11 ก.พ. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
ผมบอกนักเขียนใหม่เสมอว่า คุณสมบัติสำคัญที่สุดของนักเขียนไม่ใช่จินตนาการ แต่คือการวิเคราะห์เป็น
5
ความจริงไม่เพียงแต่นักเขียน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ต้องวิเคราะห์เป็น
ต่อให้ไม่มีอาชีพ ก็ต้องวิเคราะห์เป็น ไม่เช่นนั้นก็ตกเป็นเหยื่อคนอื่นได้ง่าย
อ่านงานไม่แตกก็คือการวิเคราะห์ไม่เป็น มองสถานการณ์ไม่ทะลุ ก็คือการวิเคราะห์ไม่เป็น
1
แต่การวิเคราะห์ของนักเขียนยากขึ้นอีกนิด นั่นคือนักเขียนต้องรู้อย่างแจ่มแจ้งว่า เรื่องที่เขียนเรื่องหนึ่งๆ ดีหรือไม่ดีเพราะอะไร
การรู้ว่าดีหรือไม่ดีนั้นไม่ยาก คนที่มีประสบการณ์การอ่านมาบ้างก็บอกได้ แต่การบอกให้ได้ว่าดีหรือไม่ดีเพราะอะไรนี่สิยาก ต่อให้อ่านมาหมื่นเล่ม ก็มิแน่ว่าจะวิเคราะห์เป็นว่างานชิ้นนั้นดีหรือไม่ดีเพราะอะไร
อยากเป็นนักเขียนที่ดี ก็ต้องบอกได้มากกว่าคนอ่านคนดู
ยกตัวอย่าง เช่น ถามว่านวนิยาย เพชรพระอุมา ดีไหม สนุกไหม
ใครๆ ก็ตอบได้ว่าดีและสนุกมาก แล้วทำไมเพชรพระอุมาจึงสนุก?
ก็ต้องชำแหละ ศึกษาโครงสร้าง พล็อต ซับพล็อต ลำดับการวางเรื่อง บทสนทนา ฯลฯ จึงพบว่า มันเป็นส่วนผสมของการสร้างความอยากรู้อยากเห็น ลีลาการชิงไหวชิงพริบ โรแมนซ์ เกร็ดความรู้แปลกๆ และมันยังมีโครงสร้างของนิยาย 'ซูเปอร์ฮีโร'
2
การที่ รพินทร์ ไพรวัลย์ ยิงปืนแม่น แงซายชาญฉลาดสุดยอด ปามีดแม่น ก็คือองค์ประกอบของ 'ซูเปอร์ฮีโร'
เรื่องจะกร่อยลงถ้า รพินทร์ ไพรวัลย์ ยิงอะไรก็พลาดอยู่เรื่อย ใช่ไหม? เช่นเดียวกับเรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น ของโก้วเล้งคงลดความสนุกถ้าลี้คิมฮวงปามีดพลาดเป้าทุกที
1
การจัดลำดับเรื่องใช้เทคนิคสร้างความสงสัย ความพิศวงเป็นระยะๆ เสียบแทรกด้วยการหักมุม การชิงไหวพริบทั้งเรื่อง
1
การวางซับพล็อตที่แปลกมารองรับพล็อตหลักก็ทำให้เรื่องสนุกขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซับพล็อตมันตรัยยึดครองนิทรานคร เป็นโครงเรื่องย่อยก็จริง แต่ซับซ้อนและดึงดูดใจ ซึ่งก็เป็นกลวิธีเดียวกับที่กิมย้งใช้มาตลอดทั้งชีวิตการประพันธ์ กิมย้งถนัดมากในการสร้างซับพล็อตเสริม ลองนึกถึงซับพล็อตชาติกำเนิดของเฉียวฟง (แปดเทพอสูรมังกรฟ้า) ทั้งซับซ้อน ตื่นเต้น สะเทือนใจ เมื่อมาเสียบกับเรื่องรวม ก็ทำให้คนอ่านวางหนังสือลงไม่ได้จนกว่าจะอ่านจบ
1
ลองชำแหละงานของกิมย้งส่วนใหญ่ มักใช้ซับพล็อตที่ทรงพลังมาขยายความตัวละครเสมอ
ทำไมหนังเรื่อง The Queen's Gambit จึงสนุก?
