2 ก.พ. 2021 เวลา 12:36 • การเมือง
เดือนนี้ในอดีต: 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เกิดความพยายามทำรัฐประหารที่สเปน "แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรอง" การรัฐประหารจึงล้มเหลว ผู้ก่อการถูกตัดสินจำคุก 30 ปี
 
เดิมทีนั้นสเปนในช่วง พ.ศ. 2482 - 2518 ไม่มีพระมหากษัตริย์ (ถูกล้มล้างไปใน พ.ศ. 2474) แต่ก็ไม่มีประชาธิปไตย โดยปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เป็นผู้นำ
 
ในช่วงปลายของการครองอำนาจ นายพลฟรังโกได้ประกาศให้มีการฟื้นฟูราชวงศ์อีกครั้งหลังจากที่ตนเสียชีวิต โดยได้ตั้งทายาทสายตรงพระองค์หนึ่งของอดีตพระมหากษัตริย์ที่เคยปกครองสเปนขึ้นเป็นเจ้าชาย และกำหนดให้ขึ้นครองราชสมบัติสเปนต่อทันทีหลังจากการเสียชีวิตของตนเอง โดยให้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเต็มที่ เช่นเดียวกับตน
 
เจ้าชายพระองค์นั้นคือ "ฆวน การ์ลอส เด บูร์บง" (Juan Carlos de Borbón)
 
นายพลฟรังโกแต่งตั้งฆวน การ์ลอสเป็นเจ้าชายใน พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นนายพลฟรังโกพยายามปั้นให้เจ้าชายพระองค์นี้ "พร้อม" ขึ้น "ปกครอง" ประเทศ นายพลจะไปไหนหรือทำอะไร เจ้าชายจะเสด็จไปด้วย และทรง "เรียนรู้งาน" อย่างใกล้ชิด นายพลฟรังโก จึงเชื่ออย่างสนิทใจว่า เจ้าชายพระองค์นี้จะทรงสืบทอดระบอบการปกครองของเขาต่อไป
 
เมื่อนายพลฟรังโกเสียชีวิตในปลายปี พ.ศ. 2518 เจ้าชายทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็น "สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1" (Juan Carlos I) ในพระชนมพรรษา 37 พรรษา เป็นทายาททางการเมืองที่รับมอบอำนาจล้นฟ้ามาจากนายพลฟรังโก แต่แล้วกษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ทรงทำเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือ ทรงเปลี่ยนประเทศสเปนให้เป็นประชาธิปไตย
 
พ.ศ. 2519 ทรงบีบให้คงคาพยพเดิมของนายพลฟรังโกออกจากตำแหน่งไปทีละคน รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย และแต่งตั้งนายอดอลโฟ ซัวเรซ (Adolfo Suárez) ผู้ซึ่งมีแนวคิดหัวก้าวหน้า ปฏิรูป และเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
นายซัวเรซออกกฎหมายที่ทุบทิ้งระบอบเผด็จการอย่างรวดเร็ว รับรองสถานะทางกฎหมายให้ทุกพรรคการเมืองหลังจากถูกปราบปรามจากนายพลฟรังโกมานานเกือบ 40 ปี, อนุญาตให้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองได้, ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง ฯลฯ
 
พ.ศ. 2520 นายซัวเรซจัดให้มีการเลือกตั้ง "สภาเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
พ.ศ. 2521 การร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ นายซัวเรซจัดให้มีการลงประชามติอีกครั้ง (ถึงแม้ว่าสภาร่างฯ จะมาจากการเลือกตั้งอยู่แล้วก็ตาม) ผลการลงประชามติคือ "เห็นชอบอย่างท่วมท้น" ด้วยคะแนน 91.81% รัฐธรรมนูญฉบับ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จึงประกาศใช้ นับเป็นการสิ้นสุดระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเป็นทางการ
 
พ.ศ. 2522 สเปนได้จัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ได้รัฐบาล, รัฐสภาชุดแรกขึ้นปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ชนะก็คือพรรคของนายซัวเรซ เขาจึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีวาระ 4 ปี
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ภาวะการบริหารประเทศอย่างเต็มตัว สเปนภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดแรกนี้ประสบภาวะยากลำบากหลายประการ อัตราการว่างงานพุ่งสูง, เงินเฟ้อ, กลุ่มแบ่งแยกดินแดน, การก่อการร้าย และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยนี้จัดการได้ไม่ดีนัก
 
พ.ศ. 2524 นายซัวเรซลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ยุบสภา ทำให้รัฐสภา เลือก นายลีโอโปลโด กัลโบโซเตโล (Leopoldo Calvo-Sotelo) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสำหรับเวลาอีก 2 ปีที่เหลือของรัฐสภาชุดนี้
 
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ในขณะที่นายกัลโบโซเตโล กำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อเตรียมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น พันโทอันโตนิโอ เตเฆโร (Antonio Tejero) ได้นำกองกำลังทหารที่อยู่ภายใต้การกำกับของตน เข้ายึดอาคารรัฐสภา ประกาศการทำรัฐประหารและจับตัวสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีเป็นตัวประกัน
 
หมายเหตุ: พันโทเตเฆโร มิใช่ผู้บัญชาการทหารบก เรือ หรืออากาศ การก่อการของพันโทนายนี้จึงเป็นการก่อการโดยใช้กองกำลังที่ตนเองควบคุมอยู่ โดยไม่เกี่ยวกับกองกำลังส่วนอื่น การก่อการครั้งนี้มีกองกำลังที่เข้าร่วมก่อการสองส่วน คือ
1.กองกำลังพิทักษ์พลเรือน นำโดยพันโทอันโตนิโอ เตเฆโร ที่เข้ายึดอาคารรัฐสภา
2.กองทัพภาคที่สาม นำโดยพลโท Jaime Milans del Bosch ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตเมืองวาเลนเซีย
ปล. ดูคลิปเหตุการณ์ได้ที่
กองกำลังดังกล่าว ออกแถลงการณ์ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ ภายใต้การสนับสนุนของสมเด็จพระราชาธิบดีฯ โดยเชื่อว่าสมเด็จพระราชาธิบดีฯ จะทรงเห็นชอบ และลงประปรมาภิไธยให้กองกำลังดังกล่าวเข้ามาบริหารประเทศ (แต่ความจริงแล้ว คณะผู้ก่อการยังไม่ได้นำความกราบทูลสมเด็จพระราชาธิบดีฯ)
 
แต่แล้วในเวลา 1 นาฬิกา 14 นาที ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพสเปน (Capitán General de los Ejércitos) ตรัสออกโทรทัศน์ มีความว่า
 
"Al dirigirme a todos los españoles, con brevedad y concisión, en las circunstancias extraordinarias que en estos momentos estamos viviendo, pido a todos la mayor serenidad y confianza y les hago saber que he cursado a los capitanes generales de las regiones militares, zonas marítimas y regiones aéreas la orden siguiente:
 
«Ante la situación creada por los sucesos desarrollados en el Palacio del Congreso y para evitar cualquier posible confusión, confirmo que he ordenado a las Autoridades civiles y a la Junta de Jefes de Estado Mayor que tomen todas las medidas necesarias para mantener el orden constitucional dentro de la legalidad vigente.
 
»Cualquier medida de carácter militar que, en su caso, hubiera de tomarse deberá contar con la aprobación de la Junta de Jefes de Estado Mayor.»
 
La Corona, símbolo de la permanencia y unidad de la patria, no puede tolerar en forma alguna acciones o actitudes de personas que pretendan interrumpir por la fuerza el proceso democrático que la Constitución votada por el pueblo español determinó en su día a través de referéndum."
 
คำแปลของพระราชดำรัส สามารถดูได้จากคลิปด้านล่าง โดยคลิปนี้ เป็นคลิปที่นำจากต้นฉบับมาใส่ Subtitle เอง ต้นฉบับคลิป ตามแนบด้านล่างครับ เนื้อความโดยรวม คือการปฏิเสธรัฐประหารอย่างไม่ใยดี
 
เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย การรัฐประหารจึงไม่มีผลทางกฎหมาย คณะผู้ก่อการยอมแพ้และถูกจับกุมในเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พันโทเตเฆโรถูกตัดสินจำคุก 30 ปี (ติดจริง 15 ปี ปัจจุบันถูกปล่อยตัวแล้ว)
 
สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูงภายหลังเหตุการณ์ และหลังจากนั้นก็ไม่เกิดเหตุรัฐประหารขึ้นในสเปนอีกเลย
ในเวลาต่อมา พ.ศ. 2557 สเปนได้นำชื่อของนายอดอลโฟ ซัวเรซ ไปตั้งชื่อเป็นท่าอากาศยานในกรุงมาดริด โดยได้ใช้ชื่อเต็มว่า "ท่าอากาศยานอดอลโฟ ซัสเรซ มาดริด บาราฆัส" (Adolfo Suárez Madrid–Barajas Airport)
 
สำหรับปัญหาต่างๆ ของชาติ (วิกฤติเศรษฐกิจ, ผู้ก่อการร้าย, กลุ่มแบ่งแยกดินแดน, ฯลฯ) ก็ยังคงดำรงต่อมาอีกนาน บางปัญหา ถึงปัจจุบันก็ยังแก้ได้ไม่จบ 100% ระบอบประชาธิปไตยนั้น เมื่ออำนาจของรัฐฯ ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ของชาติล่าช้าไปบ้าง มิใช่ยาวิเศษที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ในพริบตา
 
แต่เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรง "กรุยทาง" ไว้ให้ ทำให้เกิดการ "ให้เวลา" ให้ระบอบประชาธิปไตยได้ทำงาน ระบอบประชาธิปไตยจึงค่อยๆ ผลิดอกออกผลมาเรื่อยๆ อย่างมั่นคงในราชอาณาจักรสเปน (ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม) ราชอาณาจักรสเปนกลายเป็นประเทศซึ่งมีประชาธิปไตยตั้งมั่น จะพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตราบปัจจุบัน
หลายประเทศในยุโรปซึ่งเป็นระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จในเวลานั้น แม้บางประเทศจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคที่ผู้นำมีความสามารถสูง แต่ถดถอยและสูญสิ้นทุกสิ่งที่เคยมีเมื่ออำนาจผลัดเปลี่ยนไปยังผู้นำซึ่งมีความสามารถไม่เทียบเท่า (เสมือนหนึ่งกระต่ายกับเต่า)
 
อย่างไรก็ดี ความนิยมในสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ในช่วงหลังนี้ไม่ค่อยดีนัก มีกระแสไม่พอใจดังขึ้น ปัจจุบันสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1 ทรงสละราชสมบัติ และเสด็จไปประทับนอกราชอาณาจักรสเปน เกิดอะไรขึ้นกับพระองค์นั้น หากมีโอกาสจะนำมาเรียนให้ทราบอีกครั้งครับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา