2 ก.พ. 2021 เวลา 01:30 • สิ่งแวดล้อม
เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นทางเท้าในเคนยา กับการจัดการขยะของไทย
แม้ว่าจะมีเสียงบ่นให้ได้ยินอยู่บ้างในช่วงแรก แต่มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อบางเจ้า เพิ่งจะครบรอบ 1 ปี ของการดำเนินงานไปเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าเป็นการดำเนินงานที่น่าชื่นชมและประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ เพราะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่การ “ยืดอกพกถุง” กันถ้วนหน้า
ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ประเทศเคนยาก็ประสบปัญหาขยะล้นเมืองเช่นกัน แค่เพียงในกรุงไนโรบีเพียงเมืองเดียวสามารถผลิตขยะพลาสติกถึงวันละ 500 ตัน ทำให้ประเทศเคนยามีคำสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในสถานที่ทางธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น อุทยานแห่งชาติ ชายหาด หรือพื้นที่ป่า ไปเมื่อมิถุนายนในปีที่ผ่านมา
Nzambi Matee และกลุ่มวิศวกรในโรงงานกำจัดขยะมีความคิดที่จะลดต้นทุนของการกำจัดขยะ จึงเกิดไอเดียในการนำฝาขวดน้ำพลาสติกและภาชนะบรรจุน้ำมันปรุงอาหารที่เหลือทิ้ง ไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอิฐปูทางเท้า ขายให้แก่ประชาชนตามบ้านเรือนรวมถึงโรงเรียนในเคนยา
การผลิตอิฐปูทางเท้าไม่เพียงแต่ลดต้นทุนการกำจัดขยะได้ ทำให้โรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่เพียงเท่านั้นโครงการนี้ได้รับยกย่องจาก UN ในแง่มุมของการพัฒนาเครื่องจักรรีไซเคิลพลาสติกที่ทิ้งแล้วให้กลายเป็นหินปูทางเท้าเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง
รัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยมีเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 แต่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในปริมาณมากจากการสั่งอาหารออนไลน์ ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 ขยะพลาสติกในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 1,320 ตันต่อวัน
ข้อมูลจาก Innovation Norway ระบุว่า 1 ตันของขยะพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิล แทนการฝังกลบจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.3 t-CO2 คงจะดีถ้าเราสามารถนำขยะส่วนที่เกินมาไปทำหินปูทางเท้าได้ ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซฯ ได้ถึง 1.1 Mt-CO2eq ต่อปีเลยทีเดียว
#ClimateChangeTalk #ThailandClimateChange #Mitigation #ClimateTechnology #PlasticBricks #Recycling #RecycledPlastic #Pavements
บทความโดย CC Talk team
โฆษณา