30 ม.ค. 2021 เวลา 15:26 • ไลฟ์สไตล์
เราจะเลือกซื้อหูฟังแบบ true wireless อย่างไร ให้ตรง Lifestyle มากที่สุด ??
สวัสดีครับ บทความนี้ผมได้เลือกที่จะเขียนลงเป็นบทความแรก ลงใน Blockdit เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดบทความนึง และเนื้อหาของบทความนี้ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับมาจากการดูแลและให้บริการหลังการขาย รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานจริงกับลูกค้าหลายๆท่าน ด้วยตัวของผู้เขียนเอง และตั้งใจว่าบทความนี้จะมีชื่อรุ่นของหูฟังหรือชื่อแบรนด์ น้อยที่สุดเท่าที่ผมเคยพิมพ์บทความมา เพราะผมอยากมาแนะนำให้แบบไม่มีกั๊ก และใช้ได้จริงมากกว่า
โดยที่ไม่นำเสนอสินค้า เพราะไม่อยากให้สับสนไปกว่าเดิมที่เพื่อนมีข้อมูลอยู่ 555 และอยากให้เพื่อนๆ ที่กำลังเริ่มสนใจ แต่ตัดสินใจไม่ได้ซักที ได้อ่านในสิ่งที่จะทำให้เราไม่เดินหลงทางอีกต่อไป หรือแม้แต่ซื้อเป็นของขวัญให้ใครก็ตาม รับรองถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างแน่นอนครับ
แต่เราตัองสนิทกันถึงขั้นพอที่จะวิเคราะห์ Lifestyle คนๆนั้นได้ รับรองว่าหยิบหูฟังขึ้นมาทีไร ก็จะนึกถึงเราทุกทีเลยหล่ะครับ และผมเชื่อว่าหลังจบบทความนี้ หลายๆคน คงมองการเลือกซื้อหูฟังประเภทนี้ในมุมที่อาจจะไม่เคยคิดมาก่อนเลยก็ได้ครับ
รูปพื้นหลังจาก pixzbay.com
เจตนาของผู้เขียนนั้นมุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่าและตอบโจทย์ ของ Lifestyle ของคนส่วนมาก ที่ต้องออกนอกบ้านเพื่อทำกิจกรรม หรือทำงาน โดยจะอ้างอิงข้อมูลตามที่สเปคของหูฟังบลูทูธแบบ true wireless ที่มีลักษณะเป็น In-ears และแบบ Earbuds เท่านั้น และเป็นสินค้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
หูฟังประเภทนี้เท่าที่ค้นข้อมูลมาส่วนใหญ่มั่นใจว่าพกพาได้สะดวกมากๆ ทั้งหูฟังรวมกับตัวเคสที่ใช้เก็บอุปกรณ์นั้น สามารถใส่กระเป๋ากางเกง หรือกระเป๋าสะพายขนาดเล็กๆได้
โดยที่อาจจะขอไม่เอ่ยถึงการเปรียบเทียบเรื่องคุณภาพเสียงและงบประมาณเอาไว้ ให้แต่ละคนให้จัดลำดับความสำคัญหรือตามความพึงพอใจของตนเองดีกว่าครับ หรือผมอาจจะแยกไว้เป็นบทความในหัวข้อเรื่องอื่นๆ ต่อไปครับ (ถ้าผลตอบรับดีนะ..555)
ในยุคปัจจุบันที่หลายๆคนจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ Smartphone แทบทั้งนั้น จะเปรียบว่าเป็นเสมือนอวัยวะชิ้นหนึ่งในร่างกายของเราไปแล้วก็ได้จริงมั้ยครับ เพราะไม่ใช่เพียงแค่โทรติดต่อ สื่อสารกันอย่างเดียวเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา โลกในยุค Internet ความเร็วสูงเท่านี้ การปรับตัวของสมาร์ทโฟนและ แอพพลิเคชั่นต่างๆก็เข้ามามีบทบาทกับผู้คนมากขึ้น ในเรื่องการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
รูปพื้นหลังจาก pixabay.com
