั่งอาณาจักรฆราวาส เช่น เป็นห้องสมุดของราชวงศ์ หรือ ชนชั้นศักดินา ไม่ก็มักส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเก่าแก่
ส่วนมากจะตั้งอยู่ในออสเตรีย เพราะเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีความรุ่งเรืองมากจนเรียกได้ว่าเป็นศุนย์กลางแหงยุโรปในศตวรรษที่ 17-18 ห้องสมุดพวกนี้มักจะสร้างในช่วงสมัยนี้นะครับ จึงมีสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกัน คือเป็นแบบบาโรคและโรโคโค
1
ขอเชิญชมได้เลยครับ ...
หอสมุดแห่งชาติออสเตรีย
หอสมุดแห่งชาติออสเตรีย เวียนนา (Austrian National Library – Vienna, Austria)
พระราชวังฮอฟบวร์กในกรุงเวียนนา เคยเป็นที่ประทับของจักรพรรดิและกษัตริย์หลายพระองค์ แต่ทุกวันนี้ทำหน้าที่เป็นที่พำนักและสถานที่ทำงานของประธานาธิบดีแห่งออสเตรียครับ
หอสมุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราช ปัจจุบันมีฐานะเป็นหอสมุดแห่งชาติออสเตรีย ซึ่งบรรจุหนังสือและวัตถุไว้ 7.4 ล้านชิ้น หลายอันสะสมกันมาในราชวงศ์ตั้งแต่ก่อนสร้างหอสมุดเสียอัก (อย่างเช่น กระดาษปาปิรุสของอียิปต์ นั่นแปลว่าไอเท็มพวกนั้นเก่ากว่าอาคารนี้อยู่นานโขครับ) หอสมุดนี้สร้างขึ้นในช่วงปี 1723 และ 1735 กำกับโดย นายโยฮันน์ แบร์นฮาร์ด ฟิชเชอร์ ฟอน แอร์ลัค สถาปนิกสไตล์บาโรคของราชสำนัก สื่งหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในห้องโถงนี้ก็คือ เพดานที่วาดด้วยภาพปูนเปียก โดยจิตกร ดาเนียล กรัน และตรงโดมก็ประดับด้วยประติมากรรมชิ้นงามโดย พอล ชตรูเดล
4
Wiblinglen Abbey
Wiblinglen Abbey Library – Ulm, Germany
อันนี้ผมจะยกให้เป็นที่สุดของที่สุดเลยครับ ใครอยากไปดูห้องสมุดที่สวยจริง ๆ แบบการันตีว่าไม่ผิดหวัง คงต้องไปอันนี้ละครับ สิ่งที่โดดเด่นนอกจากจะเป็นหินอ่อนที่สีสวยเข้ากันได้ดีแล้ว ก็ยังมีภาพจิตกรรมบนเพดานฝีมือของ ฟรันซ์ มาร์ติน ซึ่งมีสีสดงดงาม ส่วนการประดับประดาภายในห้องก็ต้องยกเครดิตให้กับสถาปนิกบาโรค คริสเตียน วีเดนมันน์ ซึ่งห้องนี้ก็เป็นที่เลื่องลือกันมากในเรื่องของความยอดเยี่ยมในสไตล์โรโคโค อันเป็นที่กล่าวขานกันมากในภาคใต้ของเยอรมนี ห้องสมุดนี้สร้างเสร็จในปี 1744 ครับ
3
Abbey Library of Saint Gall
Abbey Library of Saint Gall – St. Gallen
ในนี้เป็นที่เก็บหนังสือโบราณจำพวกเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร และต้นฉบับตัวเขียนหลากหลายชนิด บางชิ้นนั้นมีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 8 ครับ ทำให้หอสมุดของอารามแห่งนักบุญกาลล์ในเมืองซังคท์กัลเลิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ เป็นหนึ่งในห้องสมุดสังฆาวาสที่สำคัญมากที่สุดในโลก สำหรับอารามนั้นก็ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเยสโก ในการเป็น "แบบฉบับอันยอดเยี่ยมของพระสังฆาวาสโรมันคาทอลิกการอแล็งเฌียง" ความดีความงามนี้ต้องยกให้สถาปนิกชาวออสเตรีย ปีเตอร์ ทรุมป์ ที่ได้ออกแบบห้องโถงสไตล์โรโคโคนี้ไว้อย่างวิจิตรมั่งคั่ง เพราะเต็มไปด้วยไม้แกะสลัก ภาพเขียน และประติมากรรมปูนปั้นเยอะแยะไปหมด ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมแบบบาโรคระดับเซียนในสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าใครที่จะเข้ามาอ่านหนังสือโบราณกว่า 160,000 ชิ้นภายในหอสมุดนี้จะต้องอิ่มเอิบในความงดงามระดับสุดยอดนี้แน่ ๆ
