30 ม.ค. 2021 เวลา 04:17 • ดนตรี เพลง
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ ในกลุ่มคีตกวีชาวรัสเซียนั้นที่สำคัญใช่วงศ.19 ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายก็คือ Glinka แต่ยังมีอีกท่านนึงที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างยุคของ Glinka และ Mighty Handful กับ Tchaikovsky ซึ่งเป็นบุคคลถือได้ว่าสำคัญอีกท่านหนึ่งก็คือ Dargomyzhsky แต่น่าเสียดายที่ท่านแทบจะไม่มีใครรู้จักหรือจำได้เลยในปัจจุบันทั้งในทวีปยุโรปเองหรือแม้แต่ในประเทศรัสเซียเองก็ตาม วันนี้จึงอยากที่จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักคีตกวีท่านนี้
Aleksandr Dargomyzhsky หรือ Aleksandr Sergeyevich Dargomyzhsky เป็นคีตกวีชาวรัสเซียที่ประพันธ์บทเพลงประเภท Songs และ Opera เป็นหลักในช่วงศ.19 ท่านเป็นสะพานเชื่อมของอุปรากรรัสเซียระหว่างรุ่นของ Mighty Handful และ Tchaikovsky โดยผลงานด้านอุปรากรของท่านได้พัฒนาต่อจาก Glinka อีกขั้นหนึ่ง
Alexander Dargomyzhsky - https://en.wikipedia.org/wiki/Alexander_Dargomyzhsky
Dargomyzhsky เกิดในครอบครัวที่มีฐานะและได้รับการปลูกฝังเป็นอย่างดีที่เมือง Tula ในปี 1817 ต่อมาครอบครัวและท่านได้ย้ายไปอยู่อาศัยในเมือง Petrograd เนื่องจากมีการรุกรานของนโปเลียนเกิดขึ้น แต่จากการย้ายถิ่นฐานนี้ บิดาของท่านได้พบกับงานธุรการที่มีเงินเดือนที่ค่อนข้างดี ท่านได้เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่อายุยังน้อย ในขณะเดียวกันก็ได้ทำงานในกรมธนารักษ์ในปี 1827 ในอายุเพียง 14 ปี แต่ท่านก็ยังคงเรียนเปียโนแบบส่วนตัวต่อไป จนกระทั่งในปีช่วงปี 1830 ท่านก็ได้รับการยอมรับจากคีตกวีหลายท่านในเมือง Petrograd ว่าได้ประสบความสำเร็จในฐานะนักเปียโนและคีตกวีที่ประพันธ์บทเพลงประเภท Romance และ บทเพลงสำหรับ Violin and Piano ในปี 1835 Dargomyzhsky ได้เดินทางไปพบกับ Glinka บ่อยครั้ง Dargomyzhsky ได้เล่นเพลงโหมโรงของ Mendelssohn และบทเพลงซิมโฟนีของ Beethoven ในรูปแบบ Piano Duet และท่านยังได้มีโอกาสช่วยเหลือ Glinka ในการจัดการสิ่งต่างๆในการซ้อมการแสดงอุปรากรเรื่อง Ivan Susanin การพบกันของคีตกวีทั้ง 2 ท่านนี้เป็นการที่ทำให้ Dargomyzhsky หันเหไปยังการประพันธ์เพลงอย่างเป็นงานเป็นการมากขึ้น
Napoleon - https://www.bbc.com/news/blogs-news-from-elsewhere-46745792
อุปรากรเรื่องแรกที่ Dargomyzhsky ประพันธ์ขึ้นคือ Esmeralda ประพันธ์ในช่วงปี 1838 – 1841 โดยนำเนื้อเรื่องมาจากนิยายโรแมนติกของ Victor Hugo เรื่อง Notre-dame de Paris แต่เมื่อประพันธ์เสร็จก็ยังไม่ได้แสดงโดยทันที จนทำให้ท่านเกิดความไม่พอใจจนต้องหันไปประพันธ์บทเพลงประเภท Songs สักพักหนึ่ง แต่เมื่อ Esmeralda ได้แสดงรอบปฐมทัศน์ที่เมือง Moscow ในปี 1847 แต่กลับไม่ได้รับความประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ต่อมาในปี 1843 ท่านก็ได้ลาออกจากงานราชการแล้วเดินทางไปยังเมือง Paris ในช่วงฤดูหนาวในปี 1844 – 1845 และได้พบกับ Glinka อีกครั้ง
Victor Hugo - https://en.wikipedia.org/wiki/Victor_Hugo
ในปี 1843 Dargomyzhsky ก็เริ่มมีความคิดที่จะประพันธ์อุปรากรจากนวนิยายของ Pushkin เป็นนิยายโศกอนาฏกรรมเรื่อง Rusalka แต่กว่าที่ท่านจะเริ่มประพันธ์เวลาก็ล่วงเลยไปจนถึง 1848 จากที่ Dargomyzhsky ได้สังเกตงานอุปรากรทั้ง 2 เรื่องของ Glinka นั้นได้มีการมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของทำนองที่อ่อนช้อยงดงาม ในขณะที่ Dargomyzhsky เองต้องการที่จะพัฒนาด้านให้ดนตรีรัสเซียให้ก้าวกระโดดไปมากกว่านี้อีก ท่านได้เขียนเนื้อร้อง (Libretto) เองสำหรับเรื่อง Rusalka โดยเปลี่ยนคำร้องดั้งเดิมของ Pushkin เพียงเล็กน้อยแล้วเพิ่มเพลงเกี่ยวกับชาวนา เพลงเต้น และ Chorus แต่อย่างไรก็ตามเมื่อท่านได้เสนออุปรากรเรื่องนี้ให้แก่คณะกรรมการของ Imperial Theatr นั้นได้พิจารณาดูแล้วได้ให้ความสนใจกับอุปรากรเรื่องนี้น้อยมาก จนทำให้ Dargomyzhsky เข้าสู่ช่วงเวลาที่หดหู่จนทำให้ท่านล้มเลิกที่จะประพันธ์บทเพลงที่ท่านกำลังเขียนต่อ แต่ท่านก็ได้กำลังใจกลับคืนมาจากการแสดงคอนเสิร์ตในเมือง Petrograd โดยแสดงเพลงประเภท Romance จำนวน 4 บทเพลงจนได้รับเสียงชื่นชมเป็นล้นพ้น และยังได้รับจากการชื่นชมของ Glinka ในช่วงที่เดินทางกลับมาที่ประเทศรัสเซียจากการที่ได้รับฟังต่ออุปรากรของท่าน และแล้วท่านก็ประพันธ์แนว Orchestra ของ Rusalka เสร็จสมบูรณ์ในช่วงฤดูร้อนปี 1855 จนกระทั่งในปี 1856 ก็ได้แสดงรอบปฐมทัศน์โดยมีวาทยากร Konstantin Lyadov เป็นผู้ควบคุมวง แต่ผลที่ได้รับการตอบรับที่ไม่ดีนักจากโดยเฉพาะจากชนชั้นขุนนาง
Alexander Pushkin - https://en.wikipedia.org/wiki/Alexander_Pushkin
ต่อมาในปี 1859 อุปรากรเรื่อง Rusalka ก็ได้ถูกนำเสนอให้แก่ Bolshoi Theatr ที่เมือง Moscow แต่กว่าจะได้แสดงกันจริงๆเวลาก็ล่วงเลยไปถึง 1865 เสียแล้ว แต่ระหว่างนั้น อุปรากรเรื่องนี้ก็ได้มีโอกาสได้แสดงในโรงละคร Mariinsky Theatr ที่เมือง Petrograd ในปี 1856 ภายใต้การควบคุมวงของ Eduard Napravnik และแล้วในที่สุดก็ประสบความสำเร็จจนได้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีกว่าอุปรากรเรื่อง Esmeralda แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จนถึงปี 1861 อุปรากร Rusalka ได้มีโอกาสได้แสดงเพียง 26 ครั้งเท่านั้น
The Bolshoi Theater - https://www.marketplace.org/2016/10/27/bolshoi-theater-promoting-russias-brand/
Mariinsky Theatre - https://www.dookinternational.com/blog/mariinsky-theater-st-petersburg/
แม้ว่า Rusalka จะมีสไตล์และโครงฉันทลักษณ์ที่เป็นไปตามแบบแผนพอสมควร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ในวงการการพัฒนาการของดนตรีรัสเซียคือเทคนิค Melodic Recitative โดยทำนองคำร้องจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามสถานการณ์และอารมณ์ของบทเพลงแล้วมีวง Orchestra เล่นประกอบ Dargomyzhsky ได้ใช้เทคนิคนี้ในเพลงที่มีขนาดเล็กลงมาและอุปรากรเรื่อง The Stone Guest เช่นกัน
