3 ก.พ. 2021 เวลา 02:38 • หนังสือ
การแปลสามก๊กเป็นภาษาอังกฤษ
สามก๊ก (三國演義 ซันกั๋วเหยี่ยนอี้ Sānguó Yǎnyì; ภาษาอังกฤษนิยมเรียกด้วยชื่อ "Romance of the Three Kingdoms") ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยนักวิชาการหลายท่าน การแปลครั้งแรกสุดเท่าที่มีการสืบหลักฐานมาได้คือในปี ค.ศ. 1907 โดยจอห์น จี. สตีล (John G. Steele) โดยเป็นการตัดตอนมาแปลเป็นตอนเดี่ยวๆ จัดจำหน่ายในประเทศจีนสำหรับให้นักเรียนใช้ศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนมิชชันนารีนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian missionary schools)
ในปี ค.ศ. 1925 ซี.คิว. พาร์กเกอร์ (Z. Q. Parker) ตีพิมพ์นิยายสามก๊กแปลเป็นภาษาอังกฤษ 4 ตอนที่เป็นเหตุการณ์ในศึกเซ็กเพ็ก (赤壁之戰 ชื่อปี้จือจ้าน Chìbì zhī zhàn) ส่วนในปี ค.ศ. 1981 หยางเซี่ยนอี้ (楊憲益 Yáng Xiànyì) และแกลดีส์ หยาง (Gladys Yang) สองสามีภรรยานักแปลวรรณกรรมจีนได้ตีพิมพ์นิยายสามก๊กแปลเป็นภาษาอังกฤษที่ตัดตอนมาเฉพาะตอนที่ 43 ถึงตอนที่ 50
การแปลนิยายสามก๊กเป็นภาษาอังกฤษที่ครบสมบูรณ์และซื่อตรงต่อต้นฉบับครั้งแรกสุดเป็นการแปลโดย ชาร์ลส์ เฮนรี่ บริวิตต์-เทย์เลอร์ (Charles Henry Brewitt-Taylor; ใน "ตำนานหนังสือสามก๊ก" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรียกด้วยชื่อ "มิสเตอร์บริเวตเตเลอ") ชาวอังกฤษผู้ทำงานในกรมศุลกากรทางทะเลประเทศจีนเป็นเวลาหลายปี สามก๊กฉบับแปลโดยบริวิตต์-เทย์เลอร์ตีพิมพ์เป็นหนังสือสองเล่มในปี ค.ศ. 1925 บริวิตต์-เทย์เลอร์แปลเรื่องสามก๊กได้ดี แต่หนังสือยังขาดส่วนผนวก เช่น แผนที่ หรือรายชื่อตัวละครที่จะช่วยให้นักอ่านชาวตะวันตกอ่านได้ง่าย ในปี ค.ศ. 1959 ได้มีการตีพิมพ์ซ้ำโดยได้เพิ่มแผนที่และบทนำที่เขียนโดย รอย แอนดรูว์ มิลเลอร์ (Roy Andrew Miller) เพื่อช่วยให้ผู้อ่านชาวต่างชาติอ่านได้ง่ายขึ้น
"Romance of The Three Kingdoms" สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดยชาร์ลส์ เฮนรี่ บริวิตต์-เทย์เลอร์ (หน้าปกเป็นฉบับที่ตีพิมพ์ล่าสุด ค.ศ. 2002)
ในปี ค.ศ. 1976 มอสส์ โรเบิร์ตส์ (Moss Roberts) ตีพิมพ์นิยายสามก๊กที่แปลเป็นภาษาอังกฤษฉบับย่อ ที่มีเนื้อเรื่องเพียงหนึ่งในสี่ของนิยายสามก๊กต้นฉบับ มีการเพิ่มแผนที่และภาพพิมพ์แกะไม้สี่สิบกว่าภาพจากนิยายสามก๊กฉบับภาษาจีนสามฉบับ สามก๊กฉบับย่อของโรเบิร์ตส์เป็นฉบับที่อ่านได้ง่าย เขียนขึ้นเพื่อใช้ในวิทยาลัยและสำหรับนักอ่านทั่วไป
"Three Kingdoms" สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดยมอสส์ โรเบิร์ตส์ ฉบับย่อ (หน้าปกเป็นฉบับที่ตีพิมพ์ล่าสุด ค.ศ. 2014)
ในปี ค.ศ. 1991 หลังสามก๊กฉบับย่อของมอสส์ โรเบิร์ตส์ตีพิมพ์มาแล้ว 15 ปี โรเบิร์ตส์ได้ตีพิมพ์สามก๊กที่แปลเป็นภาษาอังกฤษฉบับสมบูรณ์ โดยมีการเพิ่มบทส่งท้าย, แผนที่ 11 หน้า, รายชื่อตัวละคร ยศศักดิ์ คำศัพท์เฉพาะ และตำแหน่งราชการ, และหมายเหตุ 100 หน้าจากคำวิจารณ์ของเม่าจงกัง (毛宗崗 เหมาจงกัง Máo Zōnggāng) และจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการอื่น ๆ สามก๊กฉบับแปลสมบูรณ์ของโรเบิร์ตส์ยังคงเป็นฉบับที่ซื่อตรงต่อต้นฉบับ มีเนื้อหาถูกต้องและยังแปลได้เข้ากันกับรูปแบบความเป็นวรรณกรรมคลาสสิก ศาสตราจารย์ Yang Ye แห่งภาควิชาวรรณกรรมจีนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ (University of California, Riverside / UC Riverside) เขียนในหนังสือ "สารานุกรมการแปลวรรณกรรมเป็นภาษาอังกฤษ" (Encyclopedia of Literary Translation into English; ตีพิมพ์ ค.ศ. 1998) ว่าสามก๊กฉบับแปลของโรเบิร์ตส์นั้น "เข้ามาแทนที่ฉบับแปลของบริวิตต์-เทย์เลอร์ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าสามก๊กฉบับนี้จะเป็นสามก๊กฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์ที่สุดไปอีกหลายปี" ( "supersedes Brewitt-Taylor's translation and will no doubt remain the definitive English version for many years to come") สามก๊กฉบับแปลโดยโรเบิร์ตส์ตีพิมพ์ซ้ำในปี ค.ศ. 1995 โดยสำนักพิมพ์ฟอร์ริน แลงเกวจส์ เพรส ( Foreign Languages Press) โดยไม่มีรูปประกอบ
"Three Kingdoms" สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดยมอสส์ โรเบิร์ตส์ ฉบับแปลสมบูรณ์ (หน้าปกเป็นฉบับที่ตีพิมพ์ล่าสุด ค.ศ. 2004)
ในปี ค.ศ. 2014 สำนักพิมพ์ทัตเทิล (Tuttle) ตีพิมพ์นิยามสามก๊กฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษใหม่ล่าสุดเป็นหนังสือ 3 เล่ม แปลโดยอวี๋ซูเหม่ย (虞苏美 Yú Sūměi) และมีโรนัลด์ ซี. อิเวอร์สัน (Ronald C. Iverson) เป็นบรรณาธิการ จากคำนำโดยสำนักพิมพ์ สามก๊กฉบับแปลฉบับนี้เป็นฉบับสมบูรณ์ที่มี "การแปลอย่างเปี่ยมด้วยพลัง" ("dynamic translation") ตั้งใจจะให้เป็นฉบับที่อ่านง่ายมากกว่านิยายฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษในอดีต
"The Three Kingdoms" สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษที่แปลอวี๋ซูเหม่ย (หน้าปกเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 2014)
แปลและเรียบเรียงจากหน้าบทความ "Romance of the Three Kingdoms" (สามก๊ก) หัวข้อ "English translations" (การแปลเป็นภาษาอังกฤษ) บนเว็บไซต์วิกิพีเดีย (Wikipedia) ภาษาอังกฤษ
ที่มาภาพ:
โฆษณา