หูฟังไร้สายเริ่มเข้าสู่ตลาดบ้านเราคงราวๆ 5-6 ปีก่อน จนถึงในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์ต่างๆ ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างกว่า 60 – 70 % ของผู้คนในกรุงเทพฯ มักใช้เวลาอยู่นอกบ้าน อยู่ที่ทำงานบ้าง , ไปพบลูกค้าบ้าง , หรือทำงานใน Co-Working Space หรือเข้าฟิตเนสหลังเลิกงาน ฯลฯ หูฟังประเภท True wireless ก็เข้ามามีบทบาทกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น ด้วยขนาดที่พกพาสะดวก จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มาก
รูปพื้นหลังจาก pixabay.com
บางคนอาจจะมีคำถามว่า ถ้าวันๆไม่ไปไหนเลยอะครับ เล่นเกมส์ หรือนอนดูหนังที่บ้านทั้งวันเลย หูฟังประเภทนี้ผมต้องเลือกยังไง .??... ก่อนอื่นต้องขอบคุณสำหรับ คำถามครับ (ไหว้ย่อแบบนางงาม) ขอแนะนำแบบนี้นะครับ กรณีของบางท่านที่มีหูฟังตัวโปรดที่ใช้ได้ดีกับ การเล่นเกมส์ กับ PC หรือเล่นผ่าน Smartphone โดยใช้แบบเสียบสายอยู่ ในแง่ของการส่งสัญญาณและคุณภาพเสียงถ้าต้องการได้อรรถรสที่เต็มคุณภาพ ผมมองว่าใช้แบบเดิมอาจจะดีอยู่แล้วครับ
เราอาจจะหาอุปกรณ์ พวก Soundcard มาอัพเกรดคุณภาพเสียงให้ดีขึ้นไปอีก เพราะในส่วนของเกมส์ ( โดยเฉพาะแนว FPS ) การส่งผ่านสัญญาณบลูทูธ เข้าสู่หูฟังแบบ true wireless ในปัจจุบันผมยังไม่เจอที่ไม่มีดีเลย์ครับ ส่วนใหญ่ยังพบปัญหาดีเลย์อยู่บ้างแต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่การรับ-ส่งสัญญาณของตัวอุปกรณ์ที่มีความแตกต่างกัน (เรื่องนี้ก็จะมาในอีกบทความนึง) แต่ถ้าส่งผ่านระบบ Wifi อันนี้ยอมรับว่าดีจริงครับ
รูปพื้นหลังจาก pixabay.com
หรือถ้าดูหนังอยู่ที่บ้านแต่ไม่อยากลากสายหูฟังยาวๆ ผมแนะนำหูฟังแบบ Full Size ( ครอบหู ) ที่ส่งเป็นบลูทูธ หรือเป็น Wifi ก็จะดีมากครับ
ที่ผมไม่แนะนำหูฟังขนาดเล็กใช้งาน ในที่พักอาศัยเพราะคุณสมบัติที่มีเลยจะมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ มากกว่าหูฟังแบบต่อสายตรง กับหูฟังบลูทูธแบบครอบหู หลายประการเลยคือ
1. เรื่องของค่าความหน่วงของสัญญาน หรือ Latency ( เดี๋ยวอันนี้จะเขียนบทความแยกให้อีกทีครับ)
2.ปริมาณแบตเตอรี่ เพราะด้วยรูปทรงขนาดเล็ก แถมภายในต้องมีพื้นที่จัดวางทั้ง แบตเตอรี่ , ลำโพง , แผงเซ็นเซอร์ควบคุม , ไมค์ ฯลฯ ถ้าแบตฯหมดระหว่างใช้งานก็จบ !! (กำลังมีผู้ผลิตหูฟัง แบรนด์หนึ่ง กำลังผลิตหูฟังบลูทูธที่สามารถต่อสายแล้วใช้งานต่อได้เลย หากแบตเตอรี่ที่หูฟังหมด)
3.บรรยากาศและความสมจริงของเสียง ในรูปแบบการชมภาพยนตร์ ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างหูฟังบลูทูธขนาดใหญ่หรือแบบ Over Ear. กับหูฟัง In ear แบบบลูทูธที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รวมถึงขนาดของไดร์ฟเวอร์หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือตัวลำโพง ที่ส่งสัญญานออกมานั้นก็มีขนาดต่างกันด้วย ส่วนใหญ่ระบบเสียงของภาพยนตร์นั้นจะให้บรรยากาศของสิ่งแวดล้อมรอบๆพื้นที่นั้นด้วย