เพราะมันสร้างตัวละครแบบซูเปอร์ฮีโร ทั้งเรื่องคือการลุ้นเอาชัยชนะ การฝึกปรือวิชาซึ่งก็เป็นลูกเล่นความสนุกของหนังกำลังภายในในยุคหนึ่ง เช่น เรื่องแนวการฝ่าด่าน 18 ยอดมนุษย์ทองคำในวัดเส้าหลิน ความสนุกอยู่ที่การฝึกวิชา และการแข่ง
1
ดังนี้เป็นต้น
ดังนั้นนักเขียนจึงต้องเป็นนักอ่าน นักดูหนัง และเป็นนักชำแหละ ชำแหละโครงสร้างของสิ่งที่อ่านและดูให้ทะลุ ก็จะเห็นสูตรของหนังสือหรือหนังเรื่องนั้น
แม่ครัวคนหนึ่งที่เคยทำงานกับผมทำอาหารเก่งมาก เมื่อมีโอกาสไปกินข้าวนอกบ้าน เธอจะชำแหละออกจากการชิมว่า อาหารจานนั้นประกอบด้วยเครื่องปรุงอะไรบ้าง จะต้องปรุงอะไรก่อนหลัง
นี่ก็คือหลักการเดียวกับนักเขียน
จะว่าไปแล้ว เป็นแม่ครัวยากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเครื่องปรุงมากไปน้อยไปนิดเดียว รสก็เปลี่ยนทันที องค์ประกอบสัดส่วนของพริก น้ำปลา น้ำตาล ขิง ข่า ฯลฯ ต้องพอดีจึงอร่อย
ถ้าเขียนนิยายได้อย่างการปรุงอาหารรสดี ก็เท่ากับสำเร็จแล้ว
ทำอย่างไร? ก็ต้องฝึกฝนการวิเคราะห์
แล้วจะฝึกอย่างไร?
ง่ายๆ คือเวลาอ่านหนังสือทุกเรื่อง ดูหนังทุกเรื่อง อ่านข่าวทุกข่าว อ่านบทความทุกบทความ ชำแหละสิ่งที่อ่าน-ดูออกมาเป็นบทสรุปบรรทัดเดียวว่ามันบอกอะไร แล้วชำแหละต่อไปว่าคนเขียนแฝงนัยอะไร ใช้เทคนิคอะไรในการนำเสนอ ท่อนไหนสนุกเพราะอะไร ท่อนไหนไม่สนุก เพราะอะไร และท้ายที่สุด ถ้าเราเป็นคนเขียน เราจะเขียนดีกว่านั้นได้ยังไง
9
นักเขียนที่ไม่รู้ว่าเรื่องที่ตนเขียนดีไม่ดีเพราะอะไร ยากจะไปรอดในเกมมาราธอนแห่งบรรณพิภพ เพราะถ้าตัวเองยังไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดีเพราะอะไร จะพัฒนาตนเองได้อย่างไร
2
ผมจึงบอกว่าวิเคราะห์ไม่เป็น ไม่มีวันเป็นนักเขียนที่ดีได้
และสำหรับคนทั่วไป ถ้าวิเคราะห์ไม่เป็น ก็ตกเป็นเหยื่อคนอื่นเสมอ
1
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาชาติก็คือพัฒนาคุณสมบัติวิเคราะห์เป็น (analytical skill) และจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
1
คุณสมบัติสำคัญที่สุดของนักเรียนไม่ใช่การเรียนวิชา แต่คือการวิเคราะห์เป็น
3
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG]
3
โฆษณา