3 ก.พ. 2021 เวลา 13:07
ทำไมคนฉลาดจำนวนมากถึง "ประสบความสำเร็จในโรงเรียน” แต่กลับ "ล้มเหลวในชีวิตจริง"
.
เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เรียนเก่งขนาดนี้ อนาคตไกลแน่นอน” เป็นคำพูดที่แสดงถึงความชื่นชมและสร้างความคาดหวังให้กับเด็กคนหนึ่งที่มีผลการเรียนในระดับท็อป
.
แต่ชีวิตของการทำงานจริงนั้นกลับแตกต่างกัน เพราะผลการเรียนที่ดีไม่ได้เป็นตัวตัดสินความสำเร็จของคนเสมอไป เวลาเรียนเราถูกประเมินจากคะแนนสอบที่ได้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ หรือการท่องจำ ซึ่งถือว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานของคนเท่านั้น เพราะโลกการทำงานหรือการใช้ชีวิตจริงจำเป็นต้องใช้ศาสตร์อีกหลายแขนงเข้ามาประกอบกัน
.
ในบทความของ Medium ที่ใช้ชื่อว่า Why So Many Smart People Are Successful in School But ‘Fail’ in Real Life ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
.
ไม่มีบทเรียนที่สอนวิชา “รับมือกับความล้มเหลว”
.
ทุกระดับการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นล้วนมีเกณฑ์การวัดแบบเดียวกันคือ การวัดความสามารถจากแค่บทเรียน และเราต่างถูกสอนให้ไปทิศทางของการแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะเท่านั้น มีเด็กจำนวนมากที่สามารถแข่งขันในสนามของโรงเรียนได้ดี แต่เมื่อออกจากสนามของโรงเรียนและได้พบกับสนามชีวิตจริง มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่กลัวความล้มเหลวจนนำพวกเขาไปสู่ “ความล้มเหลวที่แท้จริง”
.
เพราะมีคนเก่งจำนวนมากที่ถูกค่านิยมทางอาชีพจากคนอื่นปลูกฝังว่า ถ้าทำอาชีพนี้จะประสบความสำเร็จ จึงเดินตามทางที่คนอื่นบอกโดยไม่รับรู้ถึงความชอบ ความต้องการ ความถนัด และสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ มีเด็กหลายคนไม่กล้าที่จะออกจากกรอบของตัวเองเพราะกลัวความ “ล้มเหลว” เหมือนกับโรงเรียนที่สอนว่าถ้าคุณพลาดทำคะแนนได้แย่ นั้นแปลว่าคุณล้มเหลว ส่งผลให้ใครหลายคนไม่กล้าเผชิญกับการลองผิดลองถูก เพราะกลัวว่าตัวเองจะล้มเหลว
.
แต่ประสบการณ์ที่ได้จาก “ความล้มเหลว” ต่างหาก ที่จะนำคนไปสู่ “ความสำเร็จ”
.
เมื่ออยู่ในโรงเรียนเราจะถูกสอนให้จำเนื้อหาเพื่อสอบให้ผ่าน แต่โลกของความจริง การเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาให้ได้นั้นสำคัญกว่ามาก ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
.
การแก้ปัญหา: ในชีวิตจริงคุณจะพบกับสถานการณ์จริง ที่ไม่ใช่แบบจำลองการทดสอบเหมือนในหนังสือเรียน
.
หลักการคิดถึงแก่นแท้: หลักการคิดอย่างเป็นระบบ การมองย้อนกลับไปที่รากฐานของปัญหาที่แท้จริงและค่อยมองหาถึงเหตุผลเพื่อนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา
.
ความสามารถในการรับมือกับความกดดัน: บางครั้งความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความกดดันสูง
.
.
โทมัส เอดิสัน ทดลองและล้มเหลวมานับ 10,000 ครั้ง
.
เรื่องราวของโทมัส เอดิสัน เมื่อตอนเด็กเขาถูกครูกล่าวว่าเขาโง่เกินกว่าจะเรียนรู้อะไรได้ แม่ของโทมัสจึงนำเขาออกจากโรงเรียนและจึงตัดสินใจเป็นครูสอนลูกด้วยตนเอง เมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน เขาถูกไล่ออกจากที่ทำงานด้วยเหตุผลที่ว่า “เขาไม่มีศักยภาพมากเพียงพอ”
.
แต่โทมัสเป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ด้านความคิดสร้างสรรค์ และชอบคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาได้ทำการทดลองประดิษฐ์หลอดไฟและล้มเหลวมานับ 10,000 ครั้ง จนในที่สุดเขาก็ประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จ
.
สุดท้ายนี้ ผลการเรียนที่ดีไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จของคน เพราะคนที่เก่งจริงคือ คนที่รู้ถึงความต้องการตัวเอง มีทักษะทางด้านการแก้ปัญหาที่ดีและสามารถทำงานกับผู้อื่นได้ ไม่กลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความล้มเหลว
.
เพราะความล้มเหลวอาจมอบบทเรียนสู่ความสำเร็จในชีวิตจริงของเราก็ได้
.
อ้างอิง:
.
#MissionToTheMoonPodcast
26
โฆษณา