เพื่อให้ผู้รับชมรู้สึกถึงความสมจริงมากที่สุด เพื่อน ๆ ลองนึกภาพตามว่าหูฟังที่เอาลำโพงมาครอบทั้งใบหูของเรา กับหูฟังที่เอาลำโพงตัวจิ๋วแหย่เข้าไปในหูของเรา หรือลองหา วีดีโอ ASMR ดีๆซักคลิปนึง จะรู้สึกชัดเจนว่าถ้ามีเสียงใครเปิดประตูมาจากด้านหลัง ถ้าใช้หูฟังแบบครอบนี่เล่นเอาเราหันหลังไปมองเลยจริงๆ ส่วนหูแบบ in ear ขนาดเล็กนั้น ยังรู้สึกถึงความจำลองให้มีความคล้ายมากกว่า เพราะการรับรู้เสียงของมนุษย์ตามปกติคือ รับคลื่นเสียงตั้งแต่บริเวณใบหูด้านนอก หูฟังครอบหูจึงรู้สึกถึงบรรยากาศที่เปรียบเสมือนเราอยู่ตรงนั้นด้วย
นี่จึงเป็นเหตุผล ที่ผมให้ความสำคัญที่สุด ว่าหูฟังไม่จำเป็นว่าจะต้องซื้อให้แพง เพียงแต่ซื้อให้เหมาะสมแบบนี้ถือว่าถูกต้องแล้วครับ
จริงๆจุดประสงค์ของผู้ผลิตหูฟังประเภท true wireless ออกมานั้น เพื่อให้เหมาะกับ Lifestyle ที่ต้องการความสะดวกเป็นหลักครับ หูฟังอะไรก็ตามถ้าให้ประสิทธิภาพเหมาะสมกับราคาที่เราจ่ายไปแล้วพึงพอใจ สำหรับผมจะเรียกว่านี่แหละ คือ หูฟังที่ดีสำหรับเรา ( เฉพาะ ณ ช่วงเวลานั้นๆ )
รูปพื้นหลังจาก pixabay.com
เดี๋ยวนี้การดูหนังผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีความละเอียดของภาพและความสมจริงของเสียงที่เพิ่มขึ้น หรือการฟังเพลงผ่านแอพฯสตรีมต่างๆก็มีคุณภาพที่สูงขนาดไฟล์ใหญ่ขึ้น ปริมาณในการส่งข้อมูลไปที่หูฟังย่อมมีปริมาณมากขึ้น หรือแม้แต่การเล่นเกมส์ออนไลน์แนว FPS ที่นอกจากต้องการให้ดีเลย์ของเสียงนั้นน้อยที่สุดหรือถ้าไม่มีเลยได้ยิ่งดี ไหนยังต้องสนทนากับเพื่อนที่ร่วมทีมเดียวกันอีก , รวมถึงการประชุมผ่าน VDO Call ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ , หรือการใช้งาน Siri และ Google Assistant ที่เป็นผู้ช่วยอัฉริยะทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ การค้นหาข้อมูลที่ต้องการผ่านการสั่งงานด้วยเสียง ก็ต้องการคุณภาพของไมค์ที่รับเสียงพูดได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้บรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์ Smartphone ของค่ายยักษ์ใหญ่ต่างๆนั้น เริ่มที่จะตัดช่องหูฟัง 3.5 mm. ออกไปบ้างแล้ว ผู้คนจึงเริ่มหันมาสนใจสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น และค่ายมือถือเหล่านั้นก็ถือโอกาสมาเจาะตลาดอุปกรณ์พวกนี้อย่างจริงๆจังๆกันแล้วทั้งนั้น
นี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้เกิดการพัฒนาและแข่งขันกันก็มีทั้ง ฟังก์ชั่นการใช้งาน และ คุณภาพเสียงที่แตกต่างกันออกไป และการออกแบบดีไซน์รูปลักษณ์ให้สวยงาม รวมถึงการแข่งขันทางด้านราคาก็เป็นอีกสาเหตุ จึงส่งผลดีให้ผู้บริโภคในยุคนี้ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มสินค้าประเภทนี้ได้อย่างกว้างมากขึ้น รวมถึงราคาก็สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มวัยได้ได้ ด้วยราคาหลัก 4-5 ร้อยบาทก็เพียงพอที่จะใช้งานได้แบบครบทุกฟังก์ชั่นที่หูฟังหลักพันควรจะมี และยังได้การรับประกันหลังการขายอีกต่างหาก
