6 ก.พ. 2021 เวลา 16:08 • เกม
ว่าด้วยการเป็น Game Producer ที่ดี
สวัสดีค่ะ ทุกคน ไมล์กลับมาอีกครั้งกับบทความสายพัฒนาเกมนะคะ วันนี้ไมล์จะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่อง การเป็น Game Producer ที่ดี เป็นอย่างไร โดยอ้างอิงจากบทความ What Makes a Good Game Producer? ของคุณ Ernst ten Bosch อดีต Game Producer ของ Blizzard Entertainment ผู้ดูแลเกม World of Warcraft
ตอนที่ 4 ของ series แล้วนะ
หลังจากบทความที่ผ่านๆมา คงพอมองภาพของ Producer ออกกันแล้วนะคะ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับตำแหน่ง Game Producer แบบเต็มๆ โดยไม่ใช่แค่ Game Producer ธรรมดา แต่เป็น Game Producer "ที่ดี"
ก่อนที่เราจะไปไกลถึงคำว่าที่ดี เรามาดูกันอีกทีดีกว่า ว่า Game Producer ทำอะไร สำหรับคุณ Ernst นั้นเค้าได้เปรียบเปรย Game Producer ด้วยคำ สองคำ
คำแรก Sheperd หรือ ที่เรารู้จักกันคือ ผู้ดูแลฝูงสัตว์ นั่นเอง
หรือ Corgi จะเป็น Game Producer?
ในงานดูแลสัตว์นั้น ตัวคุณค่าของงาน ไม่ได้อยู่ที่ตัวคนดูแล แต่ค่อนไปทาง ตัวฝูงมากกว่า เพราะคนที่ทำงานจริง คือ "เหล่าฝูงสัตว์"นั่นเอง โดยเหล่าฝูงสัตว์ควรที่จะได้รับการดูแล เลี้ยงดูที่เหมาะสม
นอกจากนั้น โดยปกติ ตัวคนดูแล ไม่ได้เป็น "เจ้าของ" ฝูงสัตว์ที่ดูแล เค้าจึงไม่ได้รับผิดชอบ รวมถึงไม่ได้สิทธิ์ตัดสินใจว่า ฝูงสัตว์เหล่านั้นจะถูกนำไปทำอะไร ไม่ว่านำไปทำเนื้อ หรือเอาหนังไปทำเครื่องประดับ
ซึ่งจากที่กล่าวมานี้ก็เหมือนกับ Game Producer เป็นคนที่ดูแลให้ทีมสามารถทำงานไปได้ด้วยดีนั่นเอง โดยไม่ได้เป็นเจ้าของทีม และไม่ได้มีสิทธิ์ตัดสินใจสุดท้าย (Final Call)
อีกหนึ่งคำที่ คุณ Ernst เปรียบคือ พ่อแม่ (Parent)
ในที่นี้ เค้าหมายถึง คำสาปของการเป็นพ่อแม่ (Curse) คือ ไม่ว่าเราจะวุ่นวาย เหนื่อย หรือ หงุดหงิดขนาดไหนก็ตาม เราก็ยังต้องอยู่เคียงข้าง คอยปกป้องและดูแลลูกๆของเราอยู่เสมอ
โดยในกรณีของ Game Producer กับทีมมันอาจจะมีบ้าง ที่ทีมอาจจะไม่ได้สนิทและ ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับเรา แต่เราก็ต้องแสร้งทำว่า เหมือนมี บางทีก็จะมีโมเม้นท์ ที่ทีมแอบคุยลับหลังบ้าง แต่ เราก็ต้องกลืนศักดิ์ศรีลงท้อง และดูแลพวกเค้าต่อเพื่อให้งานออกมาได้
คิดว่าจากคำเปรียบเปรยทั้งสองคำข้างบน ผู้อ่านคงเข้าใจบทบาทของ Game Producer มากขึ้นแล้ว แต่ Game Producer แต่ละคนก็มีวิธีและแนวทางของตัวเองที่ต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็น Producer แบบที่เฮฮาปาร์ตี้แบบ Shounen กับทีม หรือ Producer ที่ตึงเครียด Strict กับงานตลอดเวลา รวมไปถึง Producer ที่มีจุดเด่นในการเป็นตัวแทนออฟฟิศ เพื่อเพิ่มชื่อเสียงให้กับเกม
"เป็น Game Producer ไม่สนุกเลย" - Hideo Kojima ไม่ได้กล่าวไว้
แต่โดยทั่วๆไป Game Producer "ที่ดี" มักจะมีลักษณะคือ
Game Producer มักจะยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดี (Flexibilty and Adaptability) เพราะการผลิตเกมมีหลายขั้นตอน และ ในหลายครั้งมักจะมีการเปลี่ยนแปลง ทางเราจึงต้องเตรียมพร้อมกับสิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น และเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ก็สามารถปรับตัวได้ในทันที
