1 ก.พ. 2021 เวลา 02:49 • กีฬา
กุญแจแห่งความสำเร็จ ทีมงานและสต๊าฟโค้ชเบื้องหลังการสร้าง ยูไนเต็ด ยุคใหม่
สวัสดีครับ นี่คือบทความเเรก จาก แมนยู สู้ตาย Blockdit ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ
ทีมงานสต๊าฟโค้ช ของแมนฯ ยูไนเต็ดซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างทีม เพื่อนำพาสโมสรไปสู่ความสำเร็จ โดย แบ่งเป็นหลายส่วน มีทั้งด้าน การบริหาร ด้านแทคติก ด้านสภาพร่างกาย และ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล หวังว่าพลพรรคผีแดงและคอบอลทั่วไป จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เกี่ยวกับโครงสร้างของสโมสรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และกำลังต่อสู้เพื่อกลับไปสู่จุดที่เคยอยู่อีกครั้ง
- โครงสร้างด้านผู้บริหาร
เอ็ด วู้ดเวิร์ด
เอ็ด วู้ดเวิร์ด (รองประธานกรรมการบริหาร)
 
นี่คือผู้ที่ทำให้การเจรจาเทคโอเวอร์สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ของตระกูลเกลเซอร์ผ่านไปได้อย่างราบรื่นเมื่อปี 2005 จากนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทางการเงินของสโมสรในปี 2007 จากนั้นปี 2012 ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองประธานกรรมการบริหาร มีอำนาจสูงสุดในการโยกย้ายหรือแต่งตั้งบุคลาการในทีมชุดใหญ่
จอห์น เมอร์ทัฟ
จอห์น เมอร์ทัฟ (หัวหน้าฝ่ายพัฒนาด้านฟุตบอล)
 
เมอร์ทัฟ เคยทำงานในทีมอะคาเดมี่ของ เอฟเวอร์ตัน ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ในปี 2013 หน้าที่หลักๆ การดูแลศูนย์อะคาเดมี่ของทีมและทีมงานสเกาท์ที่คอยเฟ้นหานักเตะดาวรุ่งทั่วทุกมุมโลก รวมไปถึงการดูแลวิทยาศาสตร์การกีฬาของทีม
แม็ตต์ จัสต์
แม็ตต์ จัสต์ (หัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กร)
นี่เปรียบดั่งเพื่อนคู่คิดของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด เลยก็ว่าได้เพราะชายคนนี้คือผู้ที่ทำหน้าที่เดินหน้าเจรจาเรื่องการซื้อ-ขาย นักเตะหรือการเจรจาต่อสัญญานักเตะภายในสโมสร นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา นอกจากนี้ จัสต์ ยังทำงานร่วมกับ มาร์เซล โบลท์ และ มิค คอร์ด ในการสรรหาทีมงานแมวมองของสโมสรซึ่งมีมากถึง 52 คน ก่อนที่โอเล่ กุนนาร์ โซลชา จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานของทีมในปัจจุบัน
อลัน ดอว์สัน
อลัน ดอว์สัน (ผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินงานด้านฟุตบอล)
ดอว์สัน สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เข้ารับตำแหน่งในปี 2012 แม้จะไม่ค่อยถูกพูดถึงตามนห้าสื่อเท่าไหร่ แต่ชายคนนี้คอยดูแลตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในสโมสร
คริส เชียง
คริส เชียง (ผู้บริหารด้านกลยุทธ์)
เชียง ทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบัญชีอย่าง KPMG ยาวนานถึง 5 ปี ก่อนมาร่วมกับ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2017 และกลายเป็นบุคคลสำคัญของสโมสรดูแล การวิเคราะห์ข้อมูล วัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ประกอบ ในส่วนต่างๆของทีมให้ดีที่สุด
- ผู้จัดการทีมและโค้ช
โอเล่ กุนนาร์ โซลชา
โอเล่ กุนนาร์ โซลชา (ผู้จัดการทีม)
“น้าโอเล่” เข้ารับตำแหน่งช่วงกลางฤดูกาล 2018-19 แทนที่ โจเซ่ มูรินโญ่ ที่โดนปลดออกไป โดยช่วงแรกทำหน้าที่กุนซือชั่วคราว แต่จากผลงานที่ดีต่อเนื่องในช่วงนั้นทำให้ โซลชา ได้รับสัญญาถาวรและคอยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของทีม ขุมกำลังนักเตะ ทีมงานสตาฟฟ์ รวมถึงแนวทางการเล่นของทีมทุกๆชุดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ไมค์ ฟีแลน
ไมค์ ฟีแลน (ผู้ช่วยผู้จัดการทีม)
ฟีแลน เป็นนักเตะในยุคเริ่มต้นของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และอยู่ในทีมของ “ป๋าเฟอร์กี้”ที่คว้าแชมป์แรกของการคุมทีมนั่นคือ เอฟเอคัพ ปี 1990 ตามด้วย พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1993 เจ้าตัวได้ขึ้นเป็นมือขวาของตำนานกุนซือชาวสกอตต์มาตั้งแต่ปี 2008
ถึง 2013 จากนั้นก็ออกไปหาความท้าทายด้วยการคุมทีมอย่าง นอริช ซิตี้ , ฮัลล์ ซิตี้ ต่อด้วยการเป็นผู้อำนวยการของเซนทรัล โครสต์ มารินอส และเป็น โซลชา ที่ดึงกลับมาร่วมงานในถิ่น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด อีกครั้งนี่คือผู้ที่เข้าใจวิถีขนบธรรมเนียมของ
ยูไนเต็ด อย่างถ่องแท้ ฟีแลน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในโปรเจ็คต์การ Rebuild ทำงานร่วมกับโซลชาในการสร้างแมนยูไนเต็ด ยุคใหม่
มาร์ติน เพิร์ธ
มาร์ติน เพิร์ธ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาสภาพร่างกายและความแข็งแกร่ง)
 
เพิร์ธ เคยทำงานกับสโมสรแวนคูเวอร์ ไวท์แคป ทีมในศึกเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ถูกดึงมาทำงานในปี 2019 เพื่อแก้ไขเรื่องอาการบาดเจ็บของผู้เล่น รวมทั้งดูแลการฟื้นฟูนักเตะที่ได้รับบาดเจ็บให้พร้อมกลับมาลงสนามได้เร็วขึ้น
ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์
ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ (โค้ชทีมชุดใหญ่)
สมัยเป็นนักเตะ เฟล็ทเชอร์ ก้าวขึ้นมาในทีมชุดใหญ่ฤดูกาล 1999-2000 จุดเด่นของกองกลางรายนี้คือ ความขยันและมุ่งมั่น เขาไม่ได้มีฝีเท้าที่น่าจับตามอง แต่สามารถทำตามคำสั่งของผู้จัดการทีมได้ดี หากจะเทียบกับนักเตะในทีมชุดปัจจุบันก็คือ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ เฟล็ทเชอร์ ขยับขยายจากการคุมทีมชุด ยู16 ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่โดยคนที่ลงไปทำหน้าที่โค้ชแทนคือ มาร์ค เดมป์ซี่ย์ ด้วยประสบการณ์ในรั้วโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ตั้งแต่ชุดเยาวชน อยู่ในทีมช่วงที่กวาดความสำเร็จต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายการค้าแข้ง ประสบการณ์เหล่านี้ เฟล็ทเชอร์ มีหน้าที่ถ่ายทอดมันให้กับแข้งชุดปัจจุบัน
ไมเคิล คาร์ริค
ไมเคิล คาร์ริค (โค้ชทีมชุดใหญ่)
ในปี 2005 คาร์ริค โดนดึงตัวมาจาก สเปอร์ส เพื่อเข้ามาทดแทนการหายไปของ รอย คีน ซึ่งสไตล์การเล่นของ คาร์ริค นั้นเป็นฟุตบอลสมัยใหม่ที่เน้นการคุมจังหวะและออกบอลจากแนวลึก เขาโดดเด่นในเรื่องการคุมพื้นที่ , ความคิดสร้างสรรค์ , วิสัยทัศน์ ,
การสร้างเกม และกลายเป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ที่ทีมขาดไปไม่ได้ คาร์ริค ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะนักเตะของปีศาจแดง คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีก 1 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย บทบาทหลักๆของคาร์ริค คือการคุมซ้อมนักเตะภายในทีม ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในการ Coaching ของ คาร์ริค นั่นคือพัฒนาการของ เฟร็ด ที่ตอนแรกดูเหมือนจะหมดอนาคตกับทีม กลับกลายเป็นหนึ่งในคนสำคัญของทีมชุดนี้ไปแล้ว