รูปพื้นหลังจาก pixabay.com
ส่วนเพื่อนๆคนไหนที่มีความสนใจกลุ่มสินค้าในประเภทนี้อยู่แล้ว ก็จะสามารถหาแหล่งที่มาของสเปคเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลเบื้องต้น จากทางสื่อ Official ของแต่ละแบรนด์ได้ช่วงก่อนสินค้าจะวางจำหน่ายจริง ซึ่งถ้าแบรนด์นั้นๆ ออกแบบดีไซน์มาสวยงามโดนใจและมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจด้วย ก็เพียงพอแล้วสำหรับการตัดสินใจสั่งที่จะ Pre-order มาเผื่อทดสอบความสามารถของสินค้าว่าตรงตามความคาดหวังมากน้อยแค่ไหน โดยไม่ต้องรอทดสอบสินค้าตัวจริงเลยด้วยซ้ำ ..
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย ซึ่งหลายๆคนอาจลืมนึกไป และถือว่าค่อนข้างมีปัญหากับผู้ที่ต้องสวมใส่หูฟังนั้นเป็นเวลานานๆ รวมถึงคุณพ่อบ้านที่ซื้อไปเซอร์ไพร์สเหล่าบรรดา ลูกสาว หรือคุณแม่บ้านผู้น่ารัก และ ผลปรากฏว่า ใส่ไม่ได้บ้าง เหมือนจะหลุดจะร่วงอยู่ตลอดเวลา หรือเกิดอาการเจ็บหูบ้าง คือปัญหาจากเรื่อง น้ำหนักของตัวหูฟัง หรือ ขนาดของตัวหูฟังที่ใหญ่ จึงไม่พอดีกับโครงสร้างของใบหู เนื่องด้วยสรีระทางร่างกายของมนุษย์จะมีความแตกต่างกันไปตามพันธุกรรมและโครงสร้างของร่างกายครับ
โดยส่วนมากลูกค้าหลายๆ ท่านที่ไปลองทดสอบสินค้าตัวอย่างที่หน้าร้านจะใช้เวลาเพื่อเปรียบเทียบสินค้าที่มีราคาและสเปคใกล้เคียงกัน หลายๆแบรนด์ เปิดฟังเพลง 2-4 เพลงสลับกันไปมาระหว่างแบรนด์ ตามด้วยการทดสอบไมค์ด้วยการโทรคุยอีกนิดหน่อย ยิ่งแบรนด์ไหนเสียงดีถูกใจแล้วยังมีรูปลักษณ์ที่สวยบาดตาบาดใจ ราวกับโดนมนต์สะกด บางทีก็ลืมนึกไปว่าใส่นานๆจะเป็นอย่างไร
ตรงนี้บางครั้งแม้แต่คนแนะนำสินค้าอาจจะไม่ได้ชี้แจง เพราะไม่ทราบเช่นกัน (ลูกค้าที่ซื้อทางช่องทางออนไลน์น่าจะเจอบ่อย) อีกอย่างคือผู้จำหน่ายทดสอบแล้วไม่เจอปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งผมในฐานะผู้ให้บริการลูกค้าและดูแลหลังการขายก็เลยถือเอาประสบการณ์เหล่านี้มาแชร์ ให้เพื่อนๆ เผื่อว่าจะมีเพื่อนๆที่ชอบใส่หูฟังนานๆ และกำลังหาซื้อหูฟังประเภทนี้ไปใช้เอง หรือไปเป็นของขวัญให้กับคนพิเศษๆ อย่าลืมที่จะเพิ่มในส่วนนี้เป็นข้อมูลให้กับผู้แนะนำสินค้าตามหน้าร้านต่างๆ ก็จะช่วยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของตัวสินค้าให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ซื้อด้วย ทีนี้รับรองได้ว่า เพื่อนๆนั้นจะได้สินค้าที่ถูกใจและคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์จริงๆครับ
ที่นี้ก็มาเข้าสู่ลำดับความสำคัญในการจำแนก แยกแยะ ฟีเจอร์หลักที่ควรมี สำหรับผู้ที่กำลังมองหาหูฟัง Truly Wireless หรือหูฟังบลูทูธแบบไร้สาย แต่ไม่รู้ว่า Lifestyle ของตนเองจะต้องเน้นไปที่ฟีเจอร์ไหนเป็นหลัก หรือซื้อไปฝากเป็นของขวัญในวันสำคัญควรเลือกยังไง?
ผมก็จะขอไกด์ไลน์เป็น Life style ตามลักษณะลูกค้าที่รวบรวมมาทั้งหมดแบบคร่าวๆ ให้ดังนี้นะครับ
1.กลุ่มแรกจะขอยกตัวอย่างของสาวๆวัยทำงาน ที่เน้นใช้คุยเป็นส่วนมาก และทุกครั้งเธอจะส่องกระจกดูให้หูฟังนั้นเด่นกว่าตุ้มหูที่เธอใส่อยู่เด็ดขาด เน้นลุคเรียบสวย เสียงดีด้วยไมค์สนทนาคมชัด และที่สำคัญหากจำเป็นต้องเม้าท์กับเพื่อนระหว่างวัน ก็กลัวได้ยินไม่ชัด งั้นขอทรงเอียร์บัด เพราะยังได้ยินเสียงรอบตัวได้ประมาณนึง อยากได้งบประหยัด ๆ มีงบไม่เกิน 1,000 บาท ได้มั้ย ??
ตอบ : มีครับ ความสำคัญของโจทย์นี้คือ รูปทรง และ ไมค์ งั้นควรให้ความสำคัญกับ ความพอดีในการสวมใส่ก่อน เพราะถ้าใส่ไปหลุดไปรับรองว่าเธอจะแอนตี้หูฟังประเภทนี้ไปตลอดเลยทีเดียวครับ ถ้าซื้อให้คุณผู้หญิงก็ควรจะเป็นสีขาวๆ หรือสวยดุ แบบสีดำสนิท ก็จะเข้ากับเสื้อผ้าได้หลายๆแบบ ประการต่อมาให้ลองมองหูฟังที่มี ก้านยื่นลงมาจากหูฟัง ทรงจะคล้ายๆ airpod ของค่ายแอปเปิ้ล เพราะด้วยการออกแบบของหูฟังรูปทรงนี้มักมีติดตั้งจุดรับเสียงของไมค์ ไว้บริเวณก้านที่ยื่นออกมา ทำให้ตำแหน่งรับเสียงนั้นทำได้ดีกว่ารูปทรงอื่นๆ ถ้าเทียบกับคุณภาพไมค์ในระดับเดียวกันนะครับ และแบตฯ ต้องเพียงพอต่อการใช้งานในระหว่างวันด้วยนะครับ ควรจะอยู่ที่ 4-5 ช.ม. ต่อเนื่อง และกันเหงื่อได้นิดหน่อย ระดับ IPX4 – IPX5 ก็เพียงพอเผื่อเธอจะไปฟิตเนสต่อหลังเลิกงาน (ที่เหลือทดสอบเสียงและการควบคุมการใช้งาน) และสุดท้ายสินค้าควรมีการรับประกันด้วยจะดีมาก คุณสามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพแบบนี้ในราคา 990 บาทเท่านั้นครับ
รูปภาพจาก RHA-Audio.com
2.กลุ่มที่ 2 เป็นสไตล์ชายโสดวัยทำงาน ไฟแรง มั่นใจ วัยกำลังเล่นกล้าม หูฟังของเขาต้องเท่ห์ สปอร์ต เวลาหยิบมาใส่ต้องมั่นใจ เสมือนเป็นสิ่งที่มาเพื่อเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้น อันนี้ต้องมองเรื่องความพอดีในการสวมใส่เป็นอันดับแรกครับใส่ควรจะเป็นลักษณะ In-ears แล้วต้องแนบสนิทไม่หลุดง่าย ถ้าตรงนี้ไม่ผ่านก็ไม่ได้ไปต่อครับ ถัดมาชื่อเสียงแบรนด์จะต้องเป็นที่รู้จักในวงกว้างซักหน่อย ตัวบอดี้อาจจะสีดำเข้ม หรือน้ำเงิน Navy ถ้ามีเป็นคาร์บอนเคฟล่าด้วยก็จะเพอร์เฟคที่สุด
