5 ก.พ. 2021 เวลา 11:36 • หนังสือ
"คลื่น 4 ลูก ของการปฏิวัติ AI"
แม้ในอดีตจะดูเป็นทฤษฎีที่ไกลตัว กับการที่อยู่ๆหุ่นยนต์จะมีความสามารถในการคิดและทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง
แต่ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญญาประดิษฐ์(artificial intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของเรา แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ตาม
AI Superpowers เป็นหนังสือที่ถูกเขียนโดย Kai-Fu Lee เด็กจากไต้หวันที่ได้ไปเรียนที่อเมริกา และกลับมาพัฒนาจีนผ่านบริษัท Sinovation Ventures ที่เขาก่อตั้งขึ้น
ด้วยประสบการณ์การทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกา รวมถึงการบุกเบิกในจีน จึงทำให้ Kai-Fu Lee ได้เห็นทั้งความเจริญจากตะวันตก และการไล่พัฒนาเพื่อตามให้ทัน และแซงหน้าของตะวันออก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Kai-Fu Lee เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้ที่อยู่และเฝ้ามองการเติบโตของ AI และการที่มันส่งผลต่อพัฒนาการของจีนในหลายด้าน
หนังสือเล่มนี้เลยเหมาะมากสำหรับผู้ที่สนใจความเป็นมาเป็นไปของ AI รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งจีนและอเมริกา
แต่วันนี้ผมจะหยิบเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือมาเล่าเท่านั้น
นั้นคือ "คลื่น 4 ลูก ของการปฏิวัติ AI"
คลื่นลูกแรก "AI ในอินเทอร์เน็ต"
ถึงแม้ในบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ตระหนัก แต่ AI รวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอแนะนำเมื่อเปิดยูทูปขึ้นมา
หรือเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ ที่บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะรู้ว่าเราอยากได้อะไร ก่อนที่เราเองจะรู้เสียด้วยซ้ำ
ยุคเริ่มต้นของ AI คือการนำเอาข้อมูลมหาศาลที่เมื่อก่อนแทบจะไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ มาสอนเจ้าหุ่นยนต์ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรม ความชอบของเรา
สิ่งนี้คือเบื้องหลังความรู้สึกว่า "อินเทอร์เน็ตดีขึ้นเรื่อยๆ" นั่นก็เพราะเหล่า AI ได้เรียนรู้ความต้องการของเรา และเสนอในสิ่งที่สอดคล้องมากที่สุด
เรายิ่งใช้ ก็ยิ่งมีข้อมูลดิบเกิดขึ้น เป็นอาหารให้เหล่าสมองกลได้นำไปใช้พัฒนาต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราจะยิ่งเจอสิ่งที่เหมาะกับเราขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากระบบแนะนำที่เราคุ้นเคยดีกันแล้ว บริษัท ByteDance จากแผ่นดินมังกรยังใช้ AI ในการเขียนข่าวพาดหัวให้ดึงดูดคนอ่านมากที่สุด รวมถึงตรวจสอบข่าวปลอมและลบออกจะระบบ ด้วยความชาญฉลาดในการสร้าง AI สำหรับตรวจสอบข่าวปลอมให้มาสู้กับ AI ที่มีหน้าที่เขียนข่าวปลอม ทั้งคู่ก็จะได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างรวดเร็ว
คลื่นลูกที่สอง "AI ในธุรกิจ"
สิ่งนี้คือการย้อนกลับไปพัฒนาธุรกิจรูปแบบเดิมให้ก้าวกระโดดจากการใช้ทรัพยากรอันมีค่าที่รวบรวมมานาน "ข้อมูล" นั่นเอง
ไม่ว่าจะในทางการแพทย์ ข้อมูลผู้ป่วย อาการของโรค
หรือด้านธนาคาร ที่รวบรวมข้อมูลของทั้งคนที่ชำระหนี้ตามเวลาและคนที่เบี้ยวหนี้
หลายครั้งที่ข้อมูลบางอย่างดูเหมือนไม่มีความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ในสายตาของเรา
ทว่ากับสมองกลแล้ว ด้วยความสามารถในการคำนวนและหาจุดเชื่อมโยง
AI จึงได้คำตอบอย่าง คนที่กู้เงินวันพุธมักจ่ายหนี้คืนเร็วกว่าวันอื่นๆ
ใช่แล้ว ฟังดูไม่มีเหตุผลใช่ไหมละครับ
แต่เป็นไปได้ไหมว่าอาจเป็นเพราะสมองของมนุษย์เราไม่สามารถประมวลผลเพื่อหาความสัมพันธ์ซึ่งซับซ้อนในระดับนั้นได้เอง
แต่ด้วยความที่จีนมีข้อมูลมหาศาล ประกอบกับสิทธิในการใช้และพัฒนา AI
แอพอย่าง Smart Finance จึงใช้ AI ในการตรวจสอบข้อมูลบางอย่างในโทรศัพท์มือถือของคุณ แทนที่จะถามเงินเดือนตรงๆ ก็สามารถที่จะทำนายได้แล้วว่าคุณจะสามารถชำระเงินที่ต้องการจะกู้ได้หรือไม่
AI ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลที่บ่งชี้สถานะทางการเงินอย่างชัดเจนเท่านั้น
แต่มันจะตรวจสอบความเร็วในการกรอกข้อมูลวันเกิดของคุณ ปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ในโทรศัพท์ และข้อมูลอื่นอีกนับพันอย่าง
ซึ่งในสายตาของเราอาจไม่ได้มองว่ามีประโยชน์
แต่เจ้าสมองกลกลับสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงภายใต้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้
แล้วทำนายออกมาได้ ว่าคุณควรได้รับเงินกู้หรือไม่
คลื่นลูกที่สาม "AI แห่งการรับรู้"
ดั้งเดิมแล้วจักรกลรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านเลขฐาน 2
รูปภาพก็เป็นแค่จุดที่ถูกนำมาเรียงต่อกัน เพลงฮิตก็เป็นแค่ชุดข้อมูลตัวเลข
คอมพิวเตอร์ไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร
แต่ทว่า AI แห่งการรับรู้คือตัวพลิกเกม
ด้วยการติดอุปกรณ์รับค่า ที่เป็นหูเป็นตาเพิ่มเติมให้กับสมองกล
ประกอบกับระบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด
AI จึงเข้าใจและแยกแยะสิ่งต่างๆได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
คลื่น 2 ลูกแรกเกิดขึ้นบนโลกเสมือนที่จับต้องได้ยาก
ทว่าคลื่นลูกที่สาม คือการผสานมันเข้าในโลกแห่งความเป็นจริง
Kai-Fu Lee เรียกสิ่งนี้ว่า OMO ย่อมาจาก online-merge-offline
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิตอันสะดวกสบายของเรา
ลองนึกถึงตู้เย็นที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเครื่องดื่มโปรดของคุณหมดแล้ว
มันเลยส่งสัญญาณไปบอกรถเข็นในซุปเปอร์ซึ่งเคลื่อนที่นำคุณไปตามลิสของแนะนำ ขณะที่คุณเพียงแค่เดิมตามมันไปแล้วเลือกที่จะหยิบหรือไม่หยิบเท่านั้น
หรือนอกจากนั้น คุณอาจบอกมันให้ส่งนมจืด 2 ลังไปที่บ้านคุณ ก่อนที่จะหยิบช็อคโกแลตยี่ห้อโปรดเดินกลับไปที่รถโดยไม่ต้องควักเงินจ่าย
เพราะซุปเปอร์มาเก็ตใช้ระบบกล้องจับภาพ และตัดเงินออกจากบัญชีที่คุณผูกไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว
แม้อาจจะแค่ในพื้นที่เล็ก ซึ่งใช้ทดสอบในบริเวณจำกัด
AI แห่งการรับรู้ไม่ได้ต้องใช้เพียงแค่โค้ดกับข้อมูลมหาศาลเท่านั้น
แต่มันยังต้องการฮาร์ดแวร์ที่อยู่ในโลกความจริงอีกด้วย
ทำให้ฐานการผลิต โรงงาน และอุปกรณ์ราคาถูกในจีนมีความได้เปรียบ
คลื่นลูกที่สี่ "AI อัตโนมัติ"
เมื่อ AI ขยับเข้ามามีบทบาทในโลกแห่งความจริงมากขึ้น
วิวัฒนาการขั้นต่อไป คือ มันจะเรีบยรู้และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เข้าใจง่ายที่สุด
โกดังสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ใช้คนน้อยลง
โดยที่จากเดิมคนต้องเดินไปมา วุ่นวายกับการหา และหยิบสินค้าเพื่อแพ็คส่งตามคำสั่งซื้อ
ปัจจุบัน คนมีหน้าที่เพียงแค่ยืนนิ่งๆ ประจำจุด
คอยหยิบสินค้าออกจากชั้น ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดย AI
และนำสินค้านั้นไปใส่ที่อีกกล่องนึง เพื่อเตรียมส่งต่อ
หรือแทนที่เกษตรกรต้องคอยเก็บเกี่ยวผลสตรอเบอรี่
ซึ่งถือเป็นงานหนัก และบางครั้งก็เกิดการสูญเสียเพราะหาคนงานได้ไม่เพียงพอ
จนทำให้สตรอเบอรี่จำนวนมากเน่าเสีย
บริษัท Traptic ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บไปอย่างสิ้นเชิง
ด้วยหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวที่ติดอยู่ท้ายรถแทรกเตอร์
ที่สามารถตรวจสอบความสุกของสตรอเบอรี่
ได้ว่าลูกไหนพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว
มันก็จะใช้แขนกล คีบลูกสตรอเบอรี่ออกมาโดยไม่สร้างความเสียหายแก่ต้นและราก
ช่วยประหยัดแรงคนไปได้มากทีเดียว
ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่ Kai-Fu Lee ตั้งเอาไว้
บริษัทอเมริกันจะชอบลุยเดี่ยว สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และหวังว่ามันจะแก้ปัญหาให้กับคนทั้งโลกได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละที่
ในทางกลับกัน จีน กลับเลือกที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพของแต่ละท้องที่
เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นย่อมรู้ดีกว่า
สร้างเป็นชุมชนเกราะป้องกันบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกา
ตัวแปรที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนา AI คืออะไร?
ระหว่างเทคโนโลยี กับ นโยบายรัฐ
ถ้าคำตอบคือเทคโนโลยี สหรัฐยังนำจีนอยู่
แต่ทว่าหากองค์ความรู้เหล่านั้นได้รับการเผยแพร่ กระจายไปทั่ว
การลงมือทำโดยมีรัฐสนับสนุนย่อมสร้างความได้เปรียนที่มากกว่า
AI กำลังเปลี่ยนแปลงโลก และวิธีการทำสิ่งต่างๆของพวกเรา
คำถามสำคัญอีกข้อ คือ เราเองมีความสามารถในการปรับตัวได้เร็วเพียงพอไหม?
โฆษณา