3 ก.พ. 2021 เวลา 09:59 • ความคิดเห็น
ว่าด้วยเรื่องของ “มรรยาท” EP. 2
ผู้ใหญ่อย่างเราควรปลูกฝังเรื่องมรรยาทแก่เด็ก ให้สามารถอาศัยอยู่ในสังคมยุค 4.0 อย่างมีความสุขได้อย่างไร
ถ้าแบ่งออกเป็นสังคม อาจแบ่งเป็น สังคมภายใน(บ้าน) หรือภายในครอบครัว ได้แก่ บุพการี (บางสังคมเช่น จีนและอินเดีย นับครูบาอาจารย์ด้วย) พี่น้อง ญาติ(บางสังคมไม่นับญาติหรือนับญาติน้อย) สามีภรรยา (บางสังคมมีสามีได้หลายคน บางสังคมมีภรรยาได้หลายคน) ลูกหลานเหลน ปู่ย่า ตายาย ทวด เขยสะใภ้ เมียหลวง เมียน้อย เป็นต้น
สังคมภายนอก ได้แก่ รุ่น พรรค พวก ชั้นเรียน(เช่นสังคมไทย) เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน นายที่ทำงาน ลูกน้อง บุคคลที่คุ้นเคย ไม่คุ้นเคย
โดยทุกประเทศล้วนมีอัตลักษณ์ของกฎ กติกาและ “มรรยาท” ของสังคมตนอยู่ในวัฒนธรรมทั้งสิ้น เช่น การถือตัว เว้นระยะห่าง แบ่งชนชั้นวรรณะ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสัมพันธภาพ เช่น มรรยาทประจำถิ่นคนอิสาน คนกรุง คนเหนือ คนใต้ (Cultural Relativity)
โดยส่วนใหญ่ของนานาประเทศ การปลูกฝังมาจากการทำเป็นตัวอย่างของพ่อแม่ และ Proto DNA ที่สั่งสอนต่อกันมาโดยพ่อแม่ มักมีคำพูดว่าคนที่ไม่มีมรรยาทเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอน หรือถ้าพ่อแม่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ลูกก็จะทำตาม
อาจมีผู้เถียงว่าสังคมปัจจุบันไม่มีลูกดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง แต่กระนั้นก็ดีการมีมรรยาทที่ดีเพื่อเป็นที่ยอมรับในการเข้าสังคมทั่วไป ย่อมมีความจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันและถูกสั่งสอนมาจากรุ่นสู่รุ่น จากสังคมภายในและภายนอก
มรรยาทที่ดีงาม ย่อมมีหลักข้อประพฤติปฏิบัติและข้อห้ามที่ดีเลวคล้ายคลึงกันแต่อาจแตกต่างกันไปตามรายละเอียด ตามภาษา อนุพฤติกรรม และค่านิยมของแต่ละประเทศ ได้แก่:
1. มรรยาทในการพูด พบปะทักทาย อำลา อาลัยไต่ถามทุกข์สุขที่สุภาพ มีคำขอโทษเมื่อกระทำโดยไม่ตั้งใจ หรือขอโทษ ขออนุญาต เพื่อกระทำสิ่งที่อาจมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นโดยไม่ตั้งใจ การขอบคุณ แสดงความเสียใจ ยินดี การให้ของขวัญ การพูดในลักษณะต่าง ๆ การรับโทรศัพท์ และการบอกทาง เป็นต้น ถ้าพูดผิดหรือพูดไม่ชัด แล้วปล่อยไว้ไม่แก้ไข ต่อไปก็จะเสียบุคคลิก อาจส่งผลต่ออาชีพในฝันของใคร เช่น ไม่สามารถเป็นผู้ประกาศข่าว หรือกล่าวสุนทรพจน์ได้ และอาจส่งผลให้เขียนหนังสือผิดได้ในที่สุด
2. มรรยาทในการเขียน การใช้สรรพนาม นามของบุคคลที่หนึ่ง สอง และสามที่เหมาะสมเช่น การมีมรรยาทในการเรียกชื่อบุคคลตามฐานานุรูป การเขียนจดหมายถึงบุคคลต่าง ๆ หรือระมัดระวังการใช้สรรพนาม ยิ่งการเขียนจดหมาย หรืออีเมล์ภาษาอังกฤษยิ่งต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก
3. มรรยาทในการเข้าโต๊ะรับประทานอาหาร เช่น ไม่ท้าวข้อศอก ไม่วางโทรศัพท์มือถือบนโต๊ะ ไม่เล่นโทรศัพท์ ไม่เคี้ยวเสียงดังหรือซดน้ำแกงอาหารเสียงดัง ไม่เคี้ยวจั๊บ ๆ (ควรเคี้ยวปิดปาก) ไม่พูดขณะเคี้ยว ไม่ส่งเสียงดังเอะอะมะเทิ่งโวยวาย ไม่ตะกรุมตะกราม สั่งขี้มูกบนโต๊ะอาหาร ทิ้งถ่มอาหารบนพื้น แคะฟัน ทานมากเกินจนเรอเสียงดัง การวางจาน ช้อนส้อม มีดและแก้ว การไม่สนทนาเรื่องความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือนินทากาเล ของสกปรก เรื่องตลกโปกฮาสับปะดี้สีปะดน เรื่องเศร้า ไม่ดื่มจนเสียมรรยาทและเมา ทาน ควรดื่มพอเป็นพิธี ถ้ายังไม่เสร็จแต่ทุกคนเสร็จให้รวบช้อน เป็นต้น
4. มรรยาทในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ การรู้จักสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ควรพูด ไม่ควรพูด วัฒนธรรม และอากัปกิริยาต้องห้าม หรือ เป็น “ตาบู” (Taboos) ในอนุวัฒนธรรมอื่น ๆ
5. มรรยาทการเข้าห้องน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ การรักษาความสะอาด การดูแลความสะอาดและอนามัยส่วนตัว
6. มรรยาททั่วไป เช่น ไม่ขากถ่มน้ำลาย ทิ้งขยะ หรือก้นบุหรี่ตามถนน ไม่แคะขี้มูก จาม ไอเสียงดังไม่ปิดปากปิดจมูก ไม่หาวโดยไม่ปิดปาก ไม่แย่งคิวตัดหน้า การลัดคิว และไม่พูดแทรก เป็นต้น
7. มรรยาทในการขับรถ มรรยาทในการขึ้นรถไฟฟ้า รถประจำทาง มรรยาทในการเข้าดูเข้าฟังมหรสพ มรรยาทในการดูหนังดูละคร มรรยาทในการติดต่องาน สมัครงาน มรรยาทในการไหว้ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสก่อน มรรยาทการทักทายผู้ใหญ่ การกราบพระสงฆ์ และบุพการี การมีความกตัญญูกตเวทิตา และมรรยาทอื่น ๆ ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง มรรยาทไทย มรรยาทชาวพุทธ และมรรยาทในอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น
1
แต่ละข้อมีรายละเอียดที่สามารถติดตามอ่านได้ทั่วไป แต่ในบทความนี้ มีหลัก 5 ประการที่น่าจะเป็น DNA ตัวแรก ในยุค 4.0 ที่พ่อแม่สมัยใหม่ต้องพึงระมัดระวังสั่งสอน ตนเองในเรื่องมรรยาทเพื่อให้ลูกเชื่อถือดังนี้:
1
ประการแรก: พ่อแม่ต้องไม่เผลอตัวใช้คำพูดไม่สุภาพกับลูก หรือระหว่างกัน หรือกับผู้อื่น คำหยาบ ผรุสวาท คำสบถสาบาน คำอุทานเสริมบท ขึ้นมึงกูสัปโดกสัปดน ในขณะขับรถต้องควบคุมสติไม่ด่าผู้ขับขี่คันอื่น และไม่ดุด่าว่ากล่าวเด็กว่า “โตจนเป็นควาย...” “โตจนหมาเลียตูดไม่ถึง...” หรือเปรียบเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ตามคำพูดที่เรียกว่า “ปากตลาด” ให้นึกถึงเสมอว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” พ่อแม่ควรระงับซึ่งความโกรธผู้อื่นโดยใช้สติ กำกับ และแผ่เมตตา ควรสั่งสอนให้ใช้คำสุภาพเสมอ
ประการที่สอง: พ่อแม่ต้องใช้สติระงับความโกรธที่อาจนำไปสู่การใช้กำลังเมื่อถูกลูกท้าทาย พยายาม “อย่า” ให้เด็กนิยมคำพูดที่สร้างค่านิยมการด่าทอ ท้าทาย ความเป็นนักเลง การระรานผู้อื่น การเอาอย่างคำพูดในละครทีวี (บางครอบครัวไม่ให้ดูละครทีวีเลย) การยุยงส่อเสียด ยุแยง ตะแคงรั่ว การชักสีหน้าให้นึกถึงกาลามสูตรของพระพุทธเจ้าที่ไม่ให้หลงเชื่อโซเชียลมีเดียง่าย ๆ สร้างมรรยาทการพูดที่ดีงาม มีจังหวะจะโคน ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไปเรื่อย ส่งเดช ไม่พูดแบบมีจริตจะก้าน ไม่พูดเฮ้ย ไม่พูดห้วน ไม่พูดวะ ไม่แต๋วแตก ชิวหาพาเพลิน ไม่ใช้คำที่เป็นภาษาพูดผิดกาลเทศะในการกล่าวถ้อยคำที่เป็นทางการหรือภาษาเขียน คอยดูว่ามรรยาทการพูดการจาของลูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คอยหมั่นดูพฤติกรรมและสังเกตพฤติกรรมความก้าวร้าวของลูก หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศของลูก
ประการที่สาม: พ่อแม่ควรเรียนรู้ความคิดต้นแบบคำศัพท์ สำนวนและเรื่องมรรยาทต่าง ๆ ของยุวชนรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่มีปรากฏในบทเรียน พ่อแม่และครูควรเอาใจใส่เรื่องจิตวิทยานักเรียน ให้การศึกษาและเอาใจใส่
ประการที่สี่: พ่อแม่ต้องใช้เวลาอยู่กับลูกในช่วงวัยรุ่น หรือ Teenage เรื่องการคบหาเพื่อนชายเพื่อนหญิง อย่าเลี้ยงลูกโดยทีวีหรือมือถือ พยายามหาไอดอลหรือบุคคลตัวอย่างที่ประสพความสำเร็จในชีวิตทั้งการงานและครอบครัวไว้เป็นหลักและนำพาลูกเข้าสังคมที่ดี ระมัดระวังเรื่องอาชญากรรมยาเสพติด การเที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา สูบบุหรี่ ใช้ชีวิตสำส่อน และสังเกตุพฤติกรรมมรรยาท ว่าหย่อนยานหรือแปลกแยกอย่างไร
ประการที่ห้า: พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นเพื่อน ที่ปรึกษา วางแผนชีวิตให้ลูก พยายามประคับประคองชีวิตการครองเรือนของตนเอง ไม่ให้บ้านแตกสาแหรกขาด หรือเป็น Single mom แบบตัวอย่างในตะวันตก ต้องเป็นตัวอย่างผู้นำครอบครัวที่ดีทุกกระเบียดนิ้ว พยายามสอนเรื่องเสน่ห์ปลายจวัก ขัดเกลาอบรมบ่มนิสัยมรรยาทการครองเรือน การให้ความช่วยเหลือและให้เหตุผลต่อกัน ไม่ให้เกิดการวิวาทหย่าร้างอย่างที่มีถมเถในปัจจุบัน
ในยุค 4.0 การสมัครงานดูหน้าค่าตาอาจเป็นส่วนประกอบ แต่ที่ลึกกว่าเปลือกนอกคือแก่นและกระพี้ แก่น คือ ความสามารถในการตอบคำถามยาก ๆ หรือการแสดงความรู้ที่ไม่มีใครรู้ ส่วนกระพี้ คือ มรรยาทในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานที่จะทำ
ในรุ่น Gen Z ตัวประวัติและ Format ที่เตะตาและแสดงถึงความตั้งใจจริงที่จะเป็นทีมร่วมแรงร่วมใจ ตลอดจนการแสดงออกซึ่งมรรยาทในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและความมีน้ำใจในการร่วมงาน มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของกรรมการ สำหรับคนไทยท่าทาง บุคคลิกภาพและความสุภาพ การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ความสะอาดและอนามัยส่วนบุคคล (รวมถึงรอยสัก) และ ความมีมรรยาทอ่อนน้อมเป็นกุญแจสำคัญ ตลอดจนการพูดตัว ร.เรือ ควบกล้ำตัว ล.ลิง และไม่พูดเป็นเด็ก น้อง หนู คุณหนูหรือสำเนียงฝรั่ง
มรรยาทในการพูดโทรศัพท์เพื่อขายของก็มีความสำคัญเช่นกัน ในยุคออนไลน์นี้การพูดโน้มน้าวให้ซื้อของสมัยนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องใช้วาทศิลป์สมัยใหม่ การขายของทางโทรศัพท์มากกว่า 70%ต้องมีรายละเอียดว่าลูกค้าได้อะไร แต่ที่เป็นเสน่ห์คือการรู้จักมรรยาทในการแนะนำตัว (บางครั้งพูดรัวให้ฟังไม่รู้เรื่อง) การพูดจาใส่อารมณ์ ไม่สุภาพ ไม่ให้โอกาสลูกค้าพูด พูดแทรกลูกค้า เปิดวิทยุโทรทัศน์ เคี้ยวอาหารดังจั๊บ ๆ หรือดูดโอเลี้ยงดังซู้ดด (เพราะหมดแก้วแล้วมีแต่น้ำแข็ง)ในขณะที่ลูกค้าพูด หรือเถียงกับลูกค้า ยิ่งไม่เห็นหน้ากันก็จะไม่สามารถขายได้ หรือการให้บริการบัตรเครดิตก็ต้องมีมรรยาทในการพูด ต้องได้รับการสั่งสอน ฝึกอบรม และฝึกฝนให้คล่องแคล่วและแก้ปัญหาลูกค้าสูงอายุหูตึงและขี้โมโหได้ มิฉะนั้นจะเสียหายต่อการให้บริการของบริษัทระดับโลก
ยังมีมรรยาทในการขายที่ต้องสั่งสอนคนรุ่นใหม่ว่าลูกค้าถูกเสมอ เคยเจอร้านแถวท่าพระจันทร์ที่ลูกเอาตะหลิวปาใส่พี่ชายและพ่อสองครั้งเพราะทะเลาะกัน ตัวลูกไม่ต้องการขายอาหารสืบต่อพ่อ แต่ตะหลิวไพล่ไปโดนลูกค้าที่นั่งรออาหารอยู่ แต่โดยมรรยาทหรืออะไรก็ตาม ทุกคนก็นั่งเฉย เป็นทองไม่รู้ร้อน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ที่ร้านสเต๊กมีชื่อในสหรัฐอเมริกา ลูกค้าที่เป็นเด็กสาวดื่มเหล้าแล้วเมาล้มสลบลงกลางร้าน แต่ไม่มีอเมริกันชนสักคนมีมรรยาทหรือมีน้ำใจเข้ามาช่วยพยุงหรือปฐมพยาบาล (แม้แต่ Maitre D) อาจเพราะกลัวจะถูกฟ้อง หรือต้องรับภาระส่งโรงพยาบาล (รวมทั้งผู้เขียน)
การสอนและอบรมเรื่องมรรยาท เป็นความสามารถเฉพาะตัวของทั้งผู้สอน และผู้ถูกสอน โดยการเริ่มจากที่บ้านจะช่วยให้สามารถสร้างความเป็นมืออาชีพได้ในที่ทำงานและในสังคมที่มีการแข่งขันและมีความคาดหวังสูง ดังนั้น ถ้าสามารถทำได้พ่อแม่และลูกควรพูดคุยกันบ่อย ๆ เพราะครอบครัวจะเป็นสถาบันการสอนมรรยาทที่ดีงาม เป็น DNA ตัวแรกที่ยังไม่กลายพันธุ์ พร้อมที่จะรับมือต่อสภาพแวดล้อมสังคมที่เป็นพิษในยุคนี้ต่อไป
โฆษณา