3 ก.พ. 2021 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมโลกดึกดำบรรพ์จึงน่าหลงใหล
(เรียบเรียง โดย ปรมัตถ์ ธรรมปรีชาไว)
ย้อนเวลาไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เด็กน้อยคนหนึ่งนั่งจ้องสัตว์นานาชนิดที่เคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตจริง ในสารคดีไดโนเสาร์จาก BBC ที่สมจริงที่สุดในช่วงเวลานั้น ชื่อ “Walking with Dinosaurs” ขณะเดียวกันพ่อของเด็กคนนั้นก็ซื้อหนังสือไดโนเสาร์และอ่านให้เด็กน้อยฟังบ่อยๆ ภาพของไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ทั้งหลายเป็นความประทับใจของเด็กน้อยคนนั้นเรื่อยมา
3
เด็กน้อยคนนั้นคือผม ผู้เขียนบทความนี้ที่จะชวนท่านผู้อ่านมาสัมผัสถึงความน่าสนใจของโลกดึกดำบรรพ์ที่ตราตรึงใจคนทั่วโลกและการศึกษาชีวิตของพวกมันมีความหมายอะไรกับคนธรรมดาอย่างเราๆ บ้าง
สิ่งแรกที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกับผมก็คือพวกมันเคยอยู่บนโลกนี้มาก่อนเรา และไม่มีสิ่งมีชีวิตใดในปัจจุบันนี้เหมือนกับพวกมันอีกแล้ว
โลกของเราเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่มีในตอนนี้ทำให้เราทราบว่าสิ่งมีชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลกเมื่อ 3.5 พันล้านปีมาแล้ว ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานและสภาพแวดล้อมที่หลากหลายบนโลก ก่อให้เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมาทุกยุคทุกสมัย
1
ไม่ว่าจะเป็นปลาหุ้มเกราะขนาดยาว 8 เมตร หนัก 4 ตัน ที่เป็นผู้ล่าระดับบนสุดในทะเลเมื่อ 380 ล้านปีก่อนสัตว์เลื้อยคลานคล้ายกิ้งก่า แต่มีขาหลังยาวพร้อมพังผืดไว้ร่อนในอากาศเมื่อ 225 ล้านปีก่อน ไดโนเสาร์กินพืชความยาวกว่า 30 เมตรและอาจหนักถึง 50 ตันอย่าง พาทาโกไททัน(Patagotitan) ช้างโบราณที่วิวัฒนาการฟันล่างให้ยาวเหมือนจอบเมื่อ 9 ล้านปีก่อนนอกจากนี้
โครงกระดูกของ Patagotitan ที่ Field Museum of Natural History สหรัฐอเมริกา ที่มา: วิกิพีเดีย
จะเห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ไม่ได้เกิดมามีรูปลักษณ์อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ แต่พวกมันวิวัฒนาการโดยผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติมาตลอดระยะเวลาหลายล้านปี การศึกษาเรื่องราวทางบรรพชีวินวิทยาทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มเปลี่ยนแปลงอย่างไร
1
ตัวอย่างสุดคลาสสิกที่ผมชอบที่สุดก็คือจากไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มหนึ่งวิวัฒนาการเป็นนก
น่าทึ่งที่ลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเด่นของนก เช่น การมีขนนก (feather) กระดูกที่กลวงและเบา จะงอยปาก (beak) หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการกกไข่เลี้ยงลูก ล้วนปรากฏในสายตระกูลของไดโนเสาร์ ก่อนที่กลุ่มของนกยุคใหม่จะเกิดขึ้นเสียอีก แต่มันเริ่มต้นได้อย่างไร เล่าย่อๆได้ว่า แรกเริ่มนั้นขนนก มีลักษณะเป็นเส้นเดี่ยวๆ ทำหน้าที่สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย ต่อมาขนนกมีความหลากหลายทั้งรูปร่างและสีสัน พวกไดโนเสาร์ที่มีขนก็ใช้ขนพวกนี้เพื่อการสื่อสาร รวมไปถึงการเกี้ยวพาราสี ต่อมาไดโนเสาร์คล้ายนกกลุ่มหนึ่งที่มีความคล่องแคล่วว่องไวเริ่มมีขนนกที่มีคุณสมบัติทางอากาศพลศาสตร์ สุดท้ายขนนกเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นกยุคแรกทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้นั่นเอง พอนึกตามกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็ชวนให้อัศจรรย์ใจยิ่งนัก
2
นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว หากมองให้กว้างและย้อนอดีตไปไกลกว่านั้นเราจะเห็นความเชื่อมโยงของสรรพชีวิต รยางค์คู่หน้า (ขาหน้า) ที่ดูแล้วต่างกันมาก เช่นแขนของคน ปีกค้างคาว ปีกนก ครีบโลมา ขาของยีราฟ ต่างก็มีแบบแปลนพื้นฐานของแขนขาที่ประกอบด้วยกระดูกหนึ่งชิ้น-สองชิ้น-ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมือนกันทั้งสิ้น เพราะพวกเราและสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิดมีบรรพบุรุษร่วมเป็นปลาโบราณกลุ่มหนึ่งที่ขึ้นมาบนบกเมื่อประมาณ 370 ล้านปีที่แล้ว
4
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านน่าจะเริ่มเห็นความน่าสนใจของโลกบรรพกาลแล้ว แต่ผมอยากให้ทุกท่านลองคิดว่า นักวิทยาศาสตร์รู้เรื่องในอดีตที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างไร ถ้าคิดเทียบกับการสืบประวัติครอบครัวของเรา แค่เกิน 3 ชั่วอายุคนขึ้นไปก็แทบไม่มีข้อมูลแล้ว ทำนองเดียวกันครับ การสืบเรื่องราวของธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่ยากมากก แต่โลกก็ไม่ได้ใจร้ายต่อความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เสียทีเดียว ธรรมชาติได้ทิ้งร่องรอยไว้ทั้งในรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตปัจจุบันและฟอสซิลและชั้นหินจากอดีต แต่กว่ามนุษย์เราจะเข้าใจและสั่งสมความรู้มากพอก็ใช้เวลานับร้อยปีที่จะตีความหลักฐานเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างต้นแบบแรก (Holotype) ของ Tyrannosaurus rex ณ Carnegie Museum of Natural History, Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ที่มา: วิกิพีเดีย
นอกจากนี้งานด้านบรรพชีวินวิทยาในยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากงานดั้งเดิมที่เป็นการขุดค้นและอนุรักษ์ฟอสซิล ยังมีงานที่เป็นการบูรณาการจากหลากหลายสาขา เช่น อาศัยความรู้ด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมศาสตร์จำลองรูปแบบการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิต เช่น ทดสอบการเดินและการวิ่งของไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) การผสานความรู้ฟิสิกส์เคมีและชีววิทยาร่วมกันในการศึกษาไอโซโทปเพื่ออนุมานสภาพแวดล้อมโบราณ ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ช่วยคาดเดาความฉลาดและประสาทสัมผัสของไดโนเสาร์ เป็นต้น
2
นอกจากนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้เราได้ข้อมูลใหม่ ๆ จากฟอสซิลชิ้นเดิมอยู่เรื่อยๆ ก็ยิ่งชวนให้คิดว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะเปิดเผยข้อมูลใหม่ ๆ ได้อีกมาก ไหนจะฟอสซิลที่ยังรอการค้นพบอีก ยิ่งพบมาก ยิ่งมีการวิจัยมากขึ้น ทำให้ความรู้ความเข้าใจในโลกบรรพกาลขยายกว้างขึ้น เหมือนจิ๊กซอว์ที่ยิ่งต่อก็ยิ่งมองเห็นภาพที่สมบูรณ์ชัดขึ้นเรื่อยๆ
2
ระหว่างทางที่ผมเรียนรู้เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตในโลกโบราณ
ผลพลอยได้อย่างแรกคือทักษะการอ่าน แน่นอนว่าถ้าเรามีเรื่องที่น่าสนใจสักเรื่องหนึ่ง เราก็จะพยายามหาความรู้เรื่องนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ การอ่านหนังสือไดโนเสาร์ค่อย ๆ สร้างทักษะการอ่านและเพิ่มคลังศัพท์ให้ผมโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่สองที่ผมได้คือภาษาอังกฤษ เมื่อความรู้ต้นทางเป็นภาษาอังกฤษ ผมก็ค่อย ๆ ขยับมาอ่านเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ ช่วงแรกที่เจอศัพท์ยากๆ ก็อาจจะต้องถามพ่อบ้าง หรือเปิดดิกชันนารีบ้าง แต่เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ก็คล่องมากขึ้น
1
หนังสือ PREHISTORIC จากสำนักพิมพ์ DK และ หนังสือ National Geographic โฉมหน้าใหม่ไดโนเสาร์ ฉบับพิเศษสุดเพื่อนักสะสม ที่มา:ปรมัตถ์ ธรรมปรีชาไว
นอกจากนี้ชื่อของสัตว์โบราณทั้งหลายเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่มีรากจากภาษากรีกหรือละติน ทำให้ผมซึมซับคำเหล่านี้ เมื่อมาเจอรากศัพท์เหล่านี้ในวิชาชีววิทยาก็รู้สึกคุ้นเคยขึ้นมาทันที อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ผมได้จากการศึกษาเรื่องของสัตว์โบราณคือมิตรภาพของคนที่ชอบและรักในสิ่งเดียวกัน ความรู้ทางบรรพชีวินวิทยาก็เหมือนกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์สาขาอื่นที่มีข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เสมอ การที่มีคนที่สนใจสิ่งเดียวกันย่อมก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผู้คนในวงการนี้เท่าที่ผมประสบมามีความใจกว้างและยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ถกกันบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และต่างก็ช่วยกันรันวงการบรรพชีวินวิทยาไทยให้ก้าวต่อไป
ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองหันกลับมาหาเพื่อนวัยเด็กอีกครั้ง โลกที่พวกมันที่เคยโลดแล่นมีแง่มุมให้ค้นหาอีกมากมายถึงแม้พวกมันจะไม่ใช่บรรพบุรุษสายตรงของเรา แต่พวกเราคือครอบครัวเดียวกันที่มาจากจุดเริ่มต้นเดียวกันเมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อน เป็นครอบครัวที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่ชื่อว่า “โลก” แห่งนี้ เพียงแต่อยู่คนละหน้าของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
โฆษณา