1 ก.พ. 2021 เวลา 09:35 • ไลฟ์สไตล์
6 ภาษากลิ่น
...ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณจะต้องการแบ่งปันความทรงจำของวันที่มีความสุข กับกลิ่นดอกมะลิ หอมละมุนที่ลอยมาตามสายลมในอากาศไปให้ใครสักคนหนึ่งได้รับรู้ ....
ภาษากลิ่น
คำพูดสามารถทำให้เกิดจินตนาการสร้างเป็นภาพให้ปรากฏขึ้นได้ดังอยู่ในเหตุการณ์ตรงหน้า บทกวีที่งดงามสามารถบรรยายให้เห็นเป็นภาพได้อย่างประทับใจแม้นกระทั้งเสียงของสายลมพัดและกลิ่นหอมละมุนของดอกไม้ที่ลอยโชยลมมา
“สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวายวางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่่าเช้า หยุดได้ฉันใดฯ”
(วรรณคดี : ลิลิตตะเลงพ่าย
พระนิพนธ์: สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อ 200ปีมาแล้ว)
“ ไม้แก้วกลิ่นแก้วกราย หอมบ่วายวังเวงใจ
ทุกข์ลืมปลื้มอาลัย ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียกหา ”
(วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง "นิราศพระบาท"
พระนิพนธ์ :เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)เมื่อ300ปีก่อน)
หากมีคำอธิบายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างจินตนาการให้กับการรับรู้กลิ่นและเข้าใจในเรื่องกลิ่นมากขึ้นเท่านั้นนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคำอธิบายสำหรับกลิ่น
สาเหตุที่การอธิบายความในเรื่องของกลิ่นเป็นเรื่องยากทั้งการใช้คำพูดบรรยายและใช้ภาษาเขียนนั้นในทางวิทยาศาสตร์บอกว่าก็เพราะสมองส่วนที่รับรู้และจดจำกลิ่นกับสมองส่วนที่มีหน้าที่ด้านภาษาเป็นสมองคนละซีกกัน การทำงานต่างกันนั่นจึงทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงกันยาก
อย่างบางทีถ้าจะให้ใครซักคนอธิบายถึงลักษณะกลิ่นของกล้วยหอมให้ฟังก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากไปได้ที่จะอธิบายได้ทั้งๆที่กล้วยก็เป็นผลไม้ที่พบเจอได้ตามปกติ
การใช้คำว่าหอมซ้ำๆกันโดยไม่ได้สื่อความหมายอะไรที่แตกต่างหรือเจาะจงลงไปนั้นไม่สามารถสร้างการสื่อสารที่ดีขึ้นได้ ต้องใช้คำบรรยายลักษณะ บรรยายสรรพคุณอีกมากมาย และคงจะยากมากๆถ้าเราไม่ใช่นักเขียน นักภาษาที่ฝึกฝนการใช้ภาษามา ดังนั้นในบทความนี้จะแนะนำเทคนิคเบื้องต้นที่จะช่วยให้การอธิบายความเกี่ยวกับกลิ่นให้ทำง่ายขึ้น
วงล้อกลิ่น ใช้จัดแบ่งกลุ่มของกลิ่นเป็น4กลุ่มหลัก ( รูปภาพscentbird.com )
ดังนั้นหากจะหาถ้อยคำมาอธิบายกลิ่น ก็จะต้อง จัดแบ่งหมวดของกลิ่นเสียก่อนโดยการแยกชนิดหรือแยกประเภทของกลิ่นนั้นๆจะทำให้ช่วยการลำดับความคิดเกี่ยวกับการใช้คำบรรยายกลิ่นได้ง่ายขึ้น ประเภทของกลิ่นที่มีลักษณะกลิ่นที่ต่างกันจัดแบ่งออกเป็น4กลุ่มหลักๆดังนี้
1 กลิ่น ดอกไม้
2 กลิ่น เครื่องเทศ สมุนไพร
3 กลิ่น ไม้
4 กลิ่น สดชื่น
โดยในแต่ละกลุ่มนี้ก็จะลักษณะกลิ่นดังนี้
