5 ก.พ. 2021 เวลา 01:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เล่าประสบการณ์ตรวจรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
วันนี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์ตรวจรับงานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ PEA ที่ปั้มน้ำมันบางจาก ซึ่งทาง PEA เค้าทำสัญญากันไว้ในเฟสแรก 62 สถานี แบ่งเป็น ปี 2563 20 สถานี ปี 2564 อีก 42 สถานี ครอบคลุม 40 จังหวัด (ส่วน EGAT ทำสัญญากับ ปตท.)
ซึ่งในภาพจะเป็นงานตรวจรับสถานีที่ ปั้มบางจาก อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพราวๆ 310 กิโลเมตร ขาขึ้น
ตู้ชาร์จจะติดตั้งทั้ง 2 ตู้ โดยตู้ที่ 1 จะเป็นแบบ 3 หัวชาร์จ
1XAC 43 kW (type 2)+ 2xDC 50 kW (CSS type 2+CHAdeMo) ส่วนตู้ที่ 2 จะเป็นแบบ 2 หัวชาร์จ 1xAC 43 kW (CSS type 2)+1xDC 50 kW (CHAdeMo) ทั้งหมดจะเป็นยี่ห้อ ABB ครับ
เริ่มกันที่การตรวจทางกายภาพ ก็จะดูการเข้าหัวสายไฟฟ้า ขนาดสายไฟฟ้า สัญลักษณ์ มาตรฐานทั้งหมดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยสูงสุด สิ่งที่สำคัญก็ คือ หม้อแปลงขนาดใหญ่จ่ายกระแสได้ 360 A/ph จ่ายจริง 146 A/ph ที่ต้องเผื่อไว้เพราะเทคโนโลยี Fast Charge ในอนาคต และการเพิ่มหัวชาร์จครับ
ต่อมาจะตรวจการชาร์จ โดยจะใช้เครื่อง Simulator มาตรฐานเยอรมัน มั่นใจว่าปลอดภัยและจ่ายกระแสไฟที่มีคุณภาพแน่นอน หลักๆ จะเป็นการตรวระบบสื่อสารระหว่างรถกับเครื่องชาร์จ ว่า รถรุ่นนี้รับไว้ได้เท่าไหร่ ตัวหัวเสียบแน่นหรือยัง คร่าวๆ ประมาณนี้ครับ มั่นใจได้เลยว่าทุกตู้ชาร์จของ PEA ได้ผ่านการทดสอบจากเครื่องทดสอบที่มีคุณภาพเยอรมันครับ
โดยการใช้งานจะใช้ผ่าน PEA VOLTA Application ผู้ใช้งานสามารถใช้ระบบแผนที่นำทางไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด จองคิว แสดงสถานะการอัดประจุไฟฟ้า ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้า (kWh) และกำลังไฟฟ้า (kW) และชำระค่าบริการผ่าน PEA VOLTA Application โดยมีอัตราค่าบริการ ดังนี้ครับ (อาจมีการแก้ไขในอนาคตอันใกล้)
 
อัตราค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าในการใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charger) ในช่วง Peak ค่าบริการ 7.5798 บาท/หน่วย ในช่วง Off-Peak ค่าบริการ 4.1972 บาท/หน่วย
อัตราค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าในการใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charger) ในช่วง Peak ค่าบริการ 7.5798 บาท/หน่วยในช่วง Off-Peak ค่าบริการ 4.1972 บาท/หน่วย
ข้อจำกัดคือพื้นที่จอดรถสำหรับการชาร์จครับ เพราะ 1 ตู้ จะรองรับการชาร์จได้ทีละ 2 คันครับ นั่นแสดงว่า สถานีที่จังหวัดกำแพงเพชรจะรองรับการชาร์จได้สูงสุดพร้อมกัน 4 คัน
โฆษณา