1
Admont Abbey Library
Admont Abbey Library – Admont, Austria
ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำเอนส์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรียครับ สร้างขึ้นในปี 1776 โดยสถาปนิกบาโรคชาวออสเตรีย โยเซฟ ฮือแบร์ ที่พยายามออกแบบให้เป็นห้องโถงที่สุกใสแพรวพราว สุกสกาวไปด้วยทองและสีขาว ห้องสมุดครอบไว้ด้วยโดมเล็ก ๆ หลายอัน ที่ตกแต่งโดยรูปวาดปูนเปียกฝีมือบาร์โทโลมิว อัลโตมอนเต รูปที่โดมแสดงถึงย่างก้าวแห่งภูมิปัญญาของมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมที่เรียกกันว่า "Four Last Things" ของโยเซฟ ชตัมเมล ที่แสดงภาพนรก สวรรค์ ความตาย และการพิพากษาครั้งสุดท้าย ไว้ได้อย่างวิจิตรราวกับมีชีวิต ในบรรดาหนังสือของสังฆาวาสจากทั้งหมดประมาณ 200,000 เล่ม มีแบ่งมาเก็บไว้ที่นี่ 70,000 เล่ม และนี่ก็ถือว่าเป็นห้องสมุโบราณของสังฆาวาส ที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ
2
Clementinum National Library
Clementinum National Library – Prague, Czech Republic
ห้องสมุดแห่งคลิเมนตินุม นี้ว่ากันว่าเป็น “ไข่มุกแห่งสถาปัตยกรรมบาโรคของกรุงปราก” ก็คงน่าจะเป็นไปตามนั้นจริง ถ้าใครได้มาเห็นห้องสมุดไสตล์บาโรคอันนี้นะครับ ได้รับการตกแต่งประดับประดาไปด้วยทองและเสาแบบบิดเกลียวสไตล์บาโรค เพดานนั้นตกแต่งโดย ยาน ฮีเบิล ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการสรรเสริญภูมิปัญญาในสมัยโบราณ ห้องสมุดนี้สร้างตั้งแต่ปี 1722 หนังสือบางเล่มที่เก็บไว้ในนี้มีอายุเก่ามาก บางเล่มย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16
ในหมู่อาคารเหล่านี้ (ซึ่งบางส่วนของอาคารสร้างมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 นั้น) เคยเป็นวิทยาลัยของคณะเยสุอิตมาก่อน ได้เข้าร่วมเป็น มรดกความทรงจำแห่งโลก ขององก์การยูเนสโก ในปี 2005 ปัจจุบันนี้กลายเป็นหอสมุดแห่งชาติของสาธารณรัฐเช็คครับ
1
Melk Abbey
Melk Abbey Library – Melk, Austria
คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของห้องสมุดนี้ ก็น่าจะเป็นจิตกรรมภาพปูนเปียกบนเพดานที่วาดไว้ได้อย่างหรูหราและมีสีสันครับ โดยจิตกรชาวออสตรีย ปอล ทรอเกอร์ ซึ่งสื่อถึงความศรัทธาในคริสศาสนา ตรงส่วนอื่น ๆ นั้นยังมีประติมากรรมที่ทำจากไม้ อันป็นสัญลักษณ์แห่งจตุปัญญา ได้แก่ ปรัชญา ธรรมศาสตร์ เทววิทยา และเวชศาสตร์ ห้องสมุดนี้เก็บหนังสือโบราณไว้ประมาณ 90,000 เล่มไว้ได้อย่างน่าประทับใจ นอกจากนี้ยังมีเอกสารตัวเขียนวิจิตร ต้นฉบับตัวเขียน และหนังสือแผ่นพับจำพวกอินคูนาบุลุม 850 ชิ้น ทำให้ห้องสมุดแหงนี้เป็นห้องสมุดที่สำคัญมากครับ
1
St. Florian Monastery Library
St. Florian Monastery Library – Sankt Florian, Austria
สำหรับใครก็ตามที่เข้าไปในหอสมุดแห่งอารามเซนต์ฟลอเรียนในออสเตรีย อาการ bibliophile คงจะหายดีเป็นปลิดทิ้งในทันทีที่เดินเข้าไปครับ เพราะจะพบความสุนทรีย์และความงาม ทั้งจากจิตรกรรมภาพปูนเปียกบนเพดานที่น่าทึ่งจนเอามือทาบอก และยังมีหนังสือที่กองสูงระหง่าน (นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับพวกคลั่งไคล้สถาปัตยกรรมแบบบาโรคด้วย) สถาปนิกชาวออสเตรีย ยาคอป พรันด์เทาเออร์ และโยฮันน์ ก็อทฮาร์ด ฮายแบร์เกอร์ เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบนี้ ซึ่งอาคารนี้แล้วเสร็จในปี 1750 หนังสือที่เก็บสะสมไว้ในห้องสมุดนี้กว่า 150,000 เล่ม นั้นมีอายุเก่ากว่าศตวรรษที่ 19 และหลาย ๆ เล่มก็เก่าแก่กว่าตัวอาคารห้องสมุดซะอีก อย่างเช่น หนังสือพับประเภทอินคูนาบุลุม กว่า 1000 ชิ้น ที่พิมพ์ในยุโรปก่อนปี 1501 ครับ
1
Strahov Monastery Library
Strahov Monastery Library – Prague, Czech Republic
ห้องโถงที่โอ่อ่านี้เป็นห้องสมุดทางเทววิทยา เก็บรวบรวมหนังสือศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นพัน ๆ ฉบับ นอกจากนี้ยังมีงานปูนปั้นที่ตระการตามากมาย จนเดิน ๆ อยู่นี่ทำให้ต้องเหลียวหลัง 5555 ห้องนี้สร้างเสร็จในปี 1679 เพื่อจะเอาไว้เก็บรวบรวมหนังสือจากลูก้าคอนแวนต์ในโมราเวียตอนใต้ ห้องนี้ได้ปรับเป็นอนุสรณ์สถานวรรณคดีแห่งชาติหลังจากยุคคอมมิวนิสต์ซึ่งเข้ามายึดครอง แล้วถูกบูรณะใหม่ภายหลังการปฏิวัติกำมะหยี่
1
University of Coimbra General Library
University of Coimbra General Library – Coimbra, Portugal
ห้องนี้คือ Biblioteca Joanina เป็นส่วนหนึ่งของหอสมุดกลางแห่งมหาวิทยาลัยกูอิงบรา ประเทศโปรตุเกสครับ สร้างเสร็จในปี 1728 มีทั้งหมด 3 ห้อง ซึ่งบรรจุหนังสือไว้ 70,000 เล่ม วางซ้อนกันไว้ทั้งสองชั้น ตรงกลางทางเดินนั้นกั้นกลางไว้ด้วยซุ้มประตูที่วิจิตรบรรจงสุด ๆ ชั้นหนังสือนั้นทำจากไม้โอ๊คอย่างแข็งเพื่อป้องกันหนังสือจากแมลงมากัดกิน นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่น ๆ ที่แอบอาศัยอยู่ในนี้แต่ก็ไม่ได้อยู่ฟรี ๆ นะครับ เพราะมันยังช่วยขจัดแมลงกวนใจ อย่างเช่น ค้างคาวหลายครอบครัว ที่เกาะตามกำแพงหลืบห้องสมุด และจะออกมาจับแมลงกินในตอนกลางดึก นอกจากนี้ยังมีประตูและผนังไม้สักออย่างหนาเพื่อป้องกันความร้อนและความชื้น อีก ก็ของมันเก่าแล้วอะเนอะ
1
Old library Trinity College
Old Library, Trinity College Library Dublin – Dublin, Ireland
นี่คือห้องสมุดซึ่งเป็นที่เก็บ พระวรสารเคลล์ส ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักบวชเคลต์เมื่อราวปี ราว ค.ศ. 800 เป็นงานศิลปะชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของงานเขียนอักษรวิจิตรของยุโรปและเป็นงานที่แสดงถึงจุดสุดยอดของงานเขียนหนังสือวิจิตร และเป็นสมบัติของชาติชิ้นสำคัญของไอร์แลนด์ครับ
ห้องที่มีชื่อเสียงของหอสมุดนี้คือ ห้องยาว หรือ long room ยาว 213 ฟุต ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยเพดานรูปทรงเหมือนถังไม้ที่แกะสลักไม้สีเข้ม ทั้งยังมีรูปปั้นครึ่งตัวของนักเขียน นักปราชญ์ รวมถึงผู้สนับสนุนวิทยาลัยแห่งนี้อีกด้วย ที่นี่บรรจุหนังสือโบราณไว้ 200,000 เล่ม หอสมุดนี้สร้างเสร็จในปี 1733 โดยสถาปนิกและวิศกรชาวไอริช โธมัส เบิร์กครับ
1
โฆษณา