3 ก.พ. 2021 เวลา 08:16 • การเมือง
สาเหตุที่นำพากองทัพเข้ามาทำรัฐประหาร (The Causes of Military Coups)
ทำไมกองทัพจึงเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยการทำรัฐประหาร (ได้สำเร็จ) นักรัฐศาสตร์มีคำอธิบายในเรื่องนี้มานานแล้ว โดยแบ่งปัจจัยที่ผลักดันให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองผ่านการทำรัฐประหารออกเป็นสองปัจจัยใหญ่ๆ ได้แก่ ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และปัจจัยภายในกองทัพ ดังนี้
ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีส่วนสำคัญในการเชื้อเชิญให้กองทัพต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. ความอ่อนแอและไร้สามารถของรัฐบาลพลเรือน
สภาวการณ์ที่รัฐบาล (พลเรือน) ไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เศรษฐกิจตกต่ำ ความไร้ระเบียบของสังคม และความขัดแย้งระหว่างผู้คนจนถึงขั้นใช้ความรุนแรงต่อกัน นับเป็นสาเหตุประการต้นๆ มักจะเชื้อเชิญให้กองทัพเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เมื่อประเทศต้องเผชิญกับ
2. ความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อกองทัพ
ในประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยๆ มักพบว่า กองทัพสามารถดำรงสถานะความเป็นสถาบันที่เก่าแก่และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอย่างสูง (สูงยิ่งกว่าสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทั้งรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง)
3. แรงสนับสนุน (หรือต้านทาน) จากพลังอำนาจภายนอกประเทศ
มีหลายต่อหลายครั้งที่การรัฐประหารในบางประเทศประสบความสำเร็จได้เพราะกองทัพได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติหรือประเทศมหาอำนาจให้เข้าทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ในทางกลับกัน มีการรัฐประหารในอีกหลายต่อหลายครั้งในบางประเทศที่สำเร็จได้เพราะต่างชาติหรือประเทศมหาอำนาจมิได้แสดงท่าทีคัดค้านหรือต่อต้านการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพอย่างเอาจริงเอาจัง (เท่าที่ควร)
ปัจจัยภายในกองทัพที่เป็นแรงผลักดันและแรงจูงใจให้กองทัพทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน มีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
1. ความเข้มแข็งของกองทัพ
การรัฐประหารมักประสบความสำเร็จเมื่อกองทัพมี “ความเข้มแข็ง” คือ มีความสามัคคีเป็นปึกแผ่น มีการระเบียบวินัย (ไม่มีใครแตกแถว) มีการจัดวางระบบบังคับบัญชาตามแนวดิ่งที่เป็นเอกภาพ และมีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการภายในของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก (โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง)
2. ความพร้อมพรั่งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์
กองทัพมีความได้เปรียบองค์กรหรือสถาบันใดๆ ในสังคมในการทำรัฐประหารเนื่องจากกองทัพมีความพร้อมทั้งด้านกองกำลังและอาวุธ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้จึงสำเร็จด้วยน้ำมือของกองทัพมากกว่าองค์กรหรือสถาบันใดๆ (แม้แต่การลุกฮือของประชาชน) นอกจากนี้ ความได้เปรียบด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ยังทำให้การต่อต้านหรือขัดขวางมิให้กองทัพทำรัฐประหารได้สำเร็จเป็นเรื่องยากยิ่ง
3. ทัศนคติทางการเมืองของผู้นำทหาร
การรัฐประหารมักเกิดขึ้นในประเทศที่ผู้นำกองทัพมีทัศนคติด้านลบต่อประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือน โดยเฉพาะทัศนะที่มองว่ากระบวนการต่อรองเชิงอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเรือนนั้นมักสร้างความวุ่นวาย และนำไปสู่สภาวะไร้ระเบียบของสังคม ดังนั้น กองทัพในฐานะสถาบันผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติมีหน้าที่ยื่นมือเข้ามาแทรกแซงและทำการรัฐประหาร (เมื่อถึงคราวจำเป็น) เพื่อสร้างความสงบสุขเรียบร้อยให้แก่ชาติบ้านเมือง
4. ความต้องการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของกองทัพ
การตัดสินใจทำการรัฐประหารของผู้นำกองทัพบางครั้ง (บ่อยครั้ง) อาจมีผลประโยชน์ภายในของกองทัพ (หรือผู้นำกองทัพ) แฝงอยู่ด้วย เช่น ความต้องการปกป้องเกียรติภูมิและรักษาความเป็นอิสระของกองทัพจากการแทรกแซงของผู้นำพลเรือน ความห่วงกังวลต่อการถูกลดบทบาทหรือถูกตัดทอนงบประมาณด้านการทหาร เป็นต้น
Notes:
1. บันทึกไว้ (อีกครั้ง) เพื่อจดจำเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาร์ 1 กุมภาพันธ์ 2564
2. ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โปรดอ่านงานคลาสสิกๆ เช่น Huntington, Samuel. 1957. The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations. New York: Belknap Press; Nordlinger, Eric. 1977. Soldiers in Politics. Englewood Cliffs: Prentice-Hall; Finer, Samuel E. 1988. The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics. Boulder, Colorado: Westview Press เป็นต้น แต่ถ้าสนใจเหตุผลที่ทำให้ทหารกลับเข้ากรมกองโปรดตามหา Surachart Bamrungsuk. 1999. From Dominance to Power Sharing: The Military and Politics in Thailand, 1973-1992. Ph.D. dissertation, Columbia University.
โฆษณา