ฟั่งก์ชั่นแรกๆที่ควรมีสำหรับคุณผู้ชายคือเรื่องของ การกันฝุ่นและน้ำในระดับที่ดี ประเภทระดับ IP67 เลยก็จะดีมากๆ หรือกล่องชาร์จที่กันน้ำได้ด้วยเลยยิ่งดี เพราะจะทำให้ใช้ได้หลายๆกิจกรรม บางคนชอบอาบน้ำนอกบ้าน ก็ถ้าร่วงลงอ่างก็หยิบมาใช้งานต่อได้ไม่มีปัญหาครับผม
สิ่งที่ผู้ชายอย่างเราให้ความสำคัญมากคือเรื่องเสียงที่จะต้องฟังเพลงได้หลากหลายแนว ไม่อุดอู้หรือมีแต่เบส ตุ๊บตั๊บ จนฟังอย่างอื่นไม่รู้เรื่อง ไมค์จะต้องมีระบบตัดเสียงรบกวนช่วยให้ฝั่งที่สนทนาได้ยินเสียงเราชัดเจน ไม่หงุดหงิดที่ต้องพูดหลายรอบเพราะคู่สนทนาฟังเราไม่รู้เรื่อง และสุดท้ายคงเป็นแบตฯ ที่ต้องใช้ได้นานมากๆ ควรจะมี 6-8 ช.ม. ต่อเนื่อง ส่วนการรับประกันก็ต้องมีแน่นอนครับ หากเป็นแบรนด์ดังอย่างต่ำๆก็มี 1 ปีขึ้นไปครับ หูฟังระดับนี้มีตั้งแต่ราคา 4000 – 10,000 บาทขึ้นไปครับ
รูปภาพจาก RHA-Audio.com
รูปภาพจาก RHA-Audio.com
3.กลุ่มที่ 3 เน้นความเป็นส่วนตัว ชอบนั่งเทรดหุ้น ตามร้านกาแฟ เขียนบทความ ทำคอนเท้นต์ ทำงานใน co working space งานที่ต้องใช้ไอเดีย ชอบความเงียบและความเป็นส่วนตัวสูง ประการแรกมองหาหูฟังที่มีระบบตัดเสียงรบกวน ( ระบบ ANC ย่อมากจาก Active Noise Cancellation )
รูปภาพจาก Sony.co.th
กลุ่มนี้จะเน้นไปที่ระบบฟังก์ชั่นการใช้งานล้วนๆ การควบคุมโหมดต่างๆ ต้องตอบสนองได้ดี ไมค์ชัด เสียงดี และถ้าสามารถใช้งานคู่กับแอพพลิเคชั่นในการปรับแต่งเสียง หรือลูกเล่นอื่นๆก็จะยิ่งเพิ่มความถูกใจให้คนกลุ่มนี้ได้มาก ถือว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การนั่งทำงานนานๆไม่น่าเบื่ออย่างที่เคยเป็น เรื่องการสวมใส่เน้นแค่น้ำหนักตัวหูจะต้องไม่มากเกินไปเพราะจะทำให้เวลาใส่นานอาจเกิดอาการเจ็บหู ส่วนเรื่องแบตฯแน่นอนครับว่า ฟังก์ชั่นเยอะขนาดนี้ โดยเฉพาะการเปิดโหมด ANC นั้นค่อนข้างกินพลังงานสูง ต้องหาสเปคที่มีแบตฯเยอะพอสมควร นอกนั้นก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร โดยหูฟัง ที่ให้สเปคแบบนี้จะเริ่มต้นที่ 2590 บาทขึ้นไปครับ
4.กลุ่มสุดท้ายคือคนที่ชอบออกกำลังกายแต่มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป คนกลุ่มนี้เน้นไปที่ 2 อย่างที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ คือเรื่องการกันน้ำที่มากหรือน้อยก็แล้วแต่บุคคล แต่ต้องกันได้ และ การยึดเกาะกับตัวหูที่ต้องแน่นหรือไม่หลุดขณะออกกำลังกาย เพราะบางกีฬาเป็นลักษณะที่ต้องไป Outdoor คือถ้าหายก็ไม่ต้องหาละ หายไปเลย 5555.
ประเด็นเลยคือถ้าเป็นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายที่รวดเร็ว ผาดโผน หรือประเภทไตรกีฬา ก็ควรจะให้มั่นใจซักหน่อย ควรหาหูฟังที่มีลักษณะที่ออกแบบให้มีตัวเกี่ยวคล้องใบหู มาตรฐานการกันฝุ่นและน้ำควรไม่ต่ำกว่า IP67 และแนะนำว่าหาตัวที่ควบคุมคำสั่งด้วยปุ่มกด อาจจะเหมาะสมกว่ารุ่นใหม่ที่ปัจจุบันจะเป็นระบบสัมผัสที่หูฟังเพื่อควบคุมการใช้งาน ซึ่งผมมมองว่าบางรุ่นนั้นก็แตะยากเหลือเกินกว่าจะได้ตามสั่ง หรือคงเป็นเพราะมือของเรามีเหงื่อและคราบไขมันที่อาจทำให้เซ็นเซอร์ไม่ตรวจจับว่าเป็นนิ้วมือก็ไม่ทราบได้ ตรงนี้ผู้ใช้งานอาจจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับ กีฬาหรือกิจกรรมที่เหมาะสมกับอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย เพราะสุดท้ายแล้วหากอุปกรณ์เหล่านี้เกิดเสียหายเพราะการใช้งานผิดประเภทแล้วหล่ะก็ จะไม่เข้าเงื่อนไขการรับประกันทันทีครับ
รูปภาพจาก Sound-Republic Thailand
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมเชื่อเสมอว่าหูฟังที่จะไปกับเราในทุกๆที จะต้องใส่แล้วพอดี ไม่อึดอัดหรือหลวมจนรู้สึกว่ามันหลุดร่วงไปจากเรา ให้คะแนนตรงส่วนนี้เป็นลำดับต้นๆ ถ้าใส่พอดีแล้วที่นี้เรื่องฟังก์ชั่นไม่ต้องกังวลไปครับ ปัจจุบันหูฟังที่มีระบบ ตัดเสียงรบกวน และรับเสียงภายนอกเข้ามาช่วยลดอันตรายหรืออุบัติเหตุเวลาเดินริมถนน ไมค์สนทนาก็ยังมีระบบช่วยลดเสียงรบกวนได้อีก แบตฯที่ใช้งานได้ต่อเนื่อง 7 -10 ชั่วโมง และยังมีการรับประกันหลังการขาย สเปคแบบนี้หาได้ในราคาไม่ถึง 3 พันบาทก็มีครับ
รูปภาพจาก Zmi Thailand
สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนๆที่ติดตาม และให้การสนับสนุน หรือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผม ผมก็จะนำความรู้ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับหูฟังพร้อมวิธีแก้ไข หรือเทคนิคเล็กๆน้อยมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ หากมีโอกาส ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการฟังเพลงครับ
🛒หากลูกค้าสนใจสินค้าหรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเราได้ที่อินบ็อกเพจ หรือตามที่อยู่ลิงค์นี้เลยยย🛒
At Iconic Music , You are Always our Special One.
"ใส่ใจด้วยทีมงานระดับโปร มั่นใจ ศูนย์ไทย 100%"
ชั้น 2 ห้อง MSE011 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
ถ. รามอินทรา กรุงเทพมหานครฯ
เวลาทำการ : 10.30 - 20.30 น.
Tel : 062-654-4566
Line : @iconicmusic
ig: music_iconic
Youtube : iconic-music
โฆษณา