อีกข้อหนึ่ง Game Producer ที่ดีคือ ควรรู้สถานะของสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา (Status awareness) ไม่ว่าจะเป็น Direction ของชิ้นงาน Priority ของงาน รวมถึงสถานะของงาน นอกจากนั้น Game producer ควรเป็นคนที่รู้ว่า งานไหน ควรเริ่มเมื่อไหร่ และจบเมื่อไหร่ เหลือเวลาอีกเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับงานที่มี ถ้าไม่ทัน Deadline จะต้องทำอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง วางแผนต่อไปอย่างไร นออกจากการที่ เรารู้สถานะที่เกิดขึ้นและ เราควรแจ้ง (Reporting) กับคนที่เหมาะสมด้วย ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
เช่น เมื่อมีแนวโน้มที่ Publisher จะขอ Feature ใหม่ เราสามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ ไป ปรึกษาพุดคุยกับทีม เพื่อ Planning และ Estimate คร่าวๆ และ report กับทาง Executive Producer ให้แจ้งเรื่องแผนของทางเรากับ Publisher อีกทีถึงความเป็นไปได้ของ ฝั่ง Development
อีกหนึ่งหน้าที่ Game Producer คือยังเป็น คนประสานงาน คนอำนวยความสะดวกให้ทีมอีกด้วย เมื่อหลายๆครั้งทีมเจอปัญหาขึ้นมา และไม่สามารถแก้ไขได้ ก็เป็นหน้าที่ของ Game Producer ที่ต้องไปหาคนแก้ไข เพื่อที่จะทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะต้องจัด Meeting, ส่งเมลล์หาใครซักคน หรือ เดินไปถามก็ตาม ในขั้นกว่า Game Producer ที่ดีจะอำนวยความสะดวกในเรื่องเล็กน้อยๆ ให้การทำงานดีขึ้นได้อีกด้วย อย่างการ check ระบบก่อน Conference call หรือ ดูว่า หมึกปากกา whiteboard หมดหรือไม่ ก่อนการประชุม
อีกหนึ่งหน้าที่ที่ฝั่ง Gamer จะเห็นบ่อยคือ การที่ Game Producer เป็นตัวแทนของทีมและตัวเกมที่รู้แทบทุกอย่างของเกม ไม่ว่าจะเป็นประวัติที่มาของเกม ฟีเจอร์ที่มีและไม่มีภายในเกม ขั้นตอนการพัฒนาเกมในปัจจุบัน และการดำเนินงานของทีม รวมถึงว่าแผนในอนาคต ซึ่งหลายๆครั้ง นั่นทำให้ เหมือนสายล่อฟ้าไปในตัวด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อมีเรื่องเข้ามา Game Producer ก็จะเป็นด่านหน้า ที่จะเรื่องเหล่านั้น ไปจัดการต่อ ให้เรียบร้อยในระดับหนึ่งก่อนส่งไปสู่ทีม
1
Katsuhiro Harada (Game Producer เกม Tekken) ผู้มาพร้อมแว่นตาและท่ากำหมัดประจำตัว เป็นตัวแทนออกงาน Comic con
แต่ในงานด้านเบื้องหลังนั้น Game Producer ยังเป็นทั้งตัวแทนและ Champion ของทีมอีกด้วย ทั้งในแง่วิธีการทำงานที่เป็นระเบียบและสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยัง Keep Cool ให้ทีมรู้สึก วางใจ แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม และจากข้อมูลที่รู้ Game Producer จะเจรจาต่อรองกับ Upper management หรือ Game Publisher หรือ คุยงานกับคนภายในทีมด้วยข้อมูลที่มีอยู่ให้ เห็นเกมไปในทิศทางเดียวกัน และรู้ว่าทำอะไรอยู่ เพื่อทำให้งานเรียบร้อย
หลังจากที่รู้ว่าลักษณะ Game Producer ที่ดีมีอะไรกันบ้าง ต่อไปเราจะมาพูดถึง Game Producer ที่ดีเค้าจะทำอะไรกันบ้างดีกว่า
Tasking การจัดการงาน
การจัดการ task ซึ่งหลายๆคนก็จะเน้นไปที่การ แจกงาน หรือ assign tasks ไปซะส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงๆ Tasking ประกอบไปด้วยหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเคลียร์รายละเอียดและ Scope ของ task ให้ชัดเจน เช่น ใครจะเกี่ยวข้องกับ task นี้บ้าง งานนี้จะใช้เวลาเท่าไหร่ คนเล่นจะได้เห็นอะไรหลังจากทำ task นี้เสร็จ โดยการเคลียร์ในที่นี้คือ เราต้องให้คนทั้งทีมเข้าใจตรงกัน และหมดข้อสงสัย เพื่อที่ตอนทำงานจะได้ไม่ต้องมากังวลในส่วนนี้
แน่นอนว่า การใส่รายละเอียดควรจะอ่านง่ายในระดับที่คนที่ไม่เคยทำเกมอ่านแล้วเข้าใจว่าทำอะไร และตัว task ควรจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า เคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับ task นี้บ้าง เช่น งานนี้มีการเริ่มทำเมื่อไหร่ ทำไมถึงปิดแล้วมีการ reopen เปิดให้ทำใหม่ เป็นต้น นอกจากนั้นควรมีการตรวจสอบสถานะของงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่ทำให้เราเห็นภาพของงานและตอบคำถามกับทุกคนได้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
ตัวอย่าง Jira หนึ่งใน โปรแกรม Task management ยอดนิยม
Scheduling การวางแผนงาน
การวางแผนงาน หรือ timeline ไม่ควรจะเป็นการคิดของ Producer แต่เพียงคนเดียว แต่ควรจะให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมวางแผนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Executive Producer ที่มีหน้าที่ติดต่อกับ Publisher หรือ ทีมในฐานะ ผู้พัฒนา ที่มีความรู้เชิง Technical ในแต่ละสาขา
ทางคุณ Ernst ได้แนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดในการที่จะ scheduling ก็คือ การให้ทุกคนศีกษา Game Design Document ให้เข้าใจในทุกจุดที่จะทำก่อน แล้วทำการ estimate ร่วมกัน โดยอาจจะให้ หัวหน้าแต่ละฝ่ายเป็นคนประเมิน (อาจจะ base จากประสบการณ์และฝีมือของคนที่จะส่งลงไปทำตรงนั้น) และนำมาเรียงต่อกันตาม flow pipeline นอกจากนั้นการ scheduling ร่วมกันยังทำให้แต่ละฝ่ายรู้ตัวว่า ตัวเองต้องเสร็จงาน เพื่อส่งงานต่อให้คนอื่นเมื่อไหร่ อีกด้วย
และที่สำคัญ อย่างที่ไมล์เคยเขียนไปใน บทความถอดบทเรียน เราไม่ได้ ทำ Timeline ให้ตัวเอง แต่ทำให้กับผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า หรือใครก็ตาม เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจอย่างจริงๆ ในตัว Schedule ที่เราจัดขึ้นมา เช่นถ้า ฟีเจอร์ A ไม่เสร็จจะเกิดไรขึ้นบ้าง และสิ่งที่ตามมาคืออะไร เพื่อที่สามารถจะตอบคำถามทุกคนได้
Meeting การประชุม
Game Producer ในหลายๆครั้งต้องจัดการประชุมขึ้นมาเมื่อมีปัญหา ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพราะบางครั้งถึง Producer จะรู้ทุกอย่างแบบที่กล่าวข้างต้น แต่ก็ไม่ได้เข้าใจในเชิงลึกของแต่ละอย่างได้เท่ากับทีม ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญต่างกันไป จึงต้องมีการจัดการประชุมขึ้น
ซึ่งการประชุมนั้น ควรจะมีเป้าหมาย (Agenda) ชัดเจนว่าจัดขึ้นเพื่ออะไร แก้ปัญหาไหน และควรมีผู้เกี่ยวข้องคนไหนเข้าร่วม และเมื่อประชุมเสร็จความมีการบันทึกผลการประชุม ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางที่ตัดสินใจเลือกทำ รวมถึงเหตุผลในการตัดสินใจ และ Action plan ที่ตัดสินใจจะทำต่อหลังจากประชุม
Confluence 1 ใน Product ยอดนิยมที่ในเครือ Atlassian นอกจาก Jira ที่ใช้บันทึกสิ่งต่างๆรวมถึง Meeting notes
Communication การสื่อสาร
อย่างที่เน้นย้ำกันหลายรอบ ว่าการสื่อสารสำคัญ และยิ่งถ้าในงาน Project Management ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งของ Game Producer ตัว Communication จัดเป็น 90% เลยทีเดียว
การสื่อสารที่ไม่ดีนั้น อาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีได้อย่างมากมายเลยทีเดียว เช่น Game Producer ไม่ได้สื่อสาร Scope ให้ชัดเจนกับทุกคน ทำให้แต่ละคนเข้าใจต่างกัน ทำให้แต่ละคนทำงานออกมาไม่ตรงกัน ซึ่งทำให้บางคน หรืออาจจะทุกคน ต้องแก้ไขงาน ให้ถูกต้อง ซึ่งทำให้เสียเวลา และ cost
สิ่งที่จำเป็นสำหรับ Game Producer สำหรับ Communication
1. Game Producer ต้องเข้าใจว่าทุกคนต่างกัน เพราะทุกคนพื้นฐานต่างกัน ก็ควรจะต้องปฏิบัติตัวให้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพื่อให้เราเข้าถึงเค้าได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
อย่างเช่น Artist หลายคนจะตึงเครียดและไม่พอใจ เวลาถูกวิจารณ์งานห้วนๆตรงๆ อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่อาจจะรุนแรง อาจจะให้ในลักษณะเชิงแนะนำ พร้อมให้ Art Director ช่วยสนับสนุนเราอีกที หรือ Programmer บางคนชอบให้ตรงประเด็นที่ต้องการแก้ไข เราก็สามารถแจ้งไปตรงๆเลยได้ เป็นต้น
2.Game Producer ต้องเข้าถึงได้ ในที่นี้การเข้าถึงคือ เมื่อคนต้องการตัวเมื่อมีคำถามเค้าจะรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน และสามารถมาหาได้อย่างถูกต้อง เพราะ Producer ก็เป็นเหมือนตัวกลางของทีมที่จะต้องคอยเป็นคนประสานงาน กับทีมต่างๆ และรู้ดีว่า key person ของแต่ละส่วนงานคือใคร
3. Game Producer ต้องโปร่งใส คือ การทำให้คนในทีมหรือคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงสิ่งที่เราทำอยู่ และเข้าใจว่าเราทำหน้าที่อะไร สามารถช่วยอะไรเค้าได้บ้าง ซึ่งจะทำให้ทีมและผู้เกี่ยวข้องกล้าที่จะสื่อสารกับเรามากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารที่ชัดเจนได้ง่ายขึ้น
4. Game Producer ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสารให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารโดยเขียน Task ให้ Scope ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องมาแก้งาน หรือ การสื่อสารในการทำ schedule ว่าทำอะไรก่อนหลัง รวมถึงเหตุผลการเรียงลำดับเพื่อให้ทีมและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกัน แน่นอน รวมถึงการสื่อสารในการประชุม เพื่อให้เข้าใจตรงกันถึงข้อสรุป และ action ที่จะทำถัดไป
จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า Game Producer ควรจะเป็นคนที่เป็นตัวแทนให้กับทีมและเกม ซึ่งมีและเข้าใจสถานะและข้อมูลทั้งหมด รวมถึงต้องคอยดูแลทีมให้ไปตามทิศทางที่กำหนด โดยใช้ทักษะต่างๆที่มี เพื่อผลักดันออกไป
จบไปแล้วนะคะ กับวันนี้ ฟังดูเหนื่อยไม่น้อยเลยกับการเป็น Game Producer แต่ยังไง Game Producer ก็เป็นตำแหน่งในฝันสำหรับหลายๆคนอยู่ดี ขอบคุณที่อ่านจนจบและคอยติดตามนะคะ รอบหน้า ไมล์จะมาเล่าเรื่องสิ่ง Game Producer อย่าหาทำนะคะ Stay tune!!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา