3 ก.พ. 2021 เวลา 14:56 • สุขภาพ
วันนี้เป็นเรื่องที่แอดมินร่วมของอีกเพจที่ต่ายดูแลรีวิวไว้นะคะ
หลังๆมีข่าวว่า iPhone12 หรือ Apple Watch อาจจะรบกวนการทำงานของเครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจได้ (AICD) เนื่องจากมีแม่เหล็กฝังอยู่
เลยถือโอกาสมาเล่าให้ฟังเลยละกัน ว่าเรื่องนี้จริงไหม และถ้าเราเป็นโรคหัวใจจะซื้อ iPhone มาใช้ได้ไหม
.
.
📌 ขอเริ่มที่โรคหัวใจแต่ละชนิดกันก่อน
1. ถ้าเราเป็นโรคหัวใจ แต่ “ไม่ได้ฝังอุปกรณ์ในร่างกาย”
✅ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไร ยังใช้ iPhone12 ได้ตามปกติ
2. ถ้าเราเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจ ใส่ “ขดลวดหัวใจ” ไปแล้ว ✅ก็ไม่ต้องกังวลนะ เพราะขดลวดหัวใจนั้นไม่ใช่เหล็ก ส่วนใหญ่จะเป็น platinum chromium alloy ซึ่งไม่ถูกเหนี่ยวนำจากกระแสแม่เหล็ก
3. หรือถ้าเราใส่ขดลวดที่อื่นๆ เช่น ที่เส้นเลือดแดงใหญ่ (TEVR/EVAR) หรือเส้นเลือดสมอง (carotid stent)
✅ก็ไม่มีปัญหา เพราะ vascular stents ทุกรุ่นออกแบบมาเพื่อเข้าเครื่อง MRI ได้อยู่แล้ว แค่แรงแม่เหล็กจิ๊บๆจากเครื่อง iPhone นั้นไม่สะเทือน
4. ถ้าเราเป็นคนไข้ที่ผ่าตัดหัวใจ ทำ bypass หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (mechanical valve)
✅ก็ไม่ต้องกังวลเลย เพราะส่วนมากทำมาจาก titanium, cobalt และ carbon alloys ซึ่งไม่ถูกเหนี่ยวนำ อ้อ ลวดที่เย็บแผลก็ไม่ถูกแม่เหล็กดูดนะ
.
.
📌 อ่านมา 4 ข้อแล้ว ยังไม่พบว่ามีอะไรน่ากังวล 😂 แต่ช้าก่อน เคสสำคัญที่ต้องระวัง มี 2 ข้อ อันนี้สำคัญ
1. ถ้าเราใส่ “เครื่องกระตุ้นหัวใจ” (pacemaker) เช่น เรามีภาวะหัวใจเต้นช้า หน้ามืด แล้วแพทย์ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ เมื่อเราเอาแม่เหล็ก ไปเข้าใกล้ตัวเครื่อง
🚨มีโอกาสที่เครื่องจะถูกเปลี่ยนโปรแกรม และทำให้มีอาการผิดปกติได้ครับ เช่น อาจจะรู้สึกหวิวๆ ใจสั่น หรือหน้ามืดได้ในบางเคส
2. ถ้าเราใส่ “เครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ” (ต่อไปในบทความจะขอเรียกว่า AICD) เวลาที่มีแม่เหล็กอยู่ใกล้ เครื่องจะถูกเปลี่ยนโปรแกรมเหมือนกัน ซึ่งจะเป็นการ ❎ ปิดโหมดช็อตหัวใจ
- ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาในข่าว เพราะคนไข้กลุ่มนี้ถ้ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นแล้วเครื่องไม่ช็อตไฟฟ้าให้ ก็มีโอกาสจะเสียชีวิตได้ในช่วงนั้น
- แต่อย่าเพิ่งอย่าสับสนว่า การเอาแม่เหล็กไปวางบนเครื่อง AICD หรือ pacemaker จะทำให้เครื่องพัง หรือคนไข้จะเสียชีวิตทันที ❎ ไม่ใช่นะ
👉🏻 มันแค่ปิดโหมดช็อตหัวใจเฉยๆ พอเอาแม่เหล็กออก เครื่องก็จะทำงานได้ตามปกติเหมือนเดิม (ทางแพทย์เราแค่ไม่อยากให้มันเปลี่ยนโหมดเท่านั้นเอง)
- ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ iPhone12 (ที่มีแม่เหล็ก) เท่านั้นที่ต้องระวัง #อุปกรณ์ทุกชนิดที่มีแม่เหล็ก ก็สามารถทำให้โหมดของเครื่องทั้งสองนี้เปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน !!!
☔️ ☔️ ☔️ ☔️ ☔️
📌 ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ใส่ “เครื่องกระตุ้นหัวใจ” และ “เครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ”ขอย้ำแค่เนื้อหาด้านล่างนี้ก็พอ
- ไม่ว่าจะใช้มือถืออะไร ควรจะให้อยู่ห่างจากตัวเครื่อง 6 นิ้ว (15 ซม) ถ้าจะให้เห็นภาพ เช่น คนไข้ฝังเครื่องไหล่ซ้าย ไม่ควรคุยโทรศัพท์ด้านซ้าย และ ไม่ควรใส่มือถือในกระเป๋าเสื้อด้านซ้าย
- ถ้าใช้ MagSafe ชาร์จอยู่ ต้องให้ห่างจากตัวเครื่อง 12 นิ้ว (30 ซม)
- ไม่ควรวางมือถือไว้ใกล้บริเวณที่นอน และไม่ควรใส่ apple watch ตอนนอน มีรายงานว่าคนไข้ที่ใส่เครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ ตื่นขึ้นมาเพราะเครื่องร้องเสียงดัง (เครื่องจะร้อง ตอนที่มีการเปลี่ยนโปรแกรมครับ ดังนั้นเลยมีความกังวลว่าตอนนอนบางทีเราเอาเครื่องมาใกล้กันโดยไม่รู้ตัว)
- จากการศึกษาพบว่า apple watch และ fitbit ที่มีแม่เหล็ก เมื่ออยู่ใกล้กับเครื่อง AICD ประมาณ 2 ซม จะทำให้โปรแกรมมีปัญหา (เอาให้ชัวร์คือห่าง 6 นิ้วดังกล่าวข้างบน)
- ตัวเครื่อง apple watch มีความเป็นแม่เหล็กน้อยกว่าสายรัด
- การเปิด bluetooth หรือ wifi ไม่ได้มีผลต่อตัวเครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ
- นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟสูง อาจจะทำให้เกิด noise หรือมี interference กับเครื่องได้ ส่วนตัวเคยเจอคนไข้ที่ถูกเครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากจับตู้เย็นเป็นเวลานาน และคงมีกระแสไฟจากตู้เย็นรั่วนิดหน่อย ทำให้เครื่อง AICD เข้าใจผิดว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ และช็อตไฟฟ้าออกมา
.
.
⛵️ คำแนะนำด้านบนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ยกตัวอย่างมาเท่านั้น สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมนอกจากนี้ แอดมินแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวจะดีที่สุด
- จากเพจฝากหัวใจให้เราดูแล-
โฆษณา