31 ม.ค. 2021 เวลา 00:46 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Greenshoe option คืออะไร??
หลายคนน่าจะได้เห็นข่าว หุ้น OR ที่กำลังเสนอขายหุ้น IPO และจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อให้สามารถซื้อขายได้ในกระดานหุ้น ซึ่งเดิมคือ PTTOR ที่ปตท. (PTT) ถือหุ้น 100%
.
ซึ่งตามข่าว เราจะเห็นว่า PTTOR เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 3,000 ล้านหุ้น และได้เตรียมจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) อีกไม่เกิน 390 ล้านหุ้น
.
หลายคนก็อาจสงสัยว่า แล้ว Grenshoe ตรงนี้คืออะไร มีไว้ทำอะไร ใครสงสัย มาอ่านโพสนี้กัน...
.
.
ในการทำ IPO ของบริษัทใด นอกจากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ จะมีหลายส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า underwriter ซึ่งก็คือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ได้รับอนุญาตเพื่อทำหน้าที่เสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปแทนบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้นๆ
โดย Greenshoe Option คือ การจัดสรรหุ้นส่วนเกินจากจำนวนหุ้นที่บริษัทที่ออกหุ้นนั้น ตั้งใจจะเสนอขายให้แก่นักลงทุน จริงๆ ก็คือ over-allotment option โดยการจะทำได้ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า หุ้น IPO นั้น มีคนต้องการซื้อหุ้น มากกว่าจำนวนหุ้นที่บริษัทที่ออกตั้งใจจะเสนอขายออกมา
ซึ่งการทำแบบนี้ต้องได้รับอนุญาตจาก กลต. และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้นๆ ซึ่งตรงนี้ underwriter จะเป็นคนจัดการ คือ ขายหุ้น IPO ออกไปมากกว่า จำนวนที่บริษัทผู้ออกต้องการเสนอขาย
โดยเงินที่ได้จากการขายเกินตรงนี้จะถูกกันไว้ต่างหาก เพื่อไว้ไปซื้อกลับมาจากตลาดหุ้นช่วงที่เข้าไปซื้อขาย ภายใน 30 วันแรก หรือ มีสิทธินำเงินตรงนี้ขอซื้อหุ้นเพิ่มเติมจากบริษัทที่ออกในราคา IPO ตามปกติได้
ยังไม่ต้องงงนะ ลองมาดูตัวอย่างกันจะเข้าใจมากขึ้น
บริษัทมานะ ต้องการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด 100 ล้านหุ้น และมีแผนทำ Greenshoe option อีก 10 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายที่ 10 บ. โดยผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือ underwriter คือ บล. ปิติ
บล. ปิติ ขายหุ้น IPO ออกไปทั้งหมด 110 ล้านหุ้น จะเห็นว่า เกินไป 10 ล้านหุ้น จากที่บริษัทมานะตั้งใจจะขายออกมา ดังนั้นจะมีหุ้นที่ขายเกินไป 10 ล้านหุ้น ขายหุ้นละ 10 บ. และขายได้เงินส่วนเกินตรงนี้ 100 ล้านบาท
โดยนักลงทุนอย่างเราๆ ไม่ต้องกังวลนะ เพราะเราก็จะได้รับการจัดสรรหุ้นนี้อออกมาตามปกติ เพราะ underwriter จะขอยืมหุ้นมาจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทมานะก่อน แต่ก็มีเงื่อนไขต้องคืนหุ้นที่ยืมมาภายใน 30 วันหลังจากที่หุ้นนั้นเข้าซื้อขายในตลาด
เมื่อหุ้นนี้เข้าซื้อขายในตลาด ในช่วง 30 แรก แล้วราคาต่ำกว่า ราคา IPO ที่ 10 บ. (ราคาต่ำจอง) บล. ปิติก็จะนำเงินส่วนเกินตรงนั้น เข้าไปซื้อหุ้นคืนมาจากตลาด เพื่อให้ได้ 10 ล้านหุ้นคืนผู้ถือหุ้นเดิมบริษัทมานะ ซึ่งเงินส่วนต่างตรงนี้จะเป็นของ underwriter แต่ก็ไม่ต้องกังวลว่า บล. ที่เป็น underwriter จะพยายามทำให้ราคาหุ้นลงนะ เพราะเงินตรงนี้ก็ไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับความน่าเชื่อและการได้เป็น underwriter ของบริษัทที่ต้องการทำ IPO
แต่ถ้าหุ้น IPO นั้นพอเข้าซื้อขายในตลาดช่วงแรกแล้ว ราคาขึ้นไปสูงกว่า ราคา IPO คือสูงกว่า 10 บ. บล. ปิติ มีสิทธิขอซื้อหุ้นที่ เกินมา 10 ล้านหุ้น ในราคา IPO 10 บ. จากบริษัทมานะได้
จะเห็นว่า การทำ Greenshoe option นั้น เป็นกลไกที่พยายามทำให้หุ้น IPO ที่เข้ามาซื้อขายในตลาดในช่วงแรกที่อาจมีความผันผวนนั้น มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น ไม่ได้มุ่งหวังส่วนต่างกำไรจากการทำ Greenshoe option
ส่วนที่มักเรียกว่า Greenshoe option แทนที่จะเรียกว่า over-allotment option ตามวิธีการจริงๆ นั้น เพราะบริษัทที่เริ่มทำวิธีการนี้ครั้งแรกคือ บริษัท Greenshoe manufacturing company เท่านั้นเอง
.
ที่พูดถึงหุ้นนี้ ไม่ได้มีเจตนาในการชักชวนให้ซื้อหรือไม่ซื้อหุ้นนี้นะ เพียงแต่หลายคนน่าจะสงสัยเรื่อง Grrenshoe option จากการเสนอ IPO ของหุ้นนี้เท่านั้น
1
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#IPO
#GreenshoeOption
#หุ้น
โฆษณา