คีแรน แม็คเคนน่า
คีแรน แม็คเคนน่า (โค้ชทีมชุดใหญ่)
ชื่อเสียงที่โด่งดังกับการคุมทีมชุดเยาวชนของสเปอร์ส ทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ไปดึงตัวเขามาเป็นกุนซือทีมรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี อังเคล โกเมส และ ทาฮิธ ชอง คือนักเตะที่ แม็คเคนน่า ปลุกปั้นขึ้นมาตั้งแต่ชุดเยาวชนจนตอนนี้ทั้งคู่ออกไปมีเส้นทางเป็นของตัวเอง โดยหลังจาก โจเซ่ มูรินโญ่ ต้องเสีย รุย ฟาเรีย มือขวาคู่ใจก็ทำการดึง แม็คเคนน่า ขึ้นมาเป็นหนึ่งทีมโค้ชของตน พอผลัดเปลี่ยนมาเป็นยุค โซลชา เขาก็ไว้วางใจให้โค้ชรายนี้ทำงานต่อไป ทำหน้าที่ให้ดูแลทีมชุดใหญ่อย่างใกล้ชิด คอยดูแลการซ้อมทุกวัน และคอยป้อนข้อมูลสถิติที่สำคัญให้กับ โซลชา
นิคกี้ บัตต์
นิคกี้ บัตต์ (หัวหน้าฝ่ายพัฒนานักเตะขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่)
หนึ่งในผู้เล่นชุด คลาสออฟ 92 ลงเล่นไปทั้งหมด 398 เกม เมื่อแขวนสตั๊ดจึงกลับมาทำงานให้สโมสรที่ปลุกปั้นเขาอีกครั้งเขาฝึกสอนในระดับเยาวชน ยู23 ของยูไนเต็ดมาตั้งแต่ปี 2016 และค่อยๆ ปั้นนักเตะอย่าง เมสัน กรีนวู้ด ,แบรนดอน วิลเลี่ยมส์ และสก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่
ริชาร์ด ฮาร์ติช
ริชาร์ด ฮาร์ติช (หัวหน้าโค้ชผู้รักษาประตู)
เริ่มแรก ฮาร์ติช เป็นหัวหน้าโค้ชผู้รักษาประตูของทีมชุดเยาวชนตั้งแต่ปี 2000-2010 จากนั้นก็ติดตามร่วมงานกับ โซลชา มาโดยตลอดทั้งที่ คาร์ดิฟฟ์ และโมลด์ ก่อนติดสอยห้อยตามกันมาอีกครั้งเมื่อ โซลชา เข้ารับตำแหน่งกุนซือปีศาจแดงถาวร
เคร็ก มอร์สัน
เคร็ก มอร์สัน (โค้ชผู้รักษาประตู)
มอว์สัน เริ่มต้นงานโค้ชจากเบิร์นลี่ย์ ชุดยู18 เมื่อปี 2010 ก่อนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าโค้ชผู้รักษาประตูเป็นครั้งแรกที่เบิร์นลี่ย์ จากนั้นเข้ารับงานที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ในปี 2019
อลัน เเฟ็คทิซ
อลัน แฟ็ตทิซ (โค้ชผู้รักษาประตู)
อดีตนักเตะทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ ร่วมงานกับสโมสรเพื่อทำงานในทีมชุดเยาวชน ยู23 ในปี 2011 จากนั้นเมื่อ เอมิเลียโน่ อัลบาเรซ โค้ชประตูทีมชุดใหญ่ย้ายออกไป ก็เป็ฯเจ้าตัวที่ได้รับโอกาสขึ้นทำงานร่วมกับทีมชุดใหญ่
- ทีมงานที่ดูแลด้านประสิทธิภาพ
ริชาร์ด ฮอว์กินส์
ริชาร์ด ฮอว์กินส์ (หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและพัฒนานักกีฬา)
ฮอว์กินส์ มีกรีเป็นถึงอดีตรองหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาของ FA ก่อนจะมาทำงานให้ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2008 โดยเขากลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งเมื่อ โซลชา เข้ามาคุมทีม เพราะ ฮอว์กินส์ คือผู้อยู่เบื้องหลังคอยวิเคราะห์การพัฒนาทางกายภาพของนักเตะ
เอ็ด แล็ง
เอ็ด แลง (หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา)
บทบาทหลักของเขาคือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาร่างกายนักเตะ โดย แลง เคยอธิบายว่า
“เราต้องค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาประกอบว่านักเตะในทีมมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไรบ้าง จากนั้นก็จะสร้างโปรแกรมฝึกซ้อมขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะนั้นของพวกเขา”
“เป้าหมายของเรานั่นคือพัฒนาให้นักเตะก้าวขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น เราต้องทำงานตลอดเวลา ผมคอยรับฟังสิ่งที่พวกเขาบอกในแต่ละวันว่าเช้านี้รู้สึกอย่างไรบ้างและ พวกเขาก็สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้เช่นกันหากอยากได้อะไรเพิ่มเติม”
ไมเคิล เคร็ก
- ไมเคิล เคร็ก (โค้ชด้านความแข็งแกร่งและสภาพร่างกาย)
เขาเคยเป็นอดีตนักเตะฝึกหัดของปีศาจแดง และเดินตามรอยคุณพ่ออย่าง มิค เคล็กในการเป็นโค้ชให้สโมสร ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในปี 2019 ทำหน้าที่ออกแบบโปรแกรมเรียกความฟิตให้นักเตะรวมถึงส่งเสริมให้นักเตะมีสรีระที่เหมาะสมกับการเล่นมากขึ้น
ชาร์ลี โอเว่น
- ชาร์ลี โอเว่น (โค้ชฟิตเนส)
หลังจาก แกรี่ วอล์คเกอร์ กับ โรบิน โธร์ป โค้ชฟิตเนสคนเก่าลาออกจากตำแหน่งไป
เจ้าตัวได้เลื่อนตำแหน่งจากทีมอะคาเดมี่ที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2017 ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในปี 2019โดยทำหน้าที่รายงานผลสภาพร่างกาย หรือความฟิตของนักเตะให้กับ ริชาร์ด ฮอว์กินส์
- ทีมงานด้านแพทย์
ดร. สตีฟ แม็คนอลลี่
- ดร.สตีฟ แม็คนอลลี่ (หัวหน้าแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬา)
แม็คนอลลี่ ทำงานให้ทีมอะคาเดมี่ของ ลิเวอร์พูล ถึง 8 ปี ก่อนจะอยู่โยงทำงานให้ ยูไนเต็ด มานานตั้งแต่ปี 2006 โดยกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยออกมาชื่นชมการทำงานของ แม็คนอลลี่ ด้วย
โรบิน แซดเลอร์
- โรบิน แซดเลอร์ (หัวหน้าการฟื้นฟู และ กายภาพบำบัด)
แซดเลอร์ เคยทำงานให้ทีมชุดใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ยาวนานถึง 16 ปี ได้รับการแต่งตั้งในวันเดียวกันกับ ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ นี่คือบุคลากรที่เข้ามาใหม่ล่าสุดในปี 2021 ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่ต้องลงเตะถี่มาก จึงทำให้ทีมต้องหานักกายภาพบำบัด เข้ามาเพิ่มเพื่อทำให้นักเตะมีสภาพร่างกายที่สามารถลงเล่นได้ตลอดทั้งฤดูกาล
ริชาร์ด เมอร์รอน
- ริชาร์ด เมอร์รอน (หัวหน้าทีมแพทย์)
เมอร์รอน ขยับจากทีมอะคาเดมี่มาทำงานให้ปีศาจแดงมาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีทีมงานอย่าง จอห์นนี่ ไพค็อท กับ จอห์น เดวิน เป็นผู้ช่วย เราจะเห็นได้ผ่านโทรทัศน์เมื่อนักเตะได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการปฐมพยาบาล
แอนดรูว์ เมเรดิธ
- แอนดรูว์ เมเรดิธ (หัวหน้าฝ่ายข้อมูล)
เมเรดิธ ทำงานกับ ซังค์ เพาลี มานานถึง 6 ปี ก่อนมาร่วมงานกับ ยูไนเต็ดในปี 2019 เพื่อดูภาพรวมในการทำงานของทีมเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ ก่อนที่เขาจะคอยป้อนข้อมูลให้โค้ชทีมชุดใหญ่และนักเตะ ในขณะที่ผู้ทำการเก็บบันทึก ค้นหาข้อมูลคือ ลุค ลาแซนบี้ กับ ทอม กรีน โดยมีผู้ช่วย 2 คนอย่าง อดัม วาเบอร์ตันกับ ร็อบ เพจ
การสร้างทีมเพื่อไปสู่จุดสูงสุดนั้น ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันทุกด้าน ทั้งฝ่ายบริหาร ทีมงาน นักเตะ และที่สำคัญที่สุด ทุกคนต้องมีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อแชมป์ของแฟนๆทุกคน
หากคุณเป็นคนที่หลงใหล และคลั่งไคล้ แมนฯ ยูไนเต็ด เราคือ ครอบครัวเดียวกัน
#อ๋องแมนยูสู้ตาย
#แมนยูสู้ตาย #แมนยู #แมนยูไนเต็ด #Blockdit
โฆษณา