1 ก.พ. 2021 เวลา 01:55 • ปรัชญา
ธรรมะวันจันทร์
ดังตฤณ
คนจิตใจอ่อนไหว
เป็นทุกข์ง่ายกว่า
เป็นทุกข์หนักกว่า
ทุกข์หายช้ากว่า
ยามสูญเสีย
ความเศร้าซึมจะทำให้รู้สึกสูญหายเนิ่นนาน
คนมีจิตใจหนักแน่น
เป็นทุกข์ยากขึ้น
ถึงทุกข์ก็เบาบาง
หรือแม้ต้องทุกข์หนักก็หายเร็ว
สามารถเห็นความไม่เที่ยง
ของใจที่หม่นหมอง
ภายในเวลาไม่กี่อึดใจ
และเมื่อเห็นความไม่เที่ยงง่าย
ก็สบายๆที่จะเห็นมันไม่ใช่ตัวเดิม
ไม่มีทุกข์หรือสุขไหนเป็นตัวเราจริง
ด้วยเหตุนี้ แนวทางเจริญสติ
จึงสนับสนุนให้อาศัยสมาธิเป็นฐาน
เพราะผลดีส่วนหนึ่งของสมาธิ
คือเป็นคนมีจิตใจหนักแน่น
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
เมื่อหลับตาทำสมาธิ
แม้ฟุ้งก็ปล่อยให้ ‘ฟุ้งอย่างรู้’
รู้ว่าฟุ้งมากที่ลมหายใจก่อนได้
ก็ฟุ้งน้อยลงที่ลมหายใจนี้ได้
รู้ว่าสงบลงที่ลมหายใจนี้ได้
เดี๋ยวก็ไม่สงบเลยที่ลมหายใจหน้าได้
ไม่ยึดความนิ่งเป็นคะแนนบวก
ไม่ยึดความฟุ้งเป็นคะแนนติดลบ
แต่ให้คะแนนสติ
ที่สามารถรู้ทั้งนิ่ง ทั้งฟุ้ง ณ ขณะที่ปรากฏอยู่
เห็นเป็นธรรมดาที่มันกลับไปกลับมาได้
ตัวสติที่ไม่หลงยึด
และไม่หลงแล่นตามนั่นแหละ
คือสิ่งที่จะปรุงแต่งจิต
ให้หนักแน่นเป็นสมาธิในที่สุด
ผู้สามารถเจริญสติ
จนเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
คือผู้มีสติดีพอ
จะเห็นทุกความสูญเสีย
โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นธรรมดา
ไม่ใช่โดยความเป็นของผิดปกติ
ที่ทนไม่ได้ ที่เกินจะรับ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
สิ่งกระทบหนึ่งๆ
วันก่อนอาจเป็นครูเราไม่ได้
เพราะเราเองยังไม่ถึงเวลาสนใจอะไร
แต่วันนี้
สิ่งกระทบเดียวกัน
อาจเป็นครูผู้น่าขอบคุณ
เพราะมาในเวลาที่เราสนใจสังเกตจิต
เห็นว่ากระทบแล้วกระเพื่อมได้แค่ไหน
กว่าจะหมดแรงกระเพื่อมนั้น ช้าหรือเร็ว
น้ำตาของคนบางคน
ไหลออกมา
แสดงความเสียใจแบบมนุษย์ธรรมดา
แต่หยุดลงอย่างรวดเร็วแบบคนจริง
ที่มีใจมั่นคง อยู่ได้ด้วยตัวเอง
ไหลครั้งสองครั้งแล้วไม่ไหลซ้ำอีก
น้ำตาแบบนั้น
ไม่ใช่น้ำตาของคนอ่อนแอเลย
คนที่เข้มแข็ง
ก็แค่เป็นคนที่เศร้ายากขึ้นเรื่อยๆ!
#THAIFA “รวมพลัง สร้างอนาคต”
โฆษณา