ในช่วงปีทศวรรษ 1840 และ 50 Dargomyzhsky ได้เปิดสอนร้องเพลงให้แก่นักดนตรีสมัครเล่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆเลย ท่านได้สอนให้แก่ Mariya Shilovsky จนเป็นที่สนิทสนมกับครอบครัว Begichev – Shilovsky ต่อมาในปี 1856 M. Balakirev และ Cesar Cui ได้เดินทางไปพบกับ Dargomyzhsky แต่ก็ยังไม่ได้สนิทสนมกันเท่าไรนักในเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่ท่านได้ตระหนักถึงความคิดเกี่ยวกับ Vocal Expression ในบทเพลงประเภท Songs และอุปรากร ในจดหมายที่เขียนขึ้นในปี 1857 ได้ปรากฏข้อความว่า “กระผมไม่ได้ต้องการที่จะลดทอนคุณภาพดนตรีลงในระดับเดียวกับดนตรีเพื่อความบันเทิง แต่กระผมนั้นต้องการให้ตัวดนตรีได้ถ่ายทอดความหมายของคำร้องโดยตรง กระผมต้องการความจริงเท่านั้น” ในเพลง Romance ตอนนี้ท่านได้พยายามที่จะถ่ายทอดลักษณะทางดนตรีในทุกๆวลี และทุกๆประโยค เป็นการพยายามที่จะสร้างระดับเสียงให้ใกล้เคียงกับเสียงพูดของมนุษย์จริงๆ ซึ่งความคิดนี้ได้เป็นอิทธิพลต่อ Modest Mussorgsky เป็นอย่างมากในเวลาต่อมา
Modest Mussorgsky - https://www.wrti.org/post/different-pictures-modest-mussorgsky
ในทศวรรษที่ 1860 ในขณะที่ Dargomyzhsky ยุ่งอยู่กับการทำงานกับศิลปินและนักเขียนที่ทำงานให้วรสาร The Spark (Искра) อยู่นั้น ได้มีความเชื่อว่า Dargo ได้ทำสื่อสิ่อล้อเลียนเกี่ยวกับการคลั่งอิตาลี่ของผู้ชมต่างๆ จากการอ้างอิงกฎระเบียบของจักรวรรดิของปี 1827 ที่น่าขายหน้านั้น คีตกวีชาวรัสเซียชาวรัสเซียสามารถเรียกค่าตัวได้ไม่เกิน 1143 รูเบิลจากคณะกรรมการของโรงละครต่างๆ ในขณะที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวต่างชาตินั้นได้เยอะกว่ามาก เช่น Verdi ได้ค่าตัว 17000 รูเบิลจากการแสดงเรื่อง La Forza del Destino ที่ Mariinsky Theatr ในปี 1862
ในทศวรรษที่ 1860 Dargo ได้ประพันธ์บทเพลงประเภท Orchestral Fantasias ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันได้แก่ Baba – Yaga (1862), Little – Russian Kazachok (1864), และ Finnish Fantasy (1867) ทั้ง 3 บทเพลงนี้สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเพลง Kamarinskaya ที่โด่งดังของ Glinka ในปี 1864 ท่านก็ได้เดินทางไปต่างประเทศไปยังทวีปยุโรปพร้อมกับบทประพันธ์ของท่าน ท่านไม่ได้รับความนิยมในประเทศฝรั่งเศสกับเยอรมันอย่างเท่าที่ควร แต่ตรงกันข้ามกับประเทศ Belgium ดนตรีรัสเซียกลับเป็นที่นิยมในประเทศนี้และได้ให้การต้อนรับท่านอย่างอบอุ่น ลำดับผลงานที่จะแสดงได้ถูกกำหนดโดยท่านเอง ได้แก่ Excerpts จาก Rusalka และบทประพันธ์ประเภท Orchestral Pieces อีกเป็นจำนวน 3 บทเพลง คือ Kazachok, Russian Legend, และ Dance of Mummers
ในช่วงท้ายของปี 1865 Rusalka ได้ถูกนำมาแสดงอีกครั้งที่ Mariinsky Theatr การแสดงครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ Dargomyzhsky อย่างมากในฐานะคีตกวีอุปรากรที่ยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นและเป็นคีตกวีอุปรากรชั้นนำของประเทศรัสเซียอีกด้วย การที่ได้รับประสบความสำเร็จในครั้งนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ท่านเริ่มประพันธ์อุปรากรเรื่องใหม่คือเรื่อง The Stone Guest เพราะท่านมีความสนใจที่จะพัฒนาดนตรีรัสเซียให้มีความ Realism โดยนำมาจากบทประพันธ์ Little Tragedy ของ Pushkin ซึ่ง Dargomyzhsky ต้องการที่จะใช้คำร้องดั้งเดิมทั้งหมด ทั้งนี้ท่านต้องการที่จะหลีกเลี่ยงขนบธรรมเนียมเดิมในการใช้ Arias และ Choruses เพื่อให้การบรรยายเรื่องราวนั้นต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ทั่งยังประพันธ์ให้การร้อง recitative ในระดับเสียงที่สูง และทั้งประโยคนั้ได้อยู่ในบันได้เสียงแบบ Whole Tone mode นั่นทำให้เป็นที่ภูมิใจของท่านในการปฏิวัติในแวดวงการงานของท่าน แต่ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ตั้งใจที่จะนำเรื่อง The Stone Guest นำออกไปแสดงต่อสาธรณะชนมากนัก ต่อมาในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1867 ท่านได้ถูกรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานของ Russian Musical Society และเสนอชื่อ Balakirev เป็น Music Director Dargomyzhsky ยังประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้ Leningrad Conservatoire แบ่งพื้นที่ให้กับ Free Music School และในช่วงปีเดียวกัน ท่านก็ยังได้ช่วยประสานงานในการทัวร์คอนเสิร์ตในรัสเซียให้กับ Hector Berlioz อีกด้วย
Saint Petersburg Conservatory - https://simple.wikipedia.org/wiki/Saint_Petersburg_Conservatory
ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1868 กลุ่ม Mighty Handful และ Vladimir Stasov ได้เดินทางเข้าพบปะกับ Dargomyzhsky อย่างเป็นประจำที่ห้องแฝลตของท่านในเมือง Petrograd การพบปะแต่ละครั้งกลุ่มคีตกวีทั้ง 5 จะเล่นเพลงของตนเองให้ Dargomyzhsky ฟังและฟังแบบร่างของอุปรากรเรื่อง The Stone Guest ของ ท่านอีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น อุปรากรเรื่องนี้ก็ยังเป็นต้นแบบสำคัญให้แก่ Mighty Handful ในการสร้างอุปรากรในเวลาต่อมา แต่จนถึงเวลาที่ Dargomyzhsky เสียชีวิตลง ท่านก็ยังคงประพันธ์อุปรากรเรื่องนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์นัก Cesar Cui จึงมารับช่วงต่อและใส่แนววงOrrchestra โดย N. Rimsky – Korsakov และได้แสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Mariinsky Theatr ในปี 1872
The Mighty Handful - https://classical.com/playlists/themightyhandful
ตัวอย่างผลงานประพันธ์โดย Dargomyzhsky
อุปรากรเรื่อง Rusalka - https://www.youtube.com/results?search_query=dargomyzhsky
3 Orchestral Pieces ( Baba-Yaga, Kazachok, Fantasy on Finnish Melodies) - https://www.youtube.com/watch?v=0aJSMrG_xuA
อ้างอิง
Tchaikovsky Research. (2020). Aleksandr Dargomyzhsky. สืบค้น 20/01/2020, จาก http:en.tchaikovsky-research.net/pages/Aleksandr_Dargomyzhsky
Brittanica. (2020). Aleksandr Dargomyzhsky. สืบค้น 20/01/2020, จาก https://www.britannica.com/biography/Aleksandr-Dargomyzhsky
Wikipedia. (2021). Aleksandr Dargomyzhsky. สืบค้น 20/01/2020, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Alexander_Dargomyzhskyy
M. Montagu - Nathan. (1914). Russian Music. New York: Charles Scribner's Sons
@Alyona
โฆษณา