1 กลิ่นดอกไม้กลิ่นเป็นกลิ่นที่หอมหวานหอมเย็นๆหอมชื่นใจ ให้ความรู้สึก โรแมนติก ความรัก ความสุข ความสมหวัง ความอิ่มใจ
2 กลิ่นเครื่องเทศสมุนไพรมีกลิ่นฉุน กลิ่นซ่าๆให้ความรู้สึก ลึกลับ ตื่นเต้น ผจญภัย
3 กลิ่นไม้ กลิ่นเปลือกไม้สดไม้แห้งกลิ่นหนักแน่นมีน้ำหนักให้ความรู้สึกสงบ นิ่ง ความสมดุลย์ ความเป็นธรรมชาติ
4 กลิ่นสดชื่น กลิ่นส้ม กลิ่นมะนาว เช่น กลิ่นส้ม กลิ่นมะนาว ให้ความรู้สึก สดชื่น สดใหม่สดใส ร่าเริง
อาจมีบางคนสงสัยว่า ไม่มีกลิ่นผลไม้รวมอยู่ด้วยเพราะกลิ่นผลไม้ไปเป็นกลุ่มที่แยกออกไปอีกโดยเป็นกลิ่นที่คาบเกี่ยวกันกลิ่นดอกไม้กับกลิ่นสดชื่น โดยกลิ่นสดชื่นจะมีผลไม้ตระกูลส้มและมะนาวอยู่เป็นกลิ่นหลักเพราะกลิ่นของส้มให้ความรู้สึกสดชื่นสดใส ส่วนในกลุ่มของดอกไม้ก็จะกว้างไปถึงกลิ่นผลไม้สุกที่หอมหวานได้ด้วย
โดยแต่ละกลิ่นนั้นก็จะมีความแตกต่างกันที่ระดับความเข้มของกลิ่น จาง อ่อน เข้ม แตกต่างกันไป ในส่วนเรื่องของความรู้สึกที่ได้จากการดมกลิ่นนั้นการตีความส่วนใหญ่ได้รับการพิสูจน์จากการทดลองที่ได้ผลตรงกันและมีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าเช่นกลิ่นจำพวกกลิ่นมะนาว ส้ม สามารถช่วยลดปริมาณสารเคมีที่หลั่งออกมาเมื่อตอนที่รู้สึกเครียดได้
ส่วนความชอบหรือไม่ชอบในกลิ่นบางกลิ่นของแต่ละคนก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันไปกลิ่นที่เราชอบคนอื่นอาจจะไม่ชอบมีเยอะไป
เมื่อรู้จักลักษณะกลิ่นแล้วก็จะนำไปสู้การสร้างประโยคเพื่ออธิบายความหมายเกี่ยวกับกลิ่นโดยใช้คำถามตามตัวอย่างนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างเป็นประโยคที่จะสามารถอธิบายอย่างเจาะจงได้มากขึ้น เพื่อสื่อความหมายถึงกลิ่นๆนั้นให้ได้ละเอียดขึ้น ผู้ฟังได้เกิดจินตนาการถึงได้ และเป็นการอธิบายที่มีหลักเกณท์ ไม่ใช้การอธิบายไปเรื่อยๆตามใจฉันเอาหละลองมาดูกันเลย
1 คำถามถึงต้นกำเนิดอะไรที่ทำให้เกิดกลิ่นเช่น ดอกมะลิ ตะไคร้ หมูย่าง
2 คำถามเพื่อเปรียบเทียบเทียบเคียงเช่น ดอกไม้หอม สมุนไพร กลิ่นควัน
3 คำถามว่ากลิ่นนั้นเป็นอย่างไร เช่น กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน กลิ่นซ่าๆ กลิ่นกระอักกระอ่วน
4 คำถามว่ากลิ่นนั้นมีปริมาณเท่าไร กลิ่นแรง กลิ่นอ่อน กลิ่นจางๆ กลิ่นตลบอบอวล
5 คำถามว่ากลิ่นนั้นทำให้รู้สึกอย่างไร เช่น สดชื่น สงบ ตื่นตัว ง่วง เคลิบเคลิ้ม หิว
ตัวอย่าง การบรรยายกลิ่น
โจทย์คือ กลิ่นดอกมะลิ
คำถามเกี่ยวกับกลิ่นถึงสิ่งที่ทำให้เกิดกลิ่น
ตอบ กลิ่น ดอกมะลิ
คำถาม ว่ามีกลิ่นคล้ายอะไร
ตอบ กลิ่น ดอกไม้หอม
คำถามว่ากลิ่นนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร
ตอบ มีกลิ่นหอมหวาน อ่อนๆ
คำถามว่าให้รู้สึกอย่างไร
ตอบ อ่อนโยน นุ่มนวล
เมื่อนำคำตอบมารวมกันเป็นประโยคจะได้ว่า
"... กลิ่นจากดอกมะลิเป็นกลิ่นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหวานอ่อนๆให้ความรู้สึกอ่อนโยนนุ่มนวล ..."
ตัวอย่างที่สอง การอธิบาย กลิ่น มะนาว
คำถามเกี่ยวกับกลิ่นถึงสิ่งที่ทำให้เกิดกลิ่น
ตอบ กลิ่น มะนาว
คำถามว่ามีกลิ่นคล้ายอะไร
ตอบ กลิ่น ผลไม้เปรี้ยว
คำถามว่ากลิ่นนั้นเป็นอย่างไร
ตอบ มีกลิ่น เปรี้ยว กลิ่นสด กลิ่นพืชเขียวๆ
คำถามว่ากลิ่นนั้น ทำให้รู้สึกอย่างไร
ตอบ สดชื่น กระปี้กระเป่า
เมื่อนำคำตอบ มารวมกันเป็นประโยคจะได้ว่า
"... กลิ่นมะนาวผลไม้เปรี้ยวที่มีกลิ่นเปรี้ยวกลิ่นสด กลิ่นพืชเขียวๆให้ความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเป๋า ..."
ตัวอย่างที่สาม การอธิบาย กลิ่น ตะไคร้
คำถามเกี่ยวกับกลิ่นถึงสิ่งที่ทำให้เกิดกลิ่น
ตอบ กลิ่น ตระไคร้
คำถามว่ามีกลิ่นคล้ายอะไร
ตอบ คล้ายกลิ่นมะนาว และกลิ่นมิ้นท์
คำถามว่ามีลักษณะกลิ่นเป็นอย่างไร
ตอบ เปรี้ยวอ่อน มิ้นท์ซ่าๆ หวานนิดๆ
คำถามว่ากลิ่นนั้น ทำให้รู้สึกอย่างไร
ตอบ หอม สดชื่น เป็นธรรมชาติ
เมื่อนำมาคำตอบ รวมกันเป็นประโยคจะได้ว่า
"... กลิ่นตะไคร้มีกลิ่นคล้ายมะนาวและมิ้นท์เปรี้ยวอ่อนซ่านิดๆให้เขารู้สึกหอมสดชื่นเป็นธรรมชาติ..."
ตัวอย่างที่ สี่ กลิ่นฝนตก
คำถามเกี่ยวกับกลิ่นถึงสิ่งที่ทำให้เกิดกลิ่น
ตอบ กลิ่น ฝนตก
คำถามว่ามีกลิ่นคล้ายอะไร
ตอบ คล้าย กลิ่น ดิน ใบไม้ น้ำ
คำถามว่ามีลักษณะกลิ่นเป็นอย่างไร
ตอบ กลิ่นอ่อนๆ
คำถามว่ากลิ่นนั้น ทำให้รู้สึกอย่างไร
ตอบ เย็นสบาย สดชื่น เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
เมื่อนำคำตอบ มารวมกันเป็นประโยคจะได้ว่า
"...กลิ่นฝนตกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นดินใบไม้มีกลิ่นอ่อนๆ
ให้ความเย็นสบายสดชื่นรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ..."
จากตัวอย่างที่เห็นแล้วนี้เรายังสามารถใช้คำคุณศัพท์อื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมได้ตามความสามารถทางภาษาของแต่ละคนที่จะสรรหาคำที่ไพเราะสละสลวยเพื่อมาอธิบายให้ได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ลองทำความเข้าใจกับหลักเกณท์เบื้องต้น4ข้อที่แยกลักษณะกลิ่นสำหรับการอธิบายและลองฝึกสร้างประโยคด้วยตนเองกับกลิ่นอื่นๆ ต่อไปก็จะทำให้คุณชำนาญขึ้น และอย่าลืมว่า “มนุษย์เรารับรู้กลิ่นได้ด้วยการจำ” ดังที่บอกไว้ในบทความตอนที